มิวเซียมสยามเปิดตัวนิทรรศการ
ชาย-หญิง-สิ่งสมมุติ เพศมีหลากหลาย
มิวเซียมสยาม เปิดตัวนิทรรศการ “ชาย หญิง สิ่งสมมุติ : Gender Illumination” นิทรรศการเพื่อความเข้าใจความหลากหลายทางเพศ ประกอบไปด้วยเนื้อหาหลากประเด็น อาทิ ค่านิยมทางสังคม ความรัก กำลังใจ ประวัติศาสตร์การต่อสู้ ฯลฯ เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้ และเปิดกว้างในทัศนคติด้านเพศกับตนเอง บุคคลรอบข้าง ตลอดจนคนในครอบครัว ผ่านโซนจัดแสดงที่ครอบคลุมพื้นที่ 715 ตารางเมตร อาทิ โซน “ฉากชีวิต” ที่รวบรวมวัตถุจัดแสดงกว่า 100 ชิ้น โซนปลดล็อกมายาคติทางเพศ โซนห้องน้ำไร้เพศกับความเท่าเทียม โซนประวัติศาสตร์ความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย โซนหลังเวทีสัมผัสประสบการณ์การแปลงโฉมเป็นเพศอื่นๆ ฯลฯ
นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) กล่าวว่า มิวเซียมสยาม ได้จัดทำนิทรรศการ “ชาย หญิง สิ่งสมมุติ : Gender Illumination” เป็นนิทรรศการอันเกิดจากความร่วมมือกับหน่วยงานที่รณรงค์เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ ทั้งในและต่างประเทศ โดยวัตถุประสงค์ของการสร้างนิทรรศการ เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้ เข้าใจ และมีทัศนะที่เปิดกว้างต่อความหลากหลายทางเพศ ทั้งกับตนเอง บุคคลรอบข้าง ตลอดจนเข้าใจบุคคลในครอบครัว เพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยจากรายงานสถิติการยอมรับและเข้าถึงจากสังคมต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ของสถาบันวิลเลียมส์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส พบว่า แม้ว่าสังคมจะตระหนักรู้ถึงการมีตัวตนของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ในหลายประเทศกลับมีแนวโน้มการยอมรับกลุ่มเพศดังกล่าวลดน้อยลง หรือแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากอดีต ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย
ด้าน นางสาวชนน์ชนก พลสิงห์ ภัณฑารักษ์ผู้จัดนิทรรศการ กล่าวว่า การจัดทำนิทรรศการ “ชาย หญิง สิ่งสมมุติ : Gender Illumination” ทีมพัฒนาใช้เวลากว่า 1 ปี 7 เดือน ในการรวบรวมข้อมูลทั้งด้านเนื้อหา ทัศนคติ สัมภาษณ์ ตลอดจนรวบรวมวัตถุจัดแสดงจากทั่วประเทศ เพื่อให้นิทรรศการสามารถสะท้อนเรื่องราว มุมมอง ทัศนคติที่หลากหลายในสังคม โดยนิทรรศการประกอบด้วยโซนที่น่าสนใจ ดังนี้
- เขาวงกตแห่งเพศ : โซนกระตุกต่อมคิดมายาคติทางเพศ ในรูปแบบของทางวงกต ที่มีคำต่างๆ ซึ่งถูกใช้ในสังคมไทยเพื่อกรอบความคิดเรื่องเพศ ว่าคำใดสะท้อนความเป็นเพศชาย หรือเพศหญิง อาทิ เพศแม่ รักนวลสงวนตัว กุลเกย์ ชายชาตรี เป็นต้น
- มนุษย์ขนมปังขิง : ทำความเข้าใจความซับซ้อนของ “เพศ” ผ่านโมเดลมนุษย์ขนมปังขิง ที่นำเสนอความลื่นไหลระหว่าง สำนึกทางเพศ การแสดงออก เพศกำเนิด และความรู้สึกทางเพศ ว่าสามารถเปลี่ยนแปลง และไม่ต้องเป็นไปตามแบบแผนของสังคม พร้อมการนำเสนอผ่านเทคโนโลยีบอดี้ สแกนเนอร์ สะท้อนเรื่องของเพศสภาพ ที่เป็นเพียงปัจจัยภายนอก
- ห้องน้ำไร้เพศ : นำเสนอการแบ่งกล่องแห่งเพศซึ่งจำกัดแค่ความเป็นชายและหญิงในที่สาธารณะจากการใช้ห้องน้ำ พร้อมกระตุ้นความคิด จะดีกว่าหรือไม่ หากมีห้องน้ำไร้เพศ ในที่สาธารณะ
- บันทึก-เพศ-สยาม : นำเสนอประวัติศาสตร์การเริ่มขึ้นของความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยอยุธยาถึงปัจจุบัน ผ่านแผนผังไทม์ไลน์เหตุการณ์ที่สำคัญ พร้อมเรียนรู้เรื่องราวของสื่อต่างๆ อาทิ สื่อสิ่งพิมพ์ โปรแกรมแชท โซเชียลมีเดีย เป็นต้น
- ฉากชีวิต : จัดแสดงที่รวบรวมวัตถุจัดแสดงกว่า 100 ชิ้น ซึ่งมีเรื่องราวเบื้องหลังของการค้นพบตัวตน ภาพถ่าย ของสะสม สิ่งของที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ตลอดจนสิ่งของที่เป็นแรงบันดาลใจ และสะท้อนการใช้ชีวิตการดำเนินชีวิตของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ อาทิ ใบปริญญาที่นำไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ จดหมายจากบุพการีต่อลูกอันเป็นที่รัก พวงหรีดจากภรรยาที่ครอบครัวไม่เคยรู้มาก่อน ตลับแป้งที่ปิดตาย เป็นต้น นอกจากนี้ ยังนำเสนอภาพยนตร์สั้นเพื่อความเข้าใจผู้มีความหลากหลายทางเพศ ภาพศิลปะจากเยาวชนที่มีต่อประเด็นความหลากหลายทางเพศ ตลอดจนความเคลื่อนไหวทางสังคมที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
- ตบแต่งตัวตน : สัมผัสประสบการณ์หลังม่านละครชีวิตของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ในรูปแบบของหลังเวทีโรงละคร ที่ให้ทุกคนสามารถทดลองแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าไร้เพศ วิก เมคอัพ ฯลฯ อิสระตามที่ใจต้องการ
- คาเฟ่โรงละคร : โซนรวบรวมความคิดเห็นเพื่อสำรวจการขับเคลื่อนด้านสิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในสังคมไทยปัจจุบัน ผ่านการโหวต Yes/No ในประเด็นต่างๆ อาทิ ห้องน้ำไร้เพศควรมีในประเทศหรือไม่ คำนำหน้าชื่อควรเอกด้วยตัวเองหรือไม่ เป็นต้น พร้อมกำแพงที่ให้คุณได้ทลายกำแพงเพศสภาพผ่านงานศิลปะตุ๊กตากระดาษ
นอกจากนี้ มิวเซียมสยามร่วมกับ B Visible Asia สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่ายความหลากหลายทางเพศ ได้จัดงานวันไอดาฮอท (IDAHOT: International Day Against Homophobia, Biphobia and Transphobia) หรือวันสากลยุติความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน ภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ ในประเด็นความหลากหลายทางเพศที่น่าสนใจ อาทิ เสวนาข้อค้นพบงานวิจัยกับการเคลื่อนไหวทางสังคม เสวนาในประเด็นการจ้างงานกลุ่มผู้มีความหลากหลายเพศ เสวนาประเด็นสื่อกับความหลากหลายทางเพศ กิจกรรมเวิร์กช็อปเรียนรู้เข้าใจในกลุ่มผู้มีความหลากหลาย ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน ตลอดจนการแสดงดนตรีโดยกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ
นิทรรศการ “ชายหญิงสิ่งสมมุติ : Gender Illumination” เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันนี้ ถึง 30 กันยายน 2561 วันอังคาร – วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์) เวลา 10.00 – 18.00 น. ณ มิวเซียมสยาม ท่าเตียน กรุงเทพฯ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-225-2777 หรือ www.museumsiam.org