“WHO” MOUสสส.ร่วมหนุนสุขภาพ
ระยะ3ปีเวทีสมัชชาอนามัยโลก71
ในเวทีสมัชชาอนามัยโลก ครั้งที่ 71 นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ดร. เท็ดรอส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Dr.Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก(WHO) พร้อมด้วย ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองประธานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ คนที่ 1 ร่วมลงนามขยายระยะเวลาความร่วมมือว่าด้วยการสร้างเสริมสุขภาพ ปี 2561-2563 ระหว่างองค์การอนามัยโลก และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ประเทศไทย 23พ.ค. ผอ.WHO ปลื้มร่วมมือ สสส. ประเทศไทยะเห็นประโยชน์สร้างเครือข่ายสุขภาพทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และระดับโลก ชี้สร้างความร่วมมือผ่านWHO ทำให้ไทยสามารถสนับสนุนถ่ายทอดความรู้สู่การปฏิบัติแก่นานาประเทศในโลก เช่น ประเด็นกิจกรรมทางกายที่ไทยมีการดำเนินการอย่างเข้มแข็ง และหนุนเป็นวาระสำคัญในระดับนานาชาติ จนเกิดแผนปฏิบัติการโลกว่าด้วยการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ปี 2561-2573 ได้สำเร็จ เผยร่วมมือล่าสุดตั้งเป้า 6 ประเด็น รวมลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ส่งเสริมสุขภาพใน 6 ประเทศอาเซียน คือ กัมพูชา ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ เวียดนาม ไทย
ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรองประธานกองทุน สสส. คนที่ 1 กล่าวว่า ข้อตกลงความร่วมมือนี้เป็นอีกตัวอย่างที่ดีว่าประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย มีศักยภาพสามารถมีบทบาทในการสนับสนุนวาระนโยบายสุขภาพโลกได้ในระดับสูงสุด โดยไทยได้ขับเคลื่อนงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและองค์การอนามัยโลกหรือWHO-CCS โดยความร่วมมือในรูปแบบนวัตกรรมเช่นนี้ มุ่งเน้นการระดมทุนทางสังคม ทุนทางปัญญา นอกเหนือจากทุนทางการเงินจากองค์การอนามัยโลก ซึ่งการขับเคลื่อนสำคัญนี้ จำเป็นต้องใช้บทเรียนการทำงานที่ผ่านมา ของ สสส. และองค์การอนามัยโลก เพื่อต่อยอดไปสู่ความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า การลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่าง สสส. และองค์การอนามัยโลก เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2553 และ 2558 ซึ่งได้ขยายเวลาความร่วมมือเพิ่มขึ้นในปีนี้ โดยความร่วมมือในครั้งล่าสุดนี้ มุ่งเน้นการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพใน6 ประเด็นหลักของวาระนโยบายสุขภาพโลก เพื่อช่วยให้ประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน(Sustainable Development Goals) และการลดปัจจัยเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญ โดยเชื่อว่าความร่วมมือดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการ อาทิ เกิดฐานข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพ รายงานวิชาการ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เครื่องมือและแนวทางปฏิบัติ และที่สำคัญคือเกิดเครือข่ายการทำงานที่เข้มแข็งทั้งในและต่างประเทศ
ดร.สุปรีดา กล่าวว่า สำหรับเป้าหมายสำคัญ 6 ประเด็นในความร่วมมือครั้งนี้ คือ 1.สร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายและเสริมศักยภาพในการพัฒนานโยบายแอลกอฮอล์ในประเทศกำลังพัฒนา 2.การส่งเสริมกิจกรรมทางกาย เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายลดพฤติกรรมเนือยนิ่งลงให้ได้ร้อยละ 10 ภายในปี 2568 3.การสร้างเสริมสุขภาพเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา ทั้งการสร้างกิจกรรมทางกาย และสร้างทักษะด้านสุขภาวะ4.สร้างเครือข่ายส่งเสริมศักยภาพลดการบริโภคอาหารรสเค็มในระดับภูมิภาค เพื่อลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
5.ส่งเสริมให้เกิดระบบการเฝ้าระวังเพื่อป้องกันโรคไม่ติดต่อ เพื่อควบคุมและส่งเสริมสุขภาพในภูมิภาคอาเซียนใน 6 ประเทศคือ กัมพูชา ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ เวียดนาม ไทย และ6.สร้างความเข้มแข็งระบบบริการปฐมภูมิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งนี้ ความร่วมมือครั้งนี้ จะสร้างความสัมพันธ์ส่งเสริมพันธกิจเพื่อสร้างสุขภาวะที่ยั่งยืนต่อประชากรไทยและประชากรในประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคอื่นทั่วโลก