สกว.-สกอ.พัฒนาศักยภาพนักวิจัย
ทูตไทยแนะวิจัยต้องตอบโจทย์
สกว.จับมือ สกอ.พัฒนาศักยภาพนักวิจัยพื้นฐานเพื่อต่อยอดสู่สตาร์ทอัพที่สวิตเซอร์แลนด์ หวังสร้างแรงบันดาลใจและเพิ่มเครือข่ายความร่วมมือจากองค์กรชั้นนำของโลก ด้านทูตไทย ณ กรุงเบิร์น ชี้การวิจัยต้องตอบโจทย์และเข้าถึงง่าย สร้างคนให้มีความรู้เฉพาะทางและทักษะเข้าสู่ระบบในบริบทความพร้อมของประเทศ
ศ. ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยว่า ตามที่ สกว. และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา เพื่อพัฒนาศักยภาพการวิจัยและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคต โดยได้สนับสนุนทุนวิจัยแก่อาจารย์และจัดการประชุมวิชาการ
รวมถึงการมอบรางวัลนักวิจัยดีเด่นมาอย่างต่อเนื่องนั้น และเพื่อส่งเสริมให้อาจารย์ได้มีการเรียนรู้การบริหารจัดการงานวิจัยของมหาวิทยาลัยที่ติดอันดับโลก ซึ่งมีการพัฒนางานวิจัยของสถาบัน ตลอดจนศึกษาความก้าวหน้าในการพัฒนางานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม สกว. และ สกอ. จึงได้จัดโครงการสร้างความร่วมมือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อสร้างเครือข่ายและพัฒนาศักยภาพของนักวิจัย ร่วมกับหน่วยงานในสมาพันธรัฐสวิส
นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาทรัพยากรบุคคล สกอ. ระบุว่าการศึกษาดูงานครั้งนี้นักวิจัยจะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ตรงจากมหาวิทยาลัยและหน่วยงานที่มีความเข้มแข็งด้านการวิจัย การลงทุนและบริหารจัดการงานวิจัยที่ต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะการเป็นสตาร์ทอัพ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาล รวมถึงยุทธศาสตร์ของ สกว. และ สกอ. ด้วย
นอกจากนี้ยังมีนักวิจัยรางวัลโนเบลจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นแรงบันดาลใจที่ดีให้นักวิจัย รวมทั้งยังเป็นโอกาสอันดีในการแสวงหาเครือข่ายความร่วมมือทางด้านวิชาการในระดับนานาชาติ เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านวิจัยของนักวิจัยในระดับที่สูงขึ้น และต่อยอดองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นพื้นฐานสู่การทำวิจัยและพัฒนาได้อย่างมีคุณภาพ เป็นประโยชน์ในการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ
การเยี่ยมชมสถาบันเทคโนโลยีสวิส ซูริค (ETH) หนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เป็นความต้องการของประเทศ ตลอดจนงานวิจัยด้านพลังงานที่เน้นการวางโครงสร้าง การจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงงานวิจัยด้านวิศวกรรมไฟฟ้าที่เชื่อมโยงกับประสาทวิทยาและชีวการแพทย์
สิ่งที่น่าสนใจคือ การตั้งบริษัทสตาร์ทอัพที่ spin-off จากผลงานวิจัยของนักศึกษาตั้งแต่ปี 1996 ได้มากถึง 380 บริษัท ซึ่งแบ่งเป็น 5 ด้าน ได้แก่ อนุภาคเหล็กที่เคลือบด้วยฟังก์ชันในการขับสารพิษซึ่งเป็นวิธีการฟอกเลือดแบบใหม่ เมมเบรนแยกแก๊ส อนุภาคซิลิกาออกไซด์ที่ใส่ดีเอ็นเอเพื่อติดตามหาแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง ไบโอเซนเซอร์ที่ใช้แบคทีเรียตรวจสารพิษปนเปื้อนในตัวอย่างน้ำอย่างรวดเร็ว และการพัฒนาหัวใจเทียมด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์แบบสามมิติ ทั้งนี้ ETH มีนักวิจัยที่ได้รับรางวัลโนเบล 21 คนรวมทั้งไอน์สไตน์ และมีความร่วมมือในการสร้างอาคารและห้องวิจัยชั้นสูงกับบริษัทเอกชนอย่าง IBM ในสัดส่วน 50:50 เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน
ขณะที่การดูงานองค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป หรือ CERN ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และ Compact Muon Solenoid (CMS) เมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งมีเครื่องเร่งอนุภาคขนาดใหญ่ที่สุดและใช้พลังงานสูงที่สุดของโลก นอกจากการทำวิจัยด้านฟิสิกส์อนุภาคและค้นหาอนุภาคใหม่ ๆ ยังมีความน่าสนใจอื่น ๆ เช่น เป็นผู้กำเนิด www. ตั้งแต่ปี 2532 ปัจจุบันพัฒนาเป็น next generation www. ที่มีความปลอดภัยมากขึ้น รวมถึงมี IdeaSquare ให้นักศึกษาจับกลุ่มรวมตัวกันแก้ปัญหาและคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ โดยมีทุนและเครื่องมือให้ลองทำสร้างเป็นต้นแบบภายในเวลาประมาณ 6 เดือนแล้วมาแข่งกันนำเสนอ ถ้าผลงานดีก็มีทุนให้ทำต่อ ต่างจากงานวิจัยและพัฒนาทั่วไปที่นำเทคโนโลยีที่มีนำสู่การตลาด แต่ให้ความต้องการเป็นตัวนำเพื่อให้ไปถึงเทคโนโลยีนั้นแทน
ซึ่งที่ CMS มีนักวิจัยไทย ดร.นรภัทร ศรีมโนภาษ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้รับทุนพัฒนาศักยภาพในการทำงานวิจัยของอาจารย์รุ่นใหม่ สกว. –สกอ. มาร่วมทำวิจัยเรื่อง “ศักยภาพในการศึกษาฟิสิกส์นอกเหนือจากแบบจำลองมาตรฐานสำหรับเครื่องเร่งอนุภาพในอนาคต” ภายใต้ความร่วมมือของจุฬาฯ และ CMS เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาในโจทย์ที่ยากทางฟิสิกส์และได้รับความสนใจจากสาธารณะค่อนข้างสูง เช่น ประโยชน์ทางการแพทย์ในการการวิเคราะห์และรักษา
ส่วนที่ Global Centre of Entrepreneuship and Innovation, St. Gallen University เป็นสถาบันชั้นนำในด้านการบริหารธุรกิจที่มีภารกิจหลัก 3 ด้าน คือ 1. ด้านการสอน เปิดสอนตั้งแต่ระดับปริญญาตรี-เอก โดยให้นักศึกษาได้เรียนรู้ทั้งในห้องเรียนและจากสถานประกอบการ 2. ด้านวิจัย เน้นด้านบริหารธุรกิจสมัยใหม่ เช่น นวัตกรรม สตาร์ทอัพ และการเป็นผู้ประกอบการ 3. ด้านบริการวิชาการ เน้นการให้ความรู้แก่ผู้บริหารของสถานประกอบการและการนำผลงานวิจัยไปสู่ภาคปฏิบัติ ภายใต้เป้าหมายและการทำงานที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศและการเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำด้านการบริหารธุรกิจ การส่งเสริมนวัตกรรม มีการอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้เกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริง ซึ่งนักวิจัยไทยได้เห็นหลักสูตรวิชาการเรียนการสอนที่กำหนดให้สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่เป็นรูปแบบการบริหารธุรกิจสมัยใหม่ และมีโอกาสที่จะทำงานวิชาการกับ Global University Entreprenuerial Spirit Student’s Survey (GUESS) ซึ่งเป็นเครือข่ายระดับโลกที่มีความร่วมมือของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั่วโลกในการร่วมกันสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับการประกอบกิจการ
ในโอกาสนี้ผู้บริหาร สกว. และ สกอ. ได้เข้าพบนายจักรี ศรีชวนะ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น เพื่อหารือความร่วมมือทางด้านวิชาการ โดยนายจักรีกล่าวว่า สถานทูตมีนโยบายในการส่งเสริมการวิจัยของนักวิจัยรุ่นใหม่จากประเทศไทยอยู่แล้ว และพยายามจัดกิจกรรมเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างนักวิจัยหรือนักศึกษาไทยที่เป็นกลุ่มนักเรียนทุน ซึ่งในปีนี้จะมีการจัดงานเทศกาลไทยในเดือนกรกฎาคม เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมอาหารซึ่งเป็นมิติใหม่ของสถานทูต มีผู้ประกอบการและสินค้าที่ใช้นวัตกรรมมาจัดแสดงด้วย
สำหรับการแสวงหาองค์ความรู้จากต่างประเทศนั้น ควรมองบริบทของเราด้วยว่าสิ่งที่จะทำเรามีความพร้อมหรือไม่ ตอบโจทย์ของประเทศหรือไม่ ชาวบ้านทั่วไปเข้าถึงหรือสัมผัสได้มากกว่า เราต้องอยู่กับความเป็นจริงและเห็นผลเร็ว เริ่มจากอะไรที่เราพร้อมจะทำ การเชิญชวนให้หน่วยงานวิจัยชั้นนำของต่างประเทศมาตั้งฐานที่ประเทศไทย ก็ต้องมีความพร้อมมากพอสมควรจึงจะดึงดูดได้ ส่วนตัวอยากให้มีหน่วยงานอย่างสถาบันวิทยสิริเมธีและโรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัยกระจายไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เพราะตอบโจทย์ชัดเจนในการผลิตกำลังคนเข้าสู่ระบบ
เอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น ระบุว่า ความรู้ของเรามีอยู่แล้วแต่อาจจะอยู่ผิดที่ผิดทางหรืออยู่ในส่วนใดส่วนหนึ่งมากเกินไป นักวิจัยส่วนใหญ่อยู่ในมหาวิทยาลัย การขับเคลื่อนภาพใหญ่ในอุตสาหกรรมของประเทศ ต้องใส่คน ความรู้ และทักษะ แต่มีหลายปัจจัยที่ต้องปรับ เช่น ทัศนคติของคนที่ไม่ยอมรับและแก้ไขยาก ในระดับอุดมศึกษาเราต้องพยายามอีกมากในการสร้างบุคลากรที่ตอบโจทย์ ระบบการศึกษาเป็นเรื่องที่พูดกันไม่จบ ต้องเตรียมคนตั้งแต่วัยอนุบาล นอกจากนี้ค่าตอบแทนและศักดิ์ศรีก็เป็นเรื่องสำคัญ คนสวิสส่วนใหญ่จบอาชีวศึกษา ใช้เวลาฝึกงานเป็นส่วนใหญ่ทำให้มีทักษะฝีมือและความรู้เฉพาะทาง จึงได้ค่าตอบแทนดีโดยไม่จำเป็นต้องเรียนมหาวิทยาลัย
สิ่งที่เราเรียนรู้ได้จากการดูงานคือ กลไกการทำงานของชาวสวิสที่อาศัยทักษะและความรู้ไปด้วยกัน จุดแข็งของคนไทยที่โดดเด่นและทำได้ดี คือเรื่องนวัตกรรมอาหาร เพราะเราเป็นแหล่งอาหารของโลก ซึ่งในสวิตเซอร์แลนด์ขับเคลื่อนโดยเอกชนเป็นหลัก มีการวิจัยและพัฒนาของบริษัทยักษ์ใหญ่
“อาหารและการท่องเที่ยวน่าจะเป็นจุดแข็งสำคัญของไทย นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์ รวมถึงสังคมสูงวัย ชาวสวิสมีอายุขัยเฉลี่ยที่ 83 ปี รัฐบาลกำลังจะขยายการเกษียณอายุของผู้หญิงจากเดิม 64 ปีเป็น 65 ปีเท่ากับผู้ชาย และกำลังสนใจเรื่องการดูแลสุขภาพ การคิดค้นชุดตรวจและยาเฉพาะบุคคล มากกว่าการผลิตยาต้านโรคภัยต่าง ๆ ขณะที่ไทยนั้นประเด็นการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์แรก ๆ ดูคึกคักแต่ตอนนี้ดูแผ่วลง เราต้องคิดอะไรนอกกรอบไม่ใช่ตามกระแสคนอื่น
ส่วนตัวเชื่อว่าเรามีนักวิจัยเก่ง ๆ จำนวนมาก แต่ไม่ค่อยเชิดชู นักวิจัยจึงไม่ค่อยเกิดและอยู่ในโลกของตัวเอง ทำในสิ่งที่ชอบ ถ้าโชคดีก็ต่อยอดได้ สำหรับความร่วมมือทางวิชาการนั้นหากทาง สกว. และ สกอ. ต้องการให้สถานทูตสนับสนุนงานวิจัยสาขาใดก็ขอให้ชี้ชัดในสาขาที่จะเกิดประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด” นายจักรีกล่าวสรุป