STC ส่งเครื่องบำบัดน้ำเสียโอโซน
คว้าเหรียญเงินจากสวิสเซอร์แลนด์
ปัญหาน้ำเสียที่ไม่ได้รับการบำบัดก่อนออกจากโรงงานอุตสาหกรรมเป็นปัญหาใหญ่สำหรับประเทศไทย เนื่องจากมาตรการการควบคุมการปล่อยน้ำเสียของไทยไม่ได้มีบทลงโทษที่รุนแรง ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมไทยหลายแห่งไม่เห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าว
จากปัญหาน้ำเสียที่พบเห็นกันอย่างต่อเนื่อง วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) สถาบันการศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีได้พัฒนานวัตกรรมที่เข้ามาช่วยบำบัดน้ำเสียก่อนจะส่งออกสู่ภายนอก เพื่อลดปัญหาน้ำเสียอันส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม และประชาชนในบริเวณใกล้กับอุตสาหกรรม
ล่าสุดได้ผลิต “เครื่องบำบัดน้ำเสียด้วยโอโซน ระบบพลาสมาความดันสูง” ที่มีชื่อว่า “Wastewaters Treatment Machine by high pressures Plasma System of Ozone Technology” และสามารถไปคว้ารางวัลเหรียญเงิน จากการประกวดนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์สู่เวทีนานาชาติ ในงาน 46th International Exhibition of Inventions Geneva ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เมื่อวันที่ 11 – 15 เมษายนที่ผ่านมา โดยการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)นำผลงานนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยเข้าประกวด
ดร.มงคล จงสุพรรณพงศ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อม คณะเทคโนโลยี วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) กล่าวว่า เครื่องบำบัดน้ำเสียด้วยโอโซน ระบบพลาสมาความดันสูงนี้ได้รับการสนับสนุนโดยอาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช อธิการบดีวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม และดร.ฐกฤต ปานขลิบ คณบดีคณะเทคโนโลยี
“ปัญหาเรื่องน้ำเสียเป็นปัญหาสำคัญของประเทศที่เพิ่มปริมาณมากขึ้น เนื่องจากการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรม การออกแบบระบบบำบัดน้ำเสียจึงได้มีการพัฒนาในรูปแบบที่หลากหลาย แต่ส่วนมากแล้วต้องใช้พื้นที่มากและใช้เวลาในการบำบัดนาน ทำให้อุตสาหกรรมต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายจำนวนมาก เครื่องบำบัดน้ำเสียด้วยโอโซนที่ผมออกแบบมานี้ มีขนาดเล็ก ใช้พื้นที่น้อย และเคลื่อนย้ายได้สะดวกขึ้น สามารถบำบัดน้ำเสียได้อย่างรวดเร็ว เพราะมีโอโซนเป็นตัวออกซิเดนซึ่งทำปฏิกิริยาได้อย่างรวดเร็ว ลดค่ามีโอดี ซีโอดี ซึ่งจะช่วยเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำได้อย่างรวดเร็ว เครื่องนี้ยังสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ทุกชนิด และสามารถบำบัดกลิ่น สี ของน้ำเสียได้ดี”
สำหรับความแตกต่างของเครื่องบำบัดน้ำเสียด้วยโอโซนฯ กับเครื่องบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่นั้น เครื่องบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่สามารถบำบัดน้ำได้ในปริมาณวันละ 20 คิว ส่วนเครื่องบำบัดน้ำเสียด้วยโอโซนฯ สามารถบำบัดน้ำเสียได้วันละ 500 ลิตร ทั้งนี้ เครื่องบำบัดน้ำเสียด้วยโอโซนฯ พร้อมจำหน่ายอย่างเป็นทางการแล้ว โดยราคาจำหน่ายขึ้นอยู่กับขนาดของเครื่อง ส่วนกลุ่มลูกค้า คือ กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม โรงพยาบาล และชุมชน
สำหรับรางวัลที่ได้จากการประกวดนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์สู่เวทีนานาชาติ ในงาน 46th International Exhibition of Inventions Geneva ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เมื่อวันที่ 11 – 15 เมษายนที่ผ่านมา คือ รางวัลเหรียญเงิน
“ปัจจัยที่ทำให้เราได้รับรางวัลดังกล่าว เพราะเป็นนวัตกรรมที่ใช้งานได้จริง มีประสิทธิภาพสูง และตอบสนองกับความต้องการของตลาด อีกทั้งช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย” ดร.มงคล จงสุพรรณพงศ์ กล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้ได้รับรางวัลเหรียญเงินจากการประกวดนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์สู่เวทีนานาชาติ