ส.ป.ก.ลุยคืนความสุขประชาชน
จัดพื้นที่ทำกินเขตคทช.บ่อทอง ชลบุรี
การสร้างความสุข แก้ปัญหาปากท้องของประชาชน เป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาทุกยุคทุกสมัย ซึ่ง สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นกลไกหนึ่งที่รัฐบาลใช้มอบความสุขแก่ประชาชน โดยที่ส.ป.ก.ได้เดินหน้าตามโครงการจัดที่ดินทำกินให้ประชาชนตามนโยบายของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดส.ป.ก.นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ศึกษาดูงานติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานในเขตปฏิรูปที่ดิน ณ พื้นที่แปลงหมายเลข ๔๖๘ ตำบล บ่อทอง อำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี โดยมีนายสุรจิตต์ อินทรชิต เลขาธิการส.ป.ก. เป็นประธาน นายปราโมทย์ ยอดแก้ว ผู้อำนวยการสำนักจัดการปฏิรูปที่ดิน เป็นผู้กล่าวรายงาน นายอัครเดช เรียนหิน ปฏิรูปที่ดินจังหวัดชลบุรี ให้การต้อนรับ เผยการดำเนินการคืบหน้า คัดเลือกเกษตรกรได้แล้ว 42 ราย มีการจัดที่ดินให้รายละ 6 ไร่ แบ่งเป็นแปลงเกษตร 5 ไร่ แปลงที่อยู่อาศัย 1 ไร่ พร้อมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค รักษาพื้นที่แปลงรวมปาล์มน้ำมันที่มีอยู่เดิม ทำให้มีรายได้เข้าสหกรณ์แบ่งปันกันได้เฉลี่ยสูงถึง 7,000 บาทต่อครอบครัวต่อเดือน
นายอัครเดช เรียนหิน ปฏิรูปที่ดินจังหวัดชลบุรี กล่าวถึงภาพรวมของจังหวัดชลบุรีว่า มีอยู่ 11 อำเภอ มีพื้นที่ทั้งสิ้น 2.7 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ทางการเกษตร 1.628 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ที่อยู่ในการดำเนินการปฏิรูปที่ดิน 6.49 แสนไร่
ชลบุรีเป็นจังหวัดที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง มีการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยวและการบริการ สินค้าสำคัญได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน สับปะรด ไก่ สุกรและปลานิล
สำหรับการดำเนินการของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) นั้นมีการรังวัดจัดที่ดินให้แก่เกษตรกรไปแล้วมากกว่า 2 หมื่นราย 2.5 หมื่นแปลง มีเนื้อที่ 4.5 แสนไร่ มีการดำเนินการตามคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ที่36/2559 เพื่อแก้ไขปัญหาในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย สำหรับ สปก.ชลบุรีมีการปฏิบัติตามคำสั่งที่36/2559 ตามข้อ 1 วงเล็บ(1)คือ ที่ดินที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่มีเนื้อที่ตั้งแต่ 500 ไร่ขึ้นไป จำนวน 14 แปลง รวมเนื้อที่ 1.671 หมื่นไร่มาจัดสรรที่ดินแก่เกษตรกรตามนโยบายของรัฐบาล ขณะนี้มีจำนวน 2 แปลง คือ
1. แปลงหมายเลข 378 ตำบลเขาซก อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ 569.75 ไร่ จัดให้แก่เกษตรกรจำนวน 47 ราย
2. แปลงหมายเลข 468 ตำบลบ่อทอง อำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ 535.27 ไร่ จัดให้เกษตรกร 42 ราย
ซึ่งเกษตรกรที่ได้รับการจัดสรรที่ดิน มาจากเกษตรผู้ยากไร้ที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ไร้ที่ดินทำกินไว้กับส.ป.ก. เป็นผู้ถูกผลักดันจากเขตป่าและเกษตรกรรุ่นใหม่ และมีการรวมกลุ่มจัดตั้งในรูปแบบของสหกรณ์
ด้านนายปราโมทย์ ยอดแก้ว ผู้อำนวยการสำนักจัดการปฏิรูปที่ดิน(สจก.) สังกัด ส.ป.ก. กล่าวเสริมว่า จากคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 36/ 2559 มีการยึดคืนพื้นที่จากผู้ครอบครองในเขตปฏิรูปที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย 443,889 ไร่ครอบคลุม 27 จังหวัด และนำที่ดินมาจัดสรรแก่เกษตรกรในรูปแบบของสหกรณ์การเกษตรหรือสถาบันเกษตรกร ตามนโยบายที่ดินแห่งชาติ
สำหรับจังหวัดชลบุรี มีความพร้อมในการนำที่ดินมาจัดสรรคแก่เกษตรกร 14 แปลง ใน5 อำเภอได้แก่ อำเภอเกาะจันทร์ หนองใหญ่ บ่อทอง พนัสนิคมและบางละมุง โดยมี 2 แปลงดังข้างต้นตามคำสั่งคสช. ข้อ 9 (1)ด้วย
นายสุรจิตต์ อินทรชิต เลขาธิการ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า พื้นที่ที่มาศึกษาดูงานครั้งนี้ คือ แปลงหมายเลข 468 ตำบลบ่อทอง อำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี จัดสรรให้เกษตรกร จำนวน 42 ราย ๆ ละ 5+1 ไร่ (แบ่งเป็นแปลงเกษตรกรรม 5 ไร่ และแปลงที่อยู่อาศัย 1 ไร่) พื้นที่แปลงรวม 47 ไร่ 38 ตารางวา พื้นที่ส่วนกลาง 74 ไร่ 1 งาน 09 ตารางวา พื้นที่แหล่งน้ำ 125 ไร่ 76 ตารางวาและจัดตั้ง “สหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินอำเภอบ่อทอง (คทช.) จำกัด” ส.ป.ก.ชลบุรี ได้ดำเนินการจัดที่ดินแล้ว ในรูปแบบกลุ่มหรือสถาบันเกษตรกร มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคด้านต่าง ๆ มีความคืบหน้า ไปแล้วประมาณร้อยละ 67.6
สำหรับการดำเนินการมีการบูรณาการร่วมกันของหลายหน่วยงานในการพัฒนาพื้นที่ การจัดที่ดิน การส่งเสริมพัฒนาอาชีพ ทั้ง กองทัพบก สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดชลบุรี สถานีพัฒนาที่ดินชลบุรี การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สำนักงานเกษตรจังหวัด ชลประทานชลบุรี สำนักงานปศุสัตว์ สำนักงานประมงจังหวัด สำนักงานสหกรณ์จังหวัด สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. เป็น หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงพลังงาน เป็นต้น โดยมีการปรับพื้นที่ ปูผังแบ่งแปลง ก่อสร้างถนนสายหลัก สายซอย การจัดหาแหล่งน้ำ การขุดบ่อน้ำบาดาลและการวางระบบท่อส่งน้ำเข้าไปยังพื้นที่ส่วนต่าง ๆ การขุดบ่อน้ำชั่วคราว
ทั้งนี้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงาน ภายใต้การกำกับ
สำหรับการคัดเลือกเกษตรกรเข้าทำกินตามนโยบาย ของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้วทั้ง 42 ราย เกษตรกรได้รวมตัวกันจัดตั้งสหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินอำเภอบ่อทอง (คทช.) จำกัด เพื่อขอเช่าที่ดินจาก ส.ป.ก. ขณะนี้เกษตรกรบางส่วนได้เข้ามาอยู่อาศัย และเริ่มทำการเพาะปลูกบ้างแล้ว
เนื่องจากพื้นที่แปลงหมายเลข 468 สภาพดั้งเดิมก่อนที่ ส.ป.ก. จะยึดคืนมา เป็นแปลงปลูกปาล์มน้ำมันทั้งหมด ปาล์มบางส่วนโตเต็มที่เก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว ส.ป.ก. จึงได้โค่นต้นปาล์ม ปรับพื้นที่เฉพาะในส่วนที่เป็นบ้านพักอาศัยและพื้นที่สำหรับจัดสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน ส่วนที่เป็นแปลงรวมและแปลงเกษตรกรรมที่จัดให้เกษตรกรทำกินรายละ 5 ไร่ ยังคงเป็นสวนปาล์ม
อีกทั้ง เมื่อใช้ระบบแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก หรือ Agri-Map มาพิจารณา ปรากฏว่าพื้นมีความเหมาะสมในการปลูกปาล์มน้ำมัน คณะอนุกรรมการพัฒนาชีพ จึงเห็นสมควรว่าให้คงปาล์มน้ำมันไว้เพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ในส่วนเกษตรกรที่ได้รับการจัดที่ดินก็เห็นด้วยกับแนวคิดนี้เพราะในระหว่างการพัฒนาสาธารณูปโภค เกษตรกรยังไม่สามารถทำการเพาะปลูก ไม่มีรายได้ การตัดปาล์มน้ำมันขาย จึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรประมาณ 4,000 – 7,000 บาทต่อเดือนต่อราย รวมทั้งเกษตรกรที่ได้เข้ามาอยู่อาศัยบางส่วนได้ทำการเพาะปลูก มีรายได้จากการขายพืชผักอีกประมาณวันละ 100-200 บาท
ดังนั้น แนวทางการพัฒนาอาชีพในระยะแรก เกษตรกรจะมีรายได้หลักจากการขายปาล์มน้ำมัน รายได้อีกส่วนหนึ่งก็จะมาจากการทำเกษตรผสมผสานตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงในแปลง ที่อยู่อาศัย 1 ไร่ และในระยะต่อไป ส.ป.ก. จะพยายามผลักดันให้เกษตรกรในพื้นที่มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน ไม่ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน
เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวต่อไปว่า จุดเด่นของเกษตรกรในพื้นที่นี้คือ มีการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง ร่วมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เกษตรกรบางส่วนเข้ามาอยู่ในพื้นที่ตั้งแต่ยังไม่มีบ้านโดยสร้างเป็นเพิงชั่วคราว และมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่มาตลอด และมีแนวทางร่วมกันในการพัฒนาชุมชนอย่างชัดเจน แม้แหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคยังสร้างไม่เสร็จ แต่เกษตรกรบางส่วนก็ได้ลงแรงขุดบ่อน้ำตื้นในพื้นที่ของตัวเอง จนสามารถทำการเพาะปลูก และมีรายได้จากการขายพืชผัก ส่วนราชการต่าง ๆ ก็ร่วมกันทำงานอย่างแข็งขัน การพัฒนาจึงเป็นไปอย่างรวดเร็ว คาดว่าภายในปี 2561 การพัฒนาทุกด้านจะเสร็จเรียบร้อย
นางสาวศรัญญา วงศ์สุนทร เหรัญญิกสหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินอำเภอบ่อทอง (คทช.) จำกัด เปิดเผยว่า ในส่วนของเกษตรกรที่ได้รับการจัดที่ดินมีการพูดคุยและปรับแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่ร่วมกันมาโดยตลอด หลังจากรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นสหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินอำเภอบ่อทอง (คทช.) จำกัด เมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 สมาชิกจึงได้ตกลงร่วมกันว่าจะเก็บปาล์มน้ำมันในแปลงรวมและแปลงเกษตรกรรมไว้ เพราะในระหว่างที่เกษตรกรยังไม่สามารถทำการเกษตรได้ ก็จะยังมีรายได้จากการขายปาล์มน้ำมัน โดยใช้วิธีบริหารแบบแปลงรวม มีการรวบรวมผลผลิต และขายผ่านสหกรณ์ แล้วนำรายได้มาแบ่งเท่า ๆ กัน เพื่อให้เกษตรกรทุกคนสามารถอยู่ได้และร่วมใจกันพัฒนาพื้นที่ ใน 1 เดือนตัดปาล์มได้ 2 ครั้ง ขายได้เป็นเงินประมาณ 200,000-300,000 บาท หักค่าจ้างในการตัดปาล์มตันละ 850 บาท หรือประมาณ 20,000-40,000 บาทต่อเดือน เหลือเป็นรายได้ 180,000-260,000 บาทต่อเดือน หลังจากหักค่าดำเนินงานของสหกรณ์แล้วจึงนำรายได้ทั้งหมดมาแบ่งเท่า ๆ กัน
เหล่าเกษตรกรจึงยินดีถ้วนหน้า เพราะแต่ละเดือนมีรายได้ จากการขายปาล์มน้ำมันประมาณ 4,000-7,000 บาทให้พออยู่ได้
สำหรับแนวทางการพัฒนาในอนาคตกลุ่มมีความเห็นร่วมกันว่าจะยังคงพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันไว้จนกว่าจะหมดอายุแล้วจึงค่อยพิจารณาว่าจะเพาะปลูกอะไรต่อไป ส่วนในแปลงที่อยู่อาศัยและพื้นที่ส่วนกลางจะทำเกษตรผสมผสาน โดยเน้นการทำพืชผักอินทรีย์ และในพื้นที่แต่ละแปลงจะพยายามตกแต่งให้สวยงามเพื่อผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรต่อไป
หลังจากเปิดเผยรายละเอียดโครงการแล้ว คณะส.ป.ก. ได้พาคณะสื่อมวลชนไปชมพื้นที่จริง ทั้งพื้นที่อยู่อาศัยและแปลงรวม โดยมีเกษตรกรพาเยี่ยมชม ซึ่งในพื้นที่ 1 ไร่ มีการจัดแบ่งพื้นที่ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ 9 มีการเพาะปลูกพืชผักหลากหลาย สามารถใช้บริโภคในครัวเรือนโดยไม่ต้องซื้อหา และยังเหลือไว้แบ่งปันเพื่อนบ้านหรือขายเป็นรายได้เสริมได้อีก
นับว่าเป็นโครงการดีๆเป็นประโยชน์ต่อประชาชน เกษตรกรผู้ยากไร้อย่างแท้จริง…