“ดร.สุวิทย์” ลุยปรับโฉมกระทรวงใหม่
สร้างพื้นฐานวิจัยไทยเข้มแข็งมุ่งสู่4.0
รมว.วิทยาศาสตร์ฯเผยกำลังเดินหน้าปรับเปลี่ยนโครงสร้างต่าง ๆ สู่การจัดตั้งกระทรวงใหม่ “กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม ” ชี้มีความจำเป็นเพื่อให้เกิดการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมอย่างรวดเร็ว สร้างคนไทยให้สมบูรณ์ เกิดระบบเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม ยกระดับไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้วตามนโยบายไทยแลนด์4.0 ชูจีนเป็นต้นแบบ ระบุเร่งจัดทำ พรบ. ใหม่ให้แล้วเสร็จภายในส.ค. 2561 ก่อนนำเข้าเสนอ ครม. และ สนช. ตามลำดับ ตั้งเป้าทำทุกอย่างแล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้ง พรบ. ใหม่มี 3 ส่วนหลัก ส่วนแรกคือการปรับโครงสร้างหน่วยงาน ส่วนที่สองเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ 3 ระบบ ได้แก่ ระบบอุดมศึกษา ระบบวิจัย และระบบนวัตกรรม และส่วนที่สามคือ การพัฒนากลไกขับเคลื่อนสู่ไทยแลนด์ 4.0
ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แถลงความสำคัญ หลักการ เหตุผล กลไกการขับเคลื่อน และแนวทางการดำเนินการจัดตั้งกระทรวงใหม่ ” กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม” ว่า เพื่อให้เกิดการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมอย่างรวดเร็วว่า “การพัฒนาประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วตามแนวนโยบายไทยแลนด์ 4.0 การวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาความกินดีอยู่ดีของประชาชนในสังคม และการสร้างความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ
ซึ่งระบบการวิจัยและพัฒนาและกลไกการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยของประเทศไทย ยังต้องมีการพัฒนาอีกมากอย่างต่อเนื่อง โดยการพัฒนาต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันและมีความเชื่อมโยงกัน จึงจำเป็นต้องมีการจัดภารกิจด้านการวิจัยและพัฒนาและการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยในกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใหม่ เพื่อสร้างความเชื่อมโยงและเพิ่มประสิทธิภาพของหน่วยงานวิจัยและหน่วยส่งเสริมนวัตกรรม รวมถึงต้องมีการปรับระบบและกลไกการทำงานของหน่วยงานเหล่านี้ให้สามารถดำเนินกิจการอย่างคล่องตัว มีประสิทธิภาพ และโปร่งใส ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศ การจัดระบบนี้ ได้ศึกษาจากนานาประเทศที่มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีนที่ได้พัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด”
ทั้งนี้ความจำเป็นในการก่อตั้งกระทรวงใหม่เนื่องจากเล็งเห็นว่า “ประเทศที่มีความก้าวหน้าเหล่านี้ มีการจัดระบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมให้มีขีดความสามารถหลัก โดยประกอบด้วย
การเชื่อมปัจจุบันกับอนาคต (Future Setting) เป็นความสามารถในการคาดการณ์อนาคต (Foresight) มีการวิเคราะห์และทำความเข้าใจเชิงลึกถึงแนวโน้มและปัจจัยแรงผลักดันต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และสามารถออกแบบนโยบายและกลไกการบริหารจัดการที่ปฏิบัติได้ในปัจจุบันและเชื่อมโยงไปในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการทดลองและทดสอบใน “Sandbox” ทั้งเชิงกฎ กติกา และเชิงเทคนิค รวมถึงการสร้าง Big Science ในกระทรวงใหม่นี้ อาทิเช่น เทคโนโลยีฟิวชั่น เทคโนโลยีซินโครตรอน เทคโนโลยีด้านดาราศาสตร์ เทคโนโลยีด้านอวกาศ เป็นต้น
การเปลี่ยนกระบวนทัศน์และโมเดลขับเคลื่อนประเทศ (Game Changing) เป็นการคิดนอกกรอบการปฏิบัติในรูปแบบเดิมๆ ที่ให้ผลได้จำกัดหรือไม่สามารถแก้ปัญหาคอขวดที่มีอยู่ได้ โดยสามารถสร้างโมเดลใหม่ของการพัฒนาด้วยการออกแบบเงื่อนไข แรงจูงใจและกลไกใหม่ วิธีการทำงานใหม่ และผู้เล่นกลุ่มใหม่ รวมถึงการบริหารจัดการงบประมาณแบบใหม่ เช่น งบประมาณแบบหลายปี (Multi-Year Budgeting)
การสร้างสมรรถนะเชิงนวัตกรรมให้กับประเทศ (Innovative Capacity Building) โดยสร้างความเข้มแข็งทั้งการวิจัยพื้นฐาน ประยุกต์ และการวิจัยขั้นสูง และขั้นแนวหน้า รวมไปถึงการใช้นวัตกรรมในเชิงพาณิชย์ และสาธารณประโยชน์ ซึ่งจำเป็นต้องมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพสูง (Talent) อย่างเพียงพอ โครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพและมาตรฐาน รวมไปถึงการจัดระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม อาทิ กระบวนการสนับสนุนการวิจัย กฎหมาย กฎระเบียบ การสร้างตลาดสำหรับนวัตกรรม การจัดหาและการถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นต้น”
ประเทศที่น่าสนใจที่สุด คือ จีน ซึ่งมี Chinese Academy of Sciences (CAS) เป็นหน่วยงานวิจัยขนาดใหญ่ ดำเนินการวิจัยครอบคลุมด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและเทคโนโลยีระดับสูง ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายแก่สภาประชาชน CAS มีสาขาในเมือง และมณฑลต่าง ๆ ทั่วประเทศ แต่ละแห่งมีจุดมุ่งเน้นในการวิจัยเฉพาะทางที่ชัดเจน สามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีมายังภาคอุตสาหกรรม มีการจัดตั้งบริษัทด้านเทคโนโลยีจำนวนมาก สร้างอุตสาหกรรมใหม่และมูลค่าจากการถ่ายทอดเทคโนโลยีของ CAS สู่ภาคอุตสาหกรรม กลไกสำคัญอีกประการหนึ่งที่ส่งเสริมให้ผลงานวิจัยของ CAS สามารถสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ คือ Holding Company ที่ CAS จัดตั้งและถือหุ้นทั้งหมด เพื่อเร่งนำผลงานวิจัยออกไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์โดยใช้กลไกการบริหารงานแบบเอกชน
คณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สารสนเทศ และการสื่อสารมวลชน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ศึกษาแนวทางการปฏิบัติงานของหน่วยงานวิจัยของสาธารณรัฐประชาชนจีน และได้เสนอให้ประเทศไทยจัดโครงสร้างระบบวิจัยในระดับปฏิบัติการ โดยถอดแบบจาก CAS ที่มีลักษณะเป็นหน่วยงานขนาดใหญ่ซึ่งมีการรวมศูนย์ของสถาบันวิจัย และมีพันธกิจที่ชัดเจนในการผลักดันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูง (Frontier Research) เพื่อยกระดับให้ประเทศสามารถแข่งขันด้านเทคโนโลยีกับต่างประเทศได้ การจัดระบบโครงสร้างและการดำเนินงานของ CAS เป็นไปอย่างครอบคลุมทุกมิติของระบบการวิจัยและนวัตกรรม ทั้งการวิจัยพื้นฐาน การต่อยอดผลงานวิจัย การถ่ายทอดเทคโนโลยี และมีโครงสร้างพื้นฐานที่กระจายตามพื้นที่ต่าง ๆ อย่างพอเพียง นอกจากนั้น CAS ยังมีมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาบุคลากรและนักวิจัย (Talent) ให้มีทักษะและความเชี่ยวชาญระดับสูง โดยมี University of CAS (UCAS) เป็นมหาวิทยาลัยที่มีส่วนสำคัญในการผลิตนักวิจัยทักษะสูงของประเทศจีน นอกจากนี้ กลไกที่ทำให้ CAS ประสบความสำเร็จในการเป็นหน่วยงานแนวหน้าด้านเทคโนโลยีขั้นสูง คือ ความสามารถในการประสานงานระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และมหาวิทยาลัย อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ แก่บุคลากรวิจัยและนักวิจัยจากการพัฒนางานวิจัยในระดับที่สร้างแรงจูงใจได้อย่างมาก
สำหรับประเทศไทย การจัดตั้งหน่วยงานคล้าย CAS ได้เริ่มก่อตัวแล้ว โดยเริ่มจากการจัดเรียงภารกิจหน่วยงานวิจัยและหน่วยงานส่งเสริมนวัตกรรมในกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เกิดความเชื่อมโยง ลดความซ้ำซ้อน และเริ่มยกระดับเพื่อทำ Frontier Research ให้มากขึ้น ในเบื้องต้น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) จะเป็นหน่วยงานแรกที่ปรับทิศทางงานวิจัยให้มุ่งเน้นตอบโจทย์ภาคส่วนต่างๆ ตั้งแต่รัฐบาล มหาวิทยาลัย ภาคเอกชน ภาคประชาชน ชุมชน และต่างประเทศ
ขณะเดียวกัน จะมีการปรับกลไกการทำงานโดยจะต้องยกระดับ 3 แพลตฟอร์มสำคัญ ได้แก่
ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยนอกเหนือจากการวิจัยและพัฒนาแล้ว TASI จะต้องสร้างความสามารถให้กับประเทศในด้าน Big Science ที่จำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และมุ่งทำ Frontier Research ตลอดจนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่เป็นฐานในการทำงานวิจัยต่อยอดไปสู่การใช้ประโยชน์ (Translational Research) ซึ่งการสร้างสิ่งเหล่านี้ ต้องลงทุนสูงและต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อ TASI ที่มีเป้าหมายที่ชัดเจน จะถือเป็นองค์กรที่มีศักยภาพที่สุดในการดำเนินการเหล่านี้
ด้านขีดความสามารถ TASI ต้องเป็นแพลตฟอร์มในการยกระดับความสามารถทางเทคโนโลยีทุกภาคส่วน ทั้งบริษัทใหญ่ SMEs และ Startups รวมทั้งต้องยกระดับความสามารถในการให้บริการของภาครัฐที่จัดเป็น Innovation Ecosystem เช่น อุทยานวิทยาศาสตร์และเขตนวัตกรรม โดยการยกระดับต้องคำนึงถึงการตอบโจทย์อาชีพในอนาคต
ด้านการบริหารจัดการเทคโนโลยี TASI ต้องปรับกลไกการสนับสนุนผู้ประกอบการให้เชื่อมโยงตลอด Value Chain ลดความซ้ำซ้อนที่ทำให้หน่วยงานในกระทรวงต้องแข่งขันกันเอง ต้องสนับสนุนผู้ประกอบการและสร้างวัฒนธรรมผู้ประกอบการ นอกจากนั้น ควรจัดตั้งบริษัท Holding ใน TASI เพื่อเร่งสร้างธุรกิจเทคโนโลยี รวมไปถึงบริหารจัดการโครงการวิจัยขนาดใหญ่เพื่อตอบโจทย์ภาครัฐและภาคส่วนต่างๆ
ทั้งนี้รมต.วิทยาศาสตร์ฯยังเปิดเผยความคืบหน้าในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (กวทช.).ว่า “การปฏิรูปไทยแลนด์ 4.0 ได้พยายามมาระยะหนึ่งแล้ว การจัดตั้งกระทรวงใหม่นี้ มีความจำเป็นและมีความสำคัญมาก เพื่อเตรียมความพร้อมของประเทศสู่ศตวรรษที่ 21 และไทยแลนด์ 4.0 โดยเตรียมคนไทยให้สมบูรณ์ และเพื่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม โดยการจัดตั้งกระทรวงใหม่นี้ ได้หารือกับ รองนายกรัฐมนตรีวิษณุ เครืองาม แล้ว จะดำเนินการจัดทำ พรบ. ใหม่ให้แล้วเสร็จได้ภายในเดือนสิงหาคม 2561 และจะนำเข้าเสนอ ครม. และ สนช. ตามลำดับขั้นตอน โดยจะทำให้ทุกอย่างแล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้ง โดยเนื้อหาใน พรบ. ใหม่ จะแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ส่วนแรกคือการปรับโครงสร้างหน่วยงาน ส่วนที่สองเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ 3 ระบบ ได้แก่ ระบบอุดมศึกษา ระบบวิจัย และระบบนวัตกรรม และส่วนที่สามคือการพัฒนากลไกขับเคลื่อนสู่ไทยแลนด์ 4.0
สำหรับการบริหารกระทรวงใหม่นั้น เพื่อความคล่องตัวและโปร่งใส่ จะมีคณะกรรมการบริหารกระทรวงใหม่นี้ โดยมี นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องไม่กี่คน และ เพื่อให้การดำเนินการปฏิรูประบบวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรมเริ่มได้ทันที และสามารถนำพาประเทศไทยไปสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” ได้อย่างรวดเร็ว จึงได้มอบหมายให้ สวทช. ซึ่งจะเป็นหน่วยงานหลักหน่วยงานหนึ่งของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ดำเนินการ transform สู่ TASI ในส่วนที่ พรบ. พัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฉบับปัจจุบันอนุญาตให้ทำได้ สร้าง Quick-Win ประกอบด้วย
1.รวมการบริหารและส่งเสริม อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค (Regional Science Park) และ Food Innopolis และ EECi มาไว้ที่ TASI (@สวทช.) เพื่อการบริหารจัดการในภาพรวมและบูรณาการ
2.ปรับ NSTDA Academy เป็น STEM Academy หรือ Career for the Future Academy รวมทั้งให้ย้ายห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนโดยกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย (โครงการ วมว. “ว ตัวแรก” หมายถึงห้องเรียนวิทยาศาสตร์ “ม” หมายถึง มหาวิทยาลัย และ “ว ตัวที่สอง” หมายถึง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) มาอยู่ในสถาบันนี้ด้วย เพื่อสร้างความตระหนัก สร้างบุคลาการเพื่องานวิจัยและนวัตกรรมสู่ภาคธุรกิจ ภาครัฐ รวมถึงภาคประชาชน
3.ย้าย TED Fund (กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและผู้ประกอบการ) จากสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไปที่ TASI (สวทช.) เพื่อให้เกิดกิจกรรมใน “กลุ่มบริหาร RDI” ได้ทันที
4.บริษัท Holding ให้ สวทช. เริ่มดำเนินการได้เลย เพื่อเป็นเครื่องมือในการผลักดันให้สามารถทำการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่ภาคเอกชน ได้คล่องตัวขึ้น
5.ปรับโฉมหน่วยวิจัย สวทช. เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ประเทศ ตอบโจทย์ภาครัฐและภาคเอกชนได้ทันที ได้อย่างกว้างขวางขึ้น ตัวอย่างเช่น Medical Research ซึ่งที่ผ่านมาอยู่ในมหาวิทยาลัยเป็นส่วนใหญ่ นับเป็นโอกาสอันดี ที่มหาวิทยาลัยจะมาอยู่ในกระทรวงใหม่ด้วยกัน จะได้ทำงานบูรณาการกันได้อย่างใกล้ชิดและไปในทิศทางเดียวกัน
6.ให้ สวทช. เป็นหน่วยงานขึ้นรูป TASI และการตั้ง TASI ในทุกๆ ด้าน ให้แล้วเสร็จภายใน 1-2 ปี
ด้านดร. ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวถึงรายละเอียดในส่วนการปรับเปลี่ยนที่จะเริ่ม Reform in Action ว่า “ในโครงสร้างกระทรวงใหม่ ประกอบไปด้วย 3 กลุ่ม โดยกลุ่มที่ 1 จะทำเรื่องนโยบาย ยุทธศาสตร์ รวมถึงการให้ทุนวิจัย ทำหน้าที่กำกับหน่วยงานทั้งในและนอกกระทรวงใหม่ ในเรื่องการทำวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นภาพรวมของประเทศได้ กลุ่มที่ 2 ทำ Big Sciences วิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์เชิงลึก อาทิเช่น ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI), Computational Sciences, Fusion Technology, Frontier Research ที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่อุตสาหกรรมต่างๆ และกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มมหาวิทยาลัย”
กระทรวงใหม่นี้ 1. ใช้นวัตกรรมเป็นตัวนำในการขับเคลื่อน 2. ต้องมีภาคเอกชนเป็นผู้ชี้นำ ลงทุนในงานวิจัยและพัฒนามากขึ้น ทำงานเชื่อมโยงกับส่วนงานวิจัยของกระทรวงต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ความท้าทายของประเทศ อาทิเช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม และ 3. ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการสร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งของภาคเศรษฐกิจและสังคมด้วยฐานนวัตกรรม ด้วยกระทรวงใหม่นี้ ประเทศไทยจึงจะสามารถมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยังยืนได้