ไอเฟคฟ้อง2กรรมการ-ก.ล.ต.-ตลท.
สร้างปัญหาปิดทางบริษัทแก้หนี้
ประธานบริหารบริษัท IFEC เรียกร้อง 2 กรรมการอิสระปฏิบัติตามกฎหมาย ยุติสร้างปัญหาจดทะเบียนกรรมการใหม่อย่างผิดกฎหมาย แนะให้รอคำสั่งอุทธรณ์ก่อน พร้อมเรียกร้องนายทะเบียนรับรองกรรมการใหม่อีก 2 คนเพื่อให้ครบ 5 คนตามกฎหมาย เปิดโอกาสให้บริษัทเดินหน้าแก้ปัญหาหนี้ได้ทันที ขณะที่ผู้ถือหุ้นยื่นฟ้องอาญา 2 กรรมการเจ้าปัญหา ตลาดหลักทรัพย์ และก.ล.ต.
นายศุภนันท์ ฤทธิไพโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการบริษัทอินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ พล.ต.บุญเลิศ แจ้งนพรัตน์ และนายฉัตรณรงค์ ฉัตรภูติ กรรมการบริษัท IFEC ยอมปฏิบัติตามขั้นตอนและข้อกฎหมายอย่างเคร่งครัด ด้วยการไม่เร่งรัดจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อเลือกกรรมการใหม่ให้ครบ 9 คน เนื่องจากเป็นกระบวนการที่ผิดกฎหมายมาตั้งแต่ต้น กล่าวคือ ขัดต่อมาตรา 83 แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 ที่เขียนไว้ชัดเจนว่า “หากตำแหน่งกรรมการว่างลงจนเหลือน้อยกว่าจำนวนที่จะเป็นองค์ประชุม ให้กรรมการที่เหลืออยู่กระทำการในนามของคณะกรรมการได้ แต่เฉพาะจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อเลือกตั้งกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างลงเท่านั้น
แต่ปรากฏว่าทั้งพล.ต.บุญเลิศและนายฉัตรณรงค์ กระทำการผิดกฎหมายมาโดยตลอด คือ 1.ไปจดทะเบียนกรรมการออก 6 คนโดยไม่หารือบริษัท 2.ถอนคำร้องขอจดกรรมการเข้าใหม่ 2 คนที่ยื่นไว้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2560 3.เพิ่มผู้มีสิทธิรายงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)โดยไม่หารือบริษัท และ 4.รายงานตลาดหลักทรัพย์ฯโดยไม่เคยแจ้งหรือหารือกับบริษัท
“กรรมการทั้ง 2 คนประชุมกันเองทั้งที่ผมในฐานะ CEO ได้ทำหนังสือแจ้งไม่เห็นด้วยไปแล้ว และยังไปประกาศในระบบสื่อสารสารสนเทศของตลาดฯโดยลำพัง ถือว่ากระทำผิดทั้งตัวกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ และก.ล.ต. ฉะนั้นการที่ผมไม่ร่วมประชุมฯ จึงไม่ใช่การขัดขวาง แต่เป็นการแสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยกับการกระทำที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย” นายศุภนันท์ กล่าว
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ IFEC กล่าวอีกว่า หากนายทะเบียน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า รับจดทะเบียนกรรมการเข้าใหม่ 2 คนที่ IFEC ยื่นเรื่องไปตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2560 จะทำให้ IFEC มีกรรมการครบ 5 คนซึ่งตามกฎหมายสามารถเรียกประชุมผู้ถือหุ้นและแก้ปัญหาหนี้บริษัทได้ทันที จนสามารถร่นระยะเวลาดำเนินการแก้ปัญหาของIFECได้มากกว่าการเลือกกรรมการใหม่ให้ครบ 9 คน ที่กว่าจะแก้หนี้สินได้สำเร็จได้ใช้เวลานานข้ามปี อีกทั้งกรรมการผู้ดำเนินการไปจดทะเบียนให้เหลือกรรมการบริษัท 3 คน ไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบตามกฎหมาย ล่าสุดผู้ถือหุ้นได้ยื่นฟ้องคดีอาญาต่อกรรมการทั้ง2คนดังกล่าวแล้ว ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 10 กันยายน 2561 นอกจากนั้น บริษัท IFEC ได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของนายทะเบียน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่เร่งรัดถอนคำขอจดทะเบียนกรรมการเข้าใหม่ 2 คน และเร่งรีบรับจดทะเบียนจากกรรมการบริษัทที่ไม่มีหน้าที่รับผิดชอบ ทำให้เหลือกรรมการเพียง 3 คน ไม่สามารถบริหารงานได้ส่งผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นกว่า 30,000ราย
“IFECยืนยันจะรอผลการพิจารณาคำสั่งอุทธรณ์จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ก่อน เพื่อให้การดำเนินกิจการบริษัทเป็นไปตามกฎหมาย และพร้อมชี้แจงข้อเท็จจริงต่อก.ล.ต.” นายศุภนันท์กล่าว
นายศุภนันท์ ยังได้เรียกร้องสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)ตรวจสอบคดีที่ IFEC ยื่นฟ้องอดีตผู้บริหารและอดีตกรรมการพร้อมกับผู้ถือหุ้นรวม 5 คนฐานครอบงำกิจการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย พร้อมยืนยันว่าIFEC จะไม่ยอมไกล่เกลี่ยคดี รวมทั้งขอให้ตรวจสอบคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินอำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ศาลประทับรับฟ้องอดีตผู้บริหารคนเดียวกันกับพวก นอกจากนั้น IFEC ยังได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ป.ป.ง.) ขอให้ตรวจสอบเส้นทางการเงินของขบวนการ“ไซฟ่อน และฟอกเงิน” ประกอบด้วย กลุ่มแรก อดีตผู้บริหารระดับสูงของ IFEC ที่อาศัยข้อมูลภายในและตำแหน่งหน้าที่ร่วมกับพรรคพวก “ไซฟ่อนและฟอกเงิน” กลุ่มที่ 2 กลุ่มที่มีความเชื่อมโยงกับการสร้างหนี้ปลอมและการซื้อขายโรงแรมดาราเทวี(กิจการในเครือ IFEC) และกลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มผู้ที่พยายามครอบงำกิจการ IFEC อย่างผิดกฎหมาย