สกว.โชว์4ผลงานเด่นนศ.ป.เอกคปก.
ครั้งแรกโลกวิจัยวัยเกษียณตต.อยู่ไทย
ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ประธานคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการสนับสนุนการวิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)เป็นประธานการประชุม วิชาการโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) ครั้งที่ 19 หัวข้อ “ความท้าทายด้านนวัตกรรมสู่ประเทศไทย 4.0” ภายใต้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ณ โรงแรมจอมเทียน ปาล์มบีช พัทยา โดยมี ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสกว. เป็นผู้กล่าวรายงาน การประชุมเป็นเวลา 3 วันระหว่าง 7-9 มิ.ย.ครั้งนี้มุ่งเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่ได้รับทุนระดับปริญญาเอกนำเสนอรายงานความคืบหน้า เป็นเวทีพบปะแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะจากนักวิจัยอาวุโสและผู้ทรงคุณวุฒิ ภายในงานโชว์ผลงานวิจัยเด่น 4 เรื่อง รวมถึง “การย้ายถิ่นของผู้เกษียณอายุชาวตะวันตกมาสู่ประเทศไทย” โดยนักวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ถือเป็นการศึกษาการย้ายถิ่นฐานของผู้สูงวัยครั้งแรกของโลก ,ผลงาน “การสร้างแผ่นเซลล์กระดูกอ่อนหลายชั้นเพื่อรักษาการเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อนผิวข้อ” โดยนักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี,ผลงาน “เกราะแข็บงกันกระสุนพอลิเมอร์คอมพอสิทสมรรถนะสูง” โดยนักวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและ “การผลิตสีธรรมชาติที่มีความเสถียรสูง” ผลงานนักวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 530 คน
ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสกว. เปิดเผยว่า นับแต่ก่อตั้งคปก.ในปี 2539 จนถึงปัจจุบัน คปก.พยายามพิสูจน์ให้เห็นว่า นวัตกรรมคือหัวใจของการเติบโตทางเศรษฐกิจและนวัตกรรมสังคมที่จำเป็นต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีการวิจัยในระดับปริญญาเอก โดยถึงวันนี้ คปก.ได้สนับสนุนทุนวิจัยแก่นักศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิตไปแล้ว 4,700 ทุน มีผู้สำเร็จการศึกษาเข้าทำงานในภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ เป็นอาจารย์และนักวิจัยด้วย รวมถึงเป็นนักวิจัยในภาคเอกชน รวม 3,289 คน นับว่าทุนดังกล่าวช่วยเสริมสร้างศักยภาพทางการวิจัยแก่มหาวิทยาลัยไทย
การจัดงานในปีนี้ภายใต้หัวข้อ “ความท้าทายด้านนวัตกรรมสู่ประเทศไทย 4.0” จะเป็นตัวเร่งการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนสู่การพัฒนาประเทศไทย โดยมีการนำเสนอผลงานของนักศึกษาภายใต้หัวข้อย่อยด้านการสื่อสารระดับโลก เศรษฐกิจการเกษตรชีวภาพ การแพทย์สมัยใหม่ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก เทคโนโลยีดิจิทัลและการมีส่วนร่วมทางสังคม โดยสกว.และคปก.หวังว่าการประชุมครั้งนี้จะสร้างแรงบันดาลใจและความรู้ ตลอดจนช่วยสร้างเครือข่ายวิจัยแบบสหสาขาแก่ผู้เข้าร่วมงานด้วย
ด้าน ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ประธานคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการสนับสนุนการวิจัย สกว. กล่าวว่า คปก. เกิดขึ้นประมาณ 19 ปีที่แล้วโดยการนำของสกว. ซึ่งตนมีโอกาสมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการนี้ด้วยตั้งแต่ต้น โดยเล็งเห็นว่า การวิจัยที่จะได้ผลที่ดีนั้นจะต้องพัฒนาคน ซึ่งในขณะนั้นโครงการปริญญาเอกในมหาวิทยาลัยยังมีน้อยมาก โครงการนี้จึงมุ่งหวังให้ประเทศไทยสามารถผลิตบัณฑิตระดับปริญญาเอกได้เพียงพอ และสามารถไปทำงานต่างประเทศได้ด้วย โดยจากการประเมินความสำเร็จของโครงการพบว่า มีความก้าวหน้า บัณฑิตที่จบออกมาแม้ยังมีจำนวนไม่มากนัก แต่มีคุณภาพได้มาตรฐานสากล ผู้ที่จบออกมาแล้วได้พิสูจน์ตัวเองทำงานตามที่ต่าง ๆ ได้ผลไม่แพ้ผู้ที่จบจากต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีข้อดีตรงที่รู้เรื่องของประเทศไทยเป็นอย่างดี เพราะทำวิจัยในไทย ในขณะที่ไม่ทิ้งความเป็นสากล เนื่องจากได้ไปศึกษาในต่างประเทศด้วย มีการแนะนำวิทยานิพนธ์จากอาจารย์จากต่างประเทศด้วย
สำหรับผลงานวิจัยเด่นของนักศึกษา คปก. ในปีนี้ อย่างหนึ่งได้แก่ “การย้ายถิ่นระหว่างประเทศของผู้เกษียณอายุชาวตะวันตกมาสู่ประเทศไทย: กระบวนการตัดสินใจความอยู่ดีมีสุข การผสมกลมกลืน และผลกระทบต่อพื้นที่ปลายทาง” โดย ศ.ดร.พัชราวลัย วงศ์บุญสิน และ น.ส.กนกวรรณ ตั้งจิตนุสรณ์ นักศึกษา คปก. รุ่นที่ 18 จากภาควิชาประชากรศาสตร์ วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งศึกษากระบวนการตัดสินใจ ความอยู่ดีมีสุข การผสมกลมกลืนของผู้เกษียณอายุชาวตะวันตกในไทย และผลกระทบต่อไทยทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนสภาพแวดล้อม ซึ่งถือเป็นการบุกเบิกงานทางวิชาการระดับสากลที่เป็นโมเดลแรกของโลก
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อายุ 65 ปีขึ้นไป เป็นชาวอเมริกันและอังกฤษ สมรส/คบหาดูใจอยู่กับคนไทยแต่ไม่มีบุตรด้วยกัน อาศัยอยู่ที่เชียงใหม่ พัทยา อุดรธานี และกรุงเทพฯ ตามลำดับ มองว่าไทยเป็นประเทศในอุดมคติสำหรับการเกษียณอายุ โดยปัจจัยสำคัญคือ ค่าครองชีพ สภาพอากาศ และคนไทย ส่วนปัจจัยทางการแพทย์อยู่ในระดับที่น่าพอใจ
ส่วนผลงานเด่นอื่น ๆ ได้แก่ การสร้างเซลล์กระดูกอ่อนหลายชั้นโดยใช้พอลิเมอร์ชนิด Poly(N-Isopropylacrylamide- co-acrylamide) กราฟต์บนภาชนะเลี้ยงเซลล์ เพื่อนำไปใช้สำหรับแผลกระดูกอ่อนผิวข้อของมนุษย์ที่ถูกทำลายบางส่วน โดย รศ.ดร.ขวัญชนก พสุวัต และ น.ส.โศภิตา วงศ์อินทร์ นักศึกษา คปก. รุ่นที่ 15 จากภาควิชาวิศวกรรมชีวภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งพัฒนาการวิธีการสร้างเนื้อเยื่อกระดูกอ่อนที่มีคุณภาพดีขึ้นมาในห้องปฏิบัติการ เพื่อนำไปปลูกถ่ายที่ข้อเข่าของผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม โดยเนื้อเยื่อนี้จะรวมตัวเข้ากับกระดูกอ่อนเดิมของผู้ป่วย และสร้างโปรตีนคอลลาเจนชนิดที่ 2 (โปรตีนหลักในกระดูกอ่อน) และสารล่อลื่นที่สำคัญเพื่อให้เข่าทำงานได้เป็นปกติ จากเดิมที่ใช้เทคโนโลยีวิศวกรรมเนื้อเยื่อที่ฉีดเซลล์กระดูกอ่อนเข้าไปแต่ไม่สามารถเกาะตรงบริเวณเป้าหมาย
“การพัฒนาเกราะกันกระสุนสมรรถนะสูงจากพอลิเบนซอกซาซีนคอมพอสิทที่เสริมแรงด้วยเส้นใยชนิดต่างๆ” โดย ศ.ดร.ศราวุธ ริมดุสิต และ น.ส.มนัญญา โอฆวิไล นักศึกษา คปก. รุ่นที่ 14 จากภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งพัฒนาเกราะกันกระสุนสมรรถนะสูงต้นแบบ ประเภทพอลิเมอร์คอมพอสิทจากเมตริกประเภทเบนซอกซาซีนอัลลอย เสริมแรงด้วยเส้นใยชนิดต่าง ๆ ให้มีความสามารถในการป้องกันการเจาะทะลุในระดับ III ตามมาตรฐาน National Institute of Justice (NIJ) ซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วนที่สำคัญ คือ แผ่นหน้า ทำหน้าที่ทำลายหัวกระสุนและลดพลังงานปะทะแบบขีปนะ ผลิตจากพอลิเบนซอกซาซีนที่เสริมแรงด้วยเส้นใยแก้วชนิดแข็งแรงพิเศษ และแผ่นดูดซับพลังงาน ทำหน้าที่ดูดซับและสลายพลังงานปะทะแบบขีปนะ และจับเศษกระสุนทั้งหมดไว้ ผลิตจากพอลิเบนซอกซาซีน-ยูรีเทน เสริมแรงด้วยเส้นใยอะรามิด ซึ่งได้มีการผลทดสอบยิงที่โรงงานวัตถุระเบิดทหาร จ.นครสวรรค์ พบว่า สามารถป้องกันการเจาะทะลุได้สูงถึง 6 นัด และมีรอยยุบตัวของดินทดสอบแต่ละนัดไม่เกิน 44 มิลลิเมตร ทั้งนี้แผ่นเกราะมีความหนาเพียง 27.3 มม. น้ำหนักเกราะรวมทั้งชุดไม่เกิน 6.5 กิโลกรัม และมีต้นทุนวัสดุเพียง 7,000 บาท
ผลงาน “การผลิตสีธรรมชาติ: การปรับปรุงสีและความเสถียร” โดยใช้กระบวนการเตรียมตัวอย่าง การสกัดและการอบแห้งที่เหมาะสม โดย ศ.ดร.สักกมน เทพหัสดิน ณ อยุธยา และ น.ส.ลักษิกา งามวงศ์ล้ำเลิศ นักศึกษา คปก. รุ่นที่ 18 จากภาควิชาวิศวกรรมอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่พัฒนาการผลิตสีธรรมชาติแทนการใช้สีสังเคราะห์แบบทั่วไปที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค โดยใช้สีเขียวจากใบบัวบก สีแดงจากฝาง และสีเหลืองจากฟักทอง ด้วยวิธีการทางกายภาพ เช่น การนึ่ง และวิธีการทางเคมี เช่น การสร้างสารประกอบเชิงซ้อนของสารสีธรรมชาติกับแร่ธาตุ การสร้างพันธะระหว่างสารสีธรรมชาติกับสารอินทรีย์ชนิดอื่น เช่น กรดอินทรีย์ เพื่อเพิ่มความเสถียรของสี จากนั้นจึงทดสอบความเสถียรของสีธรรมชาติที่ผลิตได้ในการประกอบอาหารหลากหลายชนิดจนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ