สยามฯโพลล์พบปชช. 71.32%
เชื่อขึ้นน้ำมัน-ก๊าซทำของแพง
ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโสสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) แถลงผลการสำรวจ “ความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อการปรับขึ้นราคาค่าพลังงานกับการใช้ชีวิตประจำวัน” สำรวจระหว่างวันที่ 4 – 8 มิถุนายน พ.ศ. 2561 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,217 คน พบปชช.ส่วนหนึ่งตั้งข้อสงสัยการกำหนดราคาค่าพลังงานที่อาจจะเป็นการเอาเปรียบประชาชน และ 71.32% ประชาชนเชื่อ ขึ้นน้ำมัน-ก๊าซทำของแพง
ในรอบหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ราคาค่าพลังงานภายในประเทศโดยเฉพาะค่าน้ำมันและค่าก๊าซหุงต้มมีการปรับขึ้นลงหลายรอบจนเกิดความผันผวน ทั้งนี้ พลังงานในรูปของน้ำมันและก๊าซหุงต้มมีความสำคัญกับชีวิตประจำวันของผู้คนในยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก เพราะน้ำมันและก๊าซหุงต้มได้เข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้องกับการทำกิจกรรมต่างๆ ในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง การหุงหาอาหาร การประกอบกิจการงานต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้ พลังงานในรูปของน้ำมันและก๊าซหุงต้มก็ยังมีส่วนสำคัญกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศด้วยเช่นกัน
ดังนั้น เมื่อมีการปรับขึ้นราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้มย่อมส่งผลกระทบกับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของผู้คนและส่งผลให้ผู้ประกอบกิจการต่างๆ มีต้นทุนในการดำเนินกิจการเพิ่มขึ้นซึ่งอาจนำไปสู่การผลักภาระค่าใช้จ่ายมายังประชาชน ขณะเดียวกันรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามกำหนดแนวทางลดผลกระทบจากการปรับขึ้นราคาค่าน้ำมันและก๊าซหุงต้มพร้อมๆ กับการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนประหยัดการใช้พลังงานเพื่อลดการนำเข้าอย่างต่อเนื่อง
แต่อย่างไรก็ตาม ผู้คนในสังคมส่วนหนึ่งก็ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการกำหนดราคาค่าพลังงานที่อาจจะเป็นการเอาเปรียบประชาชนได้ จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อการปรับขึ้นราคาค่าพลังงานกับการใช้ชีวิตประจำวัน
จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดอายุ 18 ปีขึ้นไป จำแนกเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.62 และเพศชายร้อยละ 49.38 สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านความรู้สึกเกี่ยวกับการปรับขึ้นราคาค่าพลังงานกับภาระค่าใช้จ่ายในรอบหนึ่งเดือนที่ผ่านมา กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 48.32 รู้สึกว่าตนเองมีภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นราคาค่าพลังงาน (ค่าน้ำมัน ค่าก๊าซหุงต้ม) อย่างต่อเนื่องในรอบหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ขณะที่กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 51.68 ระบุว่าตนเองยังไม่รู้สึกว่ามีภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น
ในด้านความคิดเห็นต่อการปรับขึ้นราคาค่าพลังงานนั้น กลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 64.75 มีความคิดเห็นว่าการปรับขึ้นค่าพลังงาน (ค่าน้ำมัน ค่าก๊าซหุงต้ม) จะส่งผลให้ตนเองลดการใช้พลังงานในชีวิตประจำวันลง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 71.32 กังวลว่าหากมีการปรับขึ้นราคาค่าพลังงาน (น้ำมัน ก๊าซหุงต้ม) อย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้ผู้ประกอบการขายสินค้าและบริการผลักภาระค่าใช้จ่ายมาให้ผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างประมาณสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 66.23 ไม่เชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถควบคุมไม่ให้มีการปรับขึ้นราคาค่าสินค้าและบริการจากการปรับขึ้นราคาค่าพลังงาน (ค่าน้ำมัน ค่าก๊าซหุงต้ม) ได้ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 62.2 มีความคิดเห็นว่าการปรับขึ้นค่าพลังงาน (ค่าน้ำมัน ค่าก๊าซหุงต้ม) จะส่งผลทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศลดลงไปได้
ในด้านความคิดเห็นต่อการแก้ไขปัญหาราคาค่าพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 69.52 เห็นด้วยกับการนำเงินกองทุนพลังงานออกมาช่วยพยุงราคาค่าพลังงานไม่ให้มีการปรับขึ้นมากเกินไป ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 72.06 เห็นด้วยที่จะมีการกำหนดให้บริษัทจำหน่ายน้ำมันลดค่าการตลาดเพื่อช่วยพยุงราคาค่าน้ำมันไม่ให้มีการปรับขึ้นมากเกินไป และกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 52.1 เห็นด้วยหากจะมีการลดอัตราการเก็บภาษีการนำเข้าน้ำมันเพื่อลดราคาค่าน้ำมันภายในประเทศให้ต่ำลง
ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 65.74 มีความคิดเห็นว่าหากราคาค่าพลังงาน (ค่าน้ำมัน ค่าก๊าซหุงต้ม) ลดลงจะส่งผลให้ผู้คนลดการตระหนักถึงการประหยัดการใช้พลังงานต่างๆ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 25.88 มีความคิดเห็นว่าไม่ส่งผลให้ผู้คนลดการตระหนักถึงการประหยัดพลังงาน ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 8.38 ไม่แน่ใจ นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างเกือบสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 74.45 ไม่เห็นด้วยหากในอนาคตจะมีการห้ามประกาศการปรับราคาค่าน้ำมันล่วงหน้า ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 19.8 เห็นด้วย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 5.75 ไม่แน่ใจ ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน กล่าว