สสส.-มูลนิธิฟอร์เวิร์ดเปิดFORWARD
แอปสื่อกลางทำความดียุคดิจิทัล
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิฟอร์เวิร์ด (forward foundation) ร่วมเปิดตัว “แอปพลิเคชัน FORWARD” และ 5 โครงการนำร่อง เพื่อส่งต่อโอกาสในการให้อย่างสร้างสรรค์ ณ สยามพารากอน ได้แก่ 1.โครงการ Let’s be heroes 2. โครงการศูนย์สร้างโอกาสเด็ก 3. โครงการ forOldy 4. โครงการ The Prison Project และ5. โครงการ Wonder view โดยมี พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) ผอ.ศูนย์วิปัสสนาสากล ไร่เชิญตะวัน จ.เชียงราย ผู้จุดประกายบทบาทแห่งการให้ในมิติที่มีเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนแอปพลิเคชัน FORWARD ที่จะเติมเต็มการให้ในสังคมได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว ซึ่งในระยะเริ่มต้น มีผู้ที่สนใจเข้าร่วมในการสร้างโอกาสที่ดีถึง 5 โครงการ และเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงเช่น หมอเจี๊ยบ ลลนา ก้องธรนินทร์คุณบอม สุทธิศักดิ์ สินเจริญ เป็นต้น
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า สสส.สนับสนุนโครงการ “ฟอร์เวิร์ด : ขับเคลื่อนศูนย์กลางสนับสนุนการให้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง” โดยร่วมสร้างสังคมแห่ง “การให้” เอื้ออาทรซึ่งกันและกันนำไปสู่การสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาพ โดย สสส.ให้ความสำคัญกับสุขภาวะในทุกมิติ ครอบคลุมมิติกาย จิต ปัญญาและสังคม
ในมิติ “ปัญญา” คือ การสนับสนุนการพัฒนาจิตสู่ “จิตใหญ่” เชื่อมโยงตนและเห็นแก่ส่วนร่วม เช่น กิจกรรมด้านจิตอาสา หรือ การให้โดยใช้นวัตกรรมช่องทางการสื่อสารอย่างแอปพลิเคชัน เป็นอีกช่องทางหนึ่ง ในการช่วยเหลือผู้ขาดโอกาสในสังคมให้มีโอกาสทางสุขภาวะที่ดีขึ้น
สำหรับแอปพลิเคชัน FORWARD จะเป็นศูนย์กลางแห่งการส่งต่อการให้ที่เป็นรูปธรรม สามารถตรวจสอบได้ชัดเจนว่าสิ่งที่ให้ได้ถึงผู้รับจริง และในอนาคตจะไม่มีเพียง 5 โครงการนี้เท่านั้น แต่ทุกคนสามารถเข้าไปสร้างโครงการดีๆ ได้ในแอปพลิเคชัน เพื่อเกิดจิตอาสาแห่งการให้อย่างไม่รู้จบ
“สสส.ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน ทำสิ่งเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ ช่วยสร้างความเข้าใจปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างลึกซึ้งขึ้นก่อนการตัดสินใจให้ อย่างโครงการ Wonder view มากกว่าแว่นตา คืออนาคตที่สดใส ที่สสส.ได้มีส่วนร่วม ภายใต้แนวคิด “นับเราด้วยคน” สะท้อนปัญหาพัฒนาการเด็กในพื้นที่ชายแดนที่ช้ากว่าเด็กทั่วไป เนื่องมาจากความผิดปกติในการมองเห็น จึงจัดกิจกรรมมอบแว่นตาให้แก่นักเรียนกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีปัญหาด้านสายตา ช่วยให้เด็กนักเรียนในพื้นที่ชายแดนที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและโอกาสการเข้าถึงทรัพยากร” นางภรณีกล่าว
ด้านนายอิศรา เล็บนาค กรรมการมูลนิธิฟอร์เวิร์ด กล่าวว่า การทำความดีในยุคที่มีเทคโนโลยีอยู่ในมือ ช่วยให้การส่งต่อให้กันเกิดความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ทำให้การส่งต่อนั้นไปถึงได้อย่างทันท่วงที โดยผ่านการตรวจสอบและคัดเพื่อทำให้ “การให้” ที่ถูกส่งต่อไปนั้น ผู้ให้และผู้ได้รับได้ประโยชน์อย่างแท้จริง และเมื่อจุดเริ่มต้นคือ การมีเจตนาที่ต้องการช่วยเหลือและพร้อมที่จะลงมือทำในทันที สิ่งนี้จึงเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เราได้สร้างแอปพลิเคชัน FORWARD ภายใต้เจตนาของผู้ให้ที่ต้องการให้อย่างไม่ลังเล
โดย FORWARD จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางระหว่างผู้ให้และผู้รับได้ร่วมสร้างสรรค์โอกาสที่ดีไปด้วยกัน ซึ่งทำได้โดยการสร้างโครงการที่เราเล็งเห็นแล้วว่า ต้องการความช่วยเหลือ ลงในแอปพลิเคชัน FORWARD พร้อมเขียนรายละเอียดในสิ่งที่ต้องการ อาทิเช่น การช่วยระดมเงิน หรือ การประกาศรับจิตอาสา และสามารถทำได้อีกหลายกรณีที่เป็นการส่งต่อการให้ไปด้วยกัน
ภายใต้ระบบการทำงานของแอปพลิเคชันที่มีความปลอดภัย สามารถตรวจสอบแต่ละโครงการได้อย่างชัดเจน อีกทั้งยังทราบได้ว่า สิ่งที่เราได้ส่งต่อออกไปนั้นได้ไปถึงปลายทางของผู้รับแล้วหรือไม่ ตรวจสอบได้อย่างโปร่งใสในทุกขั้นตอน
ทั้งนี้ ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Forward Foundation ลงในสมาร์ทโฟน ได้ทาง ios และ android หรือติดตามรายละเอียดได้ใน www.facebook.com/forwardfoundationth