ตะลุยทริป “หลงรักษ์ประจวบ”
..จากภูผา..สู่..สมุทร สุดฟิน!!
“ประจวบคีรีขันธ์” จังหวัดที่เป็นประตูสู่ภาคใต้ นับว่า เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาเที่ยวกันได้ตลอดทั้งปี ด้วยมีแหล่งท่องเที่ยวให้เลือกหลากหลาย ทั้งป่าเขา ถ้ำ ชายหาด เกาะ แหล่งทองคำคุณภาพดี ผลไม้อร่อย ๆ ก็มีอยู่มากไม่แพ้ที่อื่น สมกับคำขวัญที่ว่า “เมืองทองเนื้อเก้า มะพร้าว สับปะรด สวยสดหาดเขาถ้ำ งามล้ำน้ำใจ”
เมื่อเร็ว ๆนี้ สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดย คุณอุดมสุข นิ่มเซียน นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ-เอกชนกระตุ้นการท่องเที่ยวของจังหวัดประจวบฯ โดยสนับสนุนการท่องเที่ยววิถีชุมชนและการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ผ่านการเชื่อมโยงวิถีความเป็นอยู่ของชาวบ้านและชุมชุนเข้ากับแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่โดดเด่นของ 8 อำเภอ พร้อมจัดทริป “หลงรักษ์ประจวบ” ตอน ..จากภูผาสู่สมุทร พาคณะสื่อมวลชน ไปสัมผัสธรรมชาติ เกาะ แก่ง แหล่งดำน้ำดูปะการัง ชมวิถีชาวบ้าน ที่สร้างความสนุกสนาน ประทับใจ ชวนให้หมายมั่นว่า คงต้องกลับไปเยือนกันอีกครั้ง เมื่อมีโอกาส
การเดินทางมาประจวบฯใช้เวลาไม่นานนัก โดยรถตู้เดินทางประมาณ 4 ชั่วโมงจากกรุงเทพมหานคร ซึ่งเมื่อมาถึงทางคณะสื่อมวลชนได้เข้าพักที่ “วาฏิกา แอดเวนเจอร์ รีทรีทติค รีสอร์ท” ที่ท่านนายกฯอุดมสุข เป็นประธานบริหาร ตั้งอยู่เลขที่ 69 หมู่5 ต.บ่อนอก อ.กุยบุรี จ.ประจวบฯ
หลังรับประทานมื้อเที่ยง ได้พักกันหายเหนื่อยแล้ว ท่านนายกฯอุดมสุข ไม่รอช้า รีบพาคณะสื่อไปสัมผัสวิถีชาวบ้านอย่างใกล้ชิดกันทันที นั่นคือ ชมการใช้ลิงกังเก็บมะพร้าว ซึ่งลิงกังที่ผ่านการฝึกฝนมาอย่างดี ได้โชว์การเก็บมะพร้าวที่แก่ได้ที่แล้ว ลงมาให้ชมได้อย่างน่าทึ่ง นอกจากนี้เจ้าลิงกังยังสามารถกระโดดข้ามไปยังต้นมะพร้าวอีกต้นได้โดยไม่ต้องเสียเวลาลงเพื่อไปขึ้นต้นใหม่ การใช้ลิงกังเก็บมะพร้าวในเขตจังหวัดประจวบฯทำกันมานาน สร้างรายได้แก่ผู้เป็นเจ้าของให้สามารถเลี้ยงชีพได้อย่างสบาย ๆ
หลังจากชมความสามารถของเจ้าลิงกังแล้ว ทางคณะฯได้เดินทางต่อไปยัง “บ้านหัวตาลแถว” เพื่อชมการทำบ้านปลา สาหร่ายเทียม ชมการสาธิตทำน้ำปลากู้โลกและสายหร่ายพวงองุ่น โดยการทำบ้านปลานั้น เป็นตัวอย่างการอนุรักษ์ที่สำคัญ นำสู่การมีอาหารทะเลที่ปลอดภัยไว้บริโภคในท้องถิ่น ปูทางสู่การประมงที่ยั่งยืนและความมั่นคงทางอาหาร
คุณโอ๊ต- อิฐธิรัตน์ จันทร สมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรสามร้อยยอด เล่าว่า เดิมการทำประมงในพื้นที่เกิดการแย่งชิงทรัพยากรกัน ทำมาหาเลี้ยงชีพยากขึ้น มีความขัดแย้งของกลุ่มประมงชายฝั่งและการอนุรักษ์ชายฝั่ง ที่มีการรณรงค์อย่างต่อเนื่องเรื่องการทำประมงปลาเล็กเช่นปลากะตัก ปลาไส้ตัน และเกิดปัญหากระทบกระทั่งกันบ่อยครั้ง ระหว่างเรือพานิชย์และเรือเล็กชายฝั่ง
จากเหตุดังกล่าวจึงได้เกิดการรวมกลุ่มกันขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ ซึ่งต่อมาทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งหาทางออกให้โดยให้รวมกลุ่มกัน เป็นกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรสามร้อยยอดและได้ทุนจากกองทุน GEFT เพื่อทำ 5โครงการ รวมถึงบ้านปลา ห้องอบพลังงานแสงอาทิตย์ การเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น การปลูกหญ้าทะเล และไปดูงานในหลายพื้นที่เพื่อนำความรู้มาถ่ายทอดแก่ท้องถิ่น
ต่อมามีการตั้งกลุ่มกระตอยรักษ์สามร้อยยอด โดยร่วมมือกับโรงเรียนจัดค่ายให้ความรู้แก่เด็ก ๆ แต่ยังคงประสบปัญหากับทางรีสอร์ท ที่อ้างว่า การทำบ้านปลา บดบังวิสัยทัศน์และขวางทางเรือ แต่เนื่องจากเด็ก ๆ ที่เคยมาออกค่ายอบรมความรู้ ไม่ใช่อื่นไกล แต่เป็นลูกหลานของผู้ประกอบการรีสอร์ทด้วย จึงเป็นเสมือนตัวประสาน ทำให้ปัญหาดังกล่าวคลี่คลายลงได้ในทางที่ดีและกลายเป็นว่า เหล่าผู้ประกอบการรีสอร์ทได้มาช่วยสนับสนุนโครงการอนุรักษ์ในที่สุด
ต่อมาได้ต่อยอดงานดังกล่าว มาเป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และท่องเที่ยวชุมชน มีตลาดชุมชน ช่วยรองรับผลผลิตของชาวบ้าน เกษตรกรในพื้นที่ ทำให้เกิดรายได้จากการท่องเที่ยว มีการรวมกลุ่มเป็นชมรมท่องเที่ยวและกลุ่มวิสาหกิจของชุมชน แบ่งปันรายได้เข้ากลุ่มเพื่อใช้ทำกิจกรรมในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีการประชาสัมพันธ์ผ่านโลกโซเชียลจนเริ่มเป็นที่รู้จัก โดยเคยมีกลุ่มนักท่องเที่ยวจากจังหวัดไกล ๆ แดนเหนือ มาเยือนถึงถิ่นสามร้อยเพื่อศึกษาดูงานแล้วก็มี
คุณโอ๊ต เล่าต่อว่า นอกจากจะมีรายได้จากท่องเที่ยวแล้วเข้ากลุ่มเพื่อนำใช้กิจกรรมในหมู่บ้านแล้ว สมาชิกในกลุ่มอนุรักษ์และชาวบ้านในท้องถิ่น ยังได้ประโยชน์จับกุ้งหอยปูปลาในพื้นที่ได้จำนวนเพิ่มขึ้น เพื่อไปขายและบริโภค โดยที่เป็นอาหารทะเลซึ่งปลอดภัยจากสารพิษต่าง ๆ สมาชิกสามารถพึ่งพาตัวเองได้ และมีความหวงแหนทะเลธรรมชาติในพื้นที่ของตัวเอง อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ ปรองดองของชาวบ้านในพื้นที่ ช่วยกันดูแลท้องทะเลให้ปลอดมลพิษและการทำลายทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ
หลังบอกเล่าความเป็นมาของการรวมกลุ่มทำงานด้านอนุรักษ์แล้ว คุณโอ๊ตได้นำคณะสื่อมวลชนได้นั่งเรือไปชมผลผลิตทางทะเล ที่สมบูรณ์ ก่อนเข้าฝั่งมาชมการสาธิตทำน้ำปลา ที่มีชื่ออลังการว่า “น้ำปลากู้โลก”
ซึ่งการทำน้ำปลาสูตรชาวเล มีวิธีการง่ายๆ โดยเตรียมปลา เกลือ และสัปปะรด และ น้ำ เริ่มจากการใส่เกลือลงก้นไหก่อน จากนั้นใส่ปลาเรียงในไห 1 ชั้น แล้วเอาสัปปะรดที่ฝานเป็นชิ้นๆ ลงไป ตามด้วยเกลือ ทำสลับไปจนเต็มไหที่เตรียมมา จากนั้นนำน้ำสะอาดเทใส่พอประมาณ แล้วปิดฝาให้แน่นสนิท ทิ้งไว้ 8 เดือน ขึ้นไป จากนั้นกรองเอาน้ำไปต้มให้สุก จึงนำมารับประทานได้ ซึ่งจะได้น้ำปลามีกลิ่นหอมและอร่อย
“เราสามารถใช้ปลาในท้องถิ่นทำได้ทุกชนิด และเลือกใช้สับปะรด ที่เป็นผลไม้ในท้องถิ่นด้วย โดยผลไม้ให้ความหวานและจุลินทรีย์ อีกทั้งยังให้ความหวานแทนน้ำตาลได้อีกด้วย”
เสร็จจากกิจกรรมทำน้ำปลาแล้ว ก็กลับเข้าที่พัก เพื่อรับประทานอาหารมื้อเย็นและพักผ่อนเพื่อลุยต่อในวันรุ่งขึ้นต่อไป ซึ่งมีเป้าหมายไปเที่ยวเกาะ ดำน้ำดูปะการัง ที่เกาะหลาม เกาะจาน และเกาะท้ายทรีย์
ตื่นตอนเช้า หลังเสร็จภารกิจรับประทานอาหารเช้าเรียบร้อยแล้ว คณะสื่อมวลชนไปตะลุยกันต่อ ไปขึ้นเรือของสามอ่าวปริ้นเซสทัวร์ บริเวณชายหาด อ. เมือง จ.ประจวบฯ แม้ตลอดเส้นทางจะต้องสู้กับไอแดดร้อนขนาดไหน แต่ทริปเดินทางไปเกาะครั้งนี้ก็เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ เฮฮา สนุกสนาน
ทุกคนมีความสุขกับการได้ชมทิวทัศน์สวยงาม ได้สูดอากาศบริสุทธิ์ ได้ปลดปล่อย คลายเครียด สนุกสนานกันอย่างเต็มที่ ด้วยการกระโดดน้ำลงดูปะการังที่เกาะหลาม ด้านหน้าถ้ำของเกาะเหลือม
หลังจากนั้นเดินทางไปต่อยังเกาะจานและเกาะท้ายทรีย์
เมื่อว่ายน้ำกันสนุกสนานได้ที่แล้ว เจ้าหน้าที่บนเรือได้เตรียมอาหารและเครื่องดื่มไว้พร้อมรองรับเสร็จสรรพ ต้องบอกว่า เป็น “อาหารมื้อกลางวันอร่อยที่สุด” จริง ๆ เพราะใช้พลังงานกันไปมาก นั่นเอง จึงเจริญอาหารกันเป็นพิเศษ
หลังอาหารมื้อเที่ยงแล้ว คณะได้เดินทางกลับเข้าฝั่งกัน แวะสักการะศาลหลักเมือง จ.ประจวบฯ ก่อนไปเพิ่มพลัง ผ่อนคลายความเหนื่อยล้าจากการดำน้ำ เย้ยแสงแดด ด้วยการไปทำ “สปาทราย” กันต่อที่ “วาฏิกา รีโซวิลล่า กุยบุรี”
ท่านนายกฯอุดมสุขเปิดเผยว่า กุยบุรี ถือว่า เป็นต้นตำรับเลยทีเดียว ก่อนจะขยายไปยังชายหาดอื่น ๆของจังหวัด
“สปาทราย จะเน้นให้ร่างกายสัมผัสกับเม็ดทรายให้ได้มากที่สุด เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนกันระหว่างของเสียร่างกายที่ขับออกมาผ่านเหงื่อกับแร่ธาตุในทรายจากทะเล จึงมักใส่ให้น้อยชิ้นที่สุด โดยหลังกลบทรายมิดลำตัวแล้วจะรดน้ำให้ทั่วและปล่อยไว้ราว 20 นาที ให้ร่างกายผ่อนคลาย เมื่อเสร็จแล้วจะให้ดื่มน้ำมะพร้าวอ่อนที่เตรียมเสริฟไว้ เพื่อเรียกพลังกลับคืนมา สปาทรายนี้เป็นสิ่งที่เราทำเพื่อบริการลูกค้า ราคาไม่แพง”
หลังจากนั้น ปิดท้ายด้วยกิจกรรมสุดท้ายในวันที่ 2 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของทริปท่องเที่ยวครั้งนี้ด้วยการปล่อย “แม่ปูไข่นอกกระดอง” ในโครงการ “วาฏิกา 9,999 ล้านดวงใจไข่ปูม้า” กลับคืนสู่ท้องทะเล
ทั้งนี้ก็เพื่อให้ได้ออกลูกออกหลานแพร่พันธุ์เจริญเติบโต กลายเป็นอาหารของมนุษย์เราต่อไปนั่นเอง
ใครที่ยังไม่ได้มาเยือนแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่สวยงามของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และแพ็คเกจท่องเที่ยว อัดแน่นด้วยความสนุกอย่างนี้ หากมีโอกาสมาเยือน …ไม่ควรพลาด .. แล้วคุณจะได้รู้ว่า ..อาการ “ฟิน..สุด ๆ” นั้น หาได้ไม่ยาก แถวๆ ประจวบฯ ไม่ไกลจากบ้านคุณ …
ขอขอบคุณผู้สนับสนุนทริปดี ๆ สนุก ๆ จากคุณอุดมสุข นิ่มเซียน
นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ,
วาฏิกา แอดเวนเจอร์ รีทรีทติค รีสอร์ท ,
วาฏิกา รีโซวิลล่า,
สามอ่าวปริ้นเซสทัวร์
ท่องเที่ยวประจวบฯ