กสอ.เสริมแกร่งSMEsด้านออกแบบ
ต่อยอดผลิตสู่เชิงพาณิชย์-สากล
กองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับศูนย์วิจัยด้านการจัดการยุทธศาสตร์และการปฏิบัติการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิด “กิจกรรมปรึกษาแนะนำเชิงลึก การพัฒนาศักยภาพด้านการออกแบบแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม” ภายใต้ “กิจกรรมการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ในโครงการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ของประเทศไทย” รุ่นแรก เปิดรับผู้ประกอบการ 50 รายเข้าโครงการ มุ่งพัฒนาศักยภาพด้านการออกแบบของเอสเอ็มอี ในอุตสาหกรรมแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ และอุตสาหกรรมอนาคต (S-Curve) เพื่อสร้างคุณค่าในสินค้าและบริการ (Value Creation) และต่อยอดการผลิตสู่เชิงพาณิชย์ สร้างความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในระดับสากล หวังช่วยผลักดันอุตสาหกรรมสร้างสรรค์(creative Industries) ให้ก้าวหน้า สร้างมูลค่า เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ (Creative Economy) ของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ชี้อุตฯแฟชั่นและไลฟ์สไตส์สร้างมูลค่าเศรษฐกิจมหาศาล ปี60 ส่งออกมากกว่า 2.2 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันมีผู้ประกอบการกว่า 1 แสนราย ก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 8 แสนคน
นางสาวนฤมล ศิริทรงธรรม นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการ กองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า อุตสาหกรรมแฟชั่นและไลฟ์สไตส์ เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย สามารถสร้างมูลค่าการส่งออกประจำปี 2560 เป็นจำนวนเงิน 22,360 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณกว่า 738,037 ล้านบาท ) แบ่งเป็น มูลค่าการส่งออกในสาขาอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ 14,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณกว่า 462,098 ล้านบาท) สาขาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม 6,700 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณกว่า 221,147 ล้านบาท) สาขาอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง 1,660 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณกว่า 54,791 ล้านบาท) แต่ในปัจจุบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในอุตสาหกรรมแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ส่วนใหญ่ ยังดำเนินธุรกิจแบบผู้รับจ้างผลิตให้กับลูกค้า (OEM) อีกทั้งยังขาดความรู้ความเข้าใจในด้านการออกแบบอุตสาหกรรม (Industrial Design) ที่ใช้แนวคิดออกแบบเชิงสร้างสรรค์สำหรับสร้างคุณค่าในสินค้าและบริการ (Value Creation) หรือใช้ในการปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในภาคการผลิต
นางเดือนเพ็ญ อาจยุทธิ์ ผอ.กลุ่มพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ กองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์
นอกจากนี้รัฐบาลยังมีนโยบายสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคธุรกิจ SMEs โดยการส่งเสริมให้เกิดประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตเพิ่มขึ้น คือ การลดปริมาณของเสีย การลดลงของต้นทุนการผลิต หรือมูลค่าของยอดขายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาสินค้าและบริการจนสามารถพัฒนาศักยภาพในการสร้างแบรนด์ของตนเองให้ตรงกับ ความต้องการของลูกค้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมายได้ต่อไป (Shift from OEM to ODM to OBM) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยกองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ได้ร่วมมือกับศูนย์วิจัยด้านการจัดการยุทธศาสตร์และการปฏิบัติการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินกิจกรรมปรึกษาแนะนำเชิงลึกการพัฒนาศักยภาพด้านการออกแบบ แก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ภายใต้กิจกรรมการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ โครงการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ของประเทศไทย เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการออกแบบแก่วิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อมในอุตสาหกรรมแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ และ/หรืออุตสาหกรรมเครื่องเรือนและ ของตกแต่ง อำนวยการโครงการโดย ดร.กมลพรรณ แสงมหาชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยด้านการจัดการยุทธศาสตร์ฯ
คุณชนิตา ปรีชาวิทยากุล เจ้าของและดีไซเนอร์แบรนด์Senada-คุณสุปรียา กุลทวีทรัพย์ ผู้ก่อตั้งและเจ้าของบริษัท ลาบราดอร์ ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง การพัฒนาผลิตภัณฑ์
และในอุตสาหกรรมอนาคต (S-Curve) กลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงคุณภาพและอุตสาหกรรมการแพทย์และสาธารณสุขให้มีผลิตภาพการผลิตเพิ่มขึ้นและ/หรือมีการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่เกิดขึ้นที่นำแนวคิด การออกแบบเชิงสร้างสรรค์เพื่อสร้างคุณค่าในสินค้าหรือบริการ (Value Creation) และต่อยอดการผลิตสู่เชิงพาณิชย์ สร้างความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในระดับสากล
“อุตสาหกรรมแฟชั่นถือได้ว่ามีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศในระดับต้น ๆ เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ประกอบการรวมกันมากกว่า 1 แสนราย ก่อให้เกิดการจ้างงานมากกว่า 8 แสนคน มีมูลค่าการลงทุนและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง ประกอบด้วย 3 กลุ่ม 1.อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม 2.อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ และ 3.อุตสาหกรรมเครื่องหนังและผลิตภัณฑ์หนัง
ซึ่งจากข้อมูลเอสเอ็มอี ของอุตสาหกรรมแฟชั่น พบว่า มีจำนวนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแฟชั่นของไทยทั้งสิ้น 11,237 ราย แบ่งเป็น รายเล็ก 11,023 ราย และผู้ประกอบการขนาดกลาง 214 ราย แบ่งเป็นผู้ประกอบการภาคการผลิต 6,438 ราย และภาคการค้า 4,799 ราย โดยในจำนวนผู้ประกอบการภาคการผลิตสามารถแบ่งเป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม จำนวน 4,038 ราย อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับจำนวน 1,263 ราย และอุตสาหกรรมรองเท้า และเครื่องหนัง จำนวน 1,137 ราย ดังนั้น เห็นได้ว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นอุตสาหกรรมที่มีความเป็นพลวัตสูง สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้เป็นอย่างดี” นางสาวนฤมล กล่าว
นางสาวนฤมล กล่าวทิ้งท้ายว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวมุ่งหวังให้กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งประกอบด้วย เอสเอ็มอีที่เกี่ยวข้องในภาคการผลิตของอุตสาหกรรมแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ และอุตสาหกรรมอนาคต (S-Curve) ที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ ในกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวระดับคุณภาพ และอุตสาหกรรมการแพทย์และสาธารณสุข จำนวนไม่น้อยกว่า 50 กิจการ รวมทั้งนักออกแบบอุตสาหกรรม (Industrial Designer) จำนวนไม่น้อยกว่า 25 ราย ได้เกิดการพัฒนาและสร้างโอกาสในการนำเสนอแนวคิด การออกแบบเชิงสร้างสรรค์มาต่อยอดการผลิตสู่เชิงพาณิชย์ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน สร้างมูลค่าเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ (Creative Economy) ของประเทศให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน
ด้านดร.กมลพรรณ แสงมหาชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยด้านการจัดการยุทธศาสตร์และการปฏิบัติการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้อำนวยการโครงการ เปิดเผยว่า หลังเปิดตัวโครงการแล้ว เปิดรับผู้ประกอบการและนักออกแบบเข้าร่วมโครงการเลย คาดว่าจะครบประมาณกลางเดือนกรกฎาคมและใช้เวลาดำเนินโครงการเป็นเวลา 4 เดือน โดยพัฒนาการออกแบบสินค้าไลฟ์สไตล์หลายอย่างอาทิ เสื้อผ้า กระเป๋า เครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น ท่องเที่ยว สปา เป็นต้น
คุณสุปรียา กุลทวีทรัพย์ ผู้ก่อตั้งและเจ้าของบริษัท ลาบราดอร์ เปิดเผยว่า “ลาบราดอร์” นั้น มีผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์หลายอย่างรวมเครื่องเขียน เครื่องใช้ เครื่องประดับ และเฟอร์นิเจอร์ สินค้ามี 4 แบรนด์ แยกตามวัสดุที่ผลิต 1. Labrador เป็นผลิตภัณฑ์จากเครื่องหนัง ใช้หนังแท้ในการผลิต 2. RElabrador เป็นผลิตภัณฑ์จากหนังแท้รีไซเคิล 3. Labrador Paper ใช้กระดาษรีไซเคิลเป็นวัสดุหลัก 4. แบรนด์ซน(ZONN) เป็นการปล่อยของ วัสดุใหม่ ๆ ดีไซน์ใหม่ ๆ ที่หลุดจากกรอบเดิม โดยผลิตภัณฑ์ของลาบราดอร์มุ่งขายภายในประเทศเป็นหลัก โดยมียอดขายในประเทศมากกว่าต่างประเทศที่สัดส่วน 60% – 40% ส่งออกยุโรป เอเชีย สหรัฐอเมริกา มีร้านลาบราดอร์ที่ฟิลิปินส์ 3 สาขา ในฝรั่งเศส 1 สาขา
“เราต้องการทำแบรนด์ไทยให้คนไทยซื้อ ซึ่งเป็นเรื่องยาก โดยมีความคิดว่า คนในประเทศต้องชื่นชมก่อน คนข้างนอกคือ ผลพลอยได้”
สำหรับ “โครงการปรึกษาแนะนำเชิงลึก การพัฒนาศักยภาพด้านการออกแบบแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม” นี้ มองว่า เป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการและนักออกแบบได้มาพบกัน โดยมีที่ปรึกษาเป็นตัวเชื่อมและให้คำแนะนำเพื่อให้นักออกแบบมองเห็นทิศทาง ผู้ประกอบการก็สามารถทำงานร่วมกับนักออกแบบที่มีการพัฒนาสินค้าได้ดี นอกจากนี้ยังได้ลองปฏิบัติงานจริง ไปโชว์สินค้าในต่างประเทศ จะได้มีโอกาสให้คนมองเห็น เพราะคนทำงานถ้าไม่มีลูกค้าจะไม่ประสบความสำเร็จได้
ทั้งนี้องค์ประกอบที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้คือ ต้องมีความชอบในสิ่งที่ทำก่อน มีพื้นความรู้ที่สามารถประกอบงานนั้นได้ มีการพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา มีความตั้งใจทุ่มเท จริงใจกับงานที่ทำ และสิ่งที่จะทำให้ยั่งยืนคือ ความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ในส่วนของการพัฒนา ความจริงแล้วอยากให้มองว่า เป็นเรื่องปกติ ที่เป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน แล้วจะรู้สึกว่า สิ่งที่เราทำอยู่ จะดีขึ้น โดยที่เราไม่รู้สึกเลยว่า จำเป็นต้องทำหรือลำบาก
“โครงการนี้เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้พัฒนาตนเอง ไม่ว่าจะในรูปแบบของผู้ประกอบการและนักออกแบบ และมีโอกาส ได้มาร่วมกันสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ ถ้าเมื่อไหร่คันทรีย์แบรนด์ของเราดี โอกาสที่เราจะทำให้รุ่นน้องที่ตามเรามาได้พัฒนามากขึ้น รุ่นเก่ายากกว่า รุ่นใหม่ ๆ จะมีโอกาสมากาขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมีภาครัฐเปิดโอกาสและเข้ามาซัพพอร์ททำให้มีโครงการเกิดขึ้นมากมาย มันเป็นโอกาสที่ดี จึงอยากเชิญชวนให้เข้าร่วมโครงการ”