NSTDA Investors’ Day 2018
โชว์วิจัยเด่นสวทช-พันธมิตร
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดงาน NSTDA Investors’ Day 2018 ภายในงาน Thailand Tech Show 2018 เพื่อนำเสนอสุดยอดผลงานวิจัยเพื่อนักลงทุน ประจำปี 2561 ในลักษณะ Investment Pitching ประกอบด้วยผลงานเด่น 12 ผลงาน จาก สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร เพื่อค้นหาสุดยอดผลงานวิจัยที่น่าลงทุนที่สุด ตลอดจนเปิดเทรนด์เทคโนโลยีเพื่อเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนได้ทราบทิศทางแนวโน้มเทคโนโลยีใหม่ และเลือกพิจารณาลงทุนให้เหมาะสมต่อไป
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า “สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการสร้าง พัฒนา และส่งเสริมให้เกิดธุรกิจเทคโนโลยีในประเทศอย่างแพร่หลาย จึงได้จัดงาน NSTDA Investors’ Day ขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเสนองานวิจัยและเทคโนโลยีของ สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร ที่ได้รับการคัดเลือกแล้วว่ามีศักยภาพสูงในการลงทุนผลิตสินค้าหรือให้บริการ เพื่อให้นักลงทุน ผู้ประกอบการ กลุ่มอุตสาหกรรม และผู้สนใจ ได้มีโอกาสเข้าถึงหรือเลือกซื้อผลงานวิจัยและเทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อนำไปลงทุนหรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ โดยงาน NSTDA Investors‘ Day 2018
ในปีนี้ เป็นการจัดงานต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 โดย สวทช. พร้อมด้วยหน่วยงานภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หน่วยงานพันธมิตร และมหาวิทยาลัยเครือข่าย ร่วมนำเสนอผลงานบนเวที (Investment Pitching) รวม 12 ผลงานที่ได้รับการคัดเลือกแล้วว่ามีศักยภาพสูงในการลงทุนผลิตสินค้าหรือให้บริการ เพื่อให้นักลงทุนได้มีโอกาสเข้าถึง เลือกซื้อ หรือลงทุน ผลงานวิจัยและเทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อนำไปต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่ม และขยายโอกาสใหม่ทางธุรกิจ รวมถึงมีการบรรยาย และเสวนาวิชาการโดยผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ การเจรจาธุรกิจ การแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยเด่น สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร รวมถึงบริการสนับสนุนภาคเอกชนในรูปแบบต่างๆ ของ สวทช.”
สำหรับผลงานเด่นของ สวทช. จำนวน 5 ผลงาน ได้แก่ (1) สารสกัดจากผลผลิตพลอยได้อุตสาหกรรมเกษตรเพื่อการยับยั้งการก่อเชื้อ (P lignin care) โดย ดร.จักรพล สุนทรวราภาส ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีแปรรูปมันสำปะหลังและแป้ง ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สวทช. (2) ชีวภัณฑ์กำจัดแมลงศัตรูพืชเพื่อเกษตรปลอดภัย (VipPro) โดย ดร.บุญเฮียง พรมดอนกอย ห้องปฏิบัติการวิจัยการควบคุมทางชีวภาพ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สวทช.
(3) ระบบอัจฉริยะผ่านไอโอทีเพื่อเฝ้าระวังการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและคุณภาพน้ำในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ (AquaGrow) โดยนายปณินทร เปรมปรีดิ์ ห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีโฟโทนิกส์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สวทช. (4) เตียงนอนแบบมีกลไกช่วยผู้สูงอายุในการลุกนั่งและลุกขึ้นยืน (JOEY- Active Bed) โดย ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ ห้องปฏิบัติการการออกแบบและแก้ปัญหาอุตสาหกรรม ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สวทช. และ (5) นวัตกรรมไมโครแคปซูลหลายชั้นกักเก็บสารจำลองแบบเอปิเดอร์มอลโกรทแฟคเตอร์เพื่อใช้เป็น เวชสำอางชะลอวัย (Dream Derma) โดย ดร.สรวง สมานหมู่ ห้องปฏิบัติการเคมีอินทรีย์ชีวภาพ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สวทช.
ขณะที่ผลงานเด่นของพันธมิตร จำนวน 7 ผลงาน ได้แก่ (1) แผ่นดีเอ็นเอชิพตรวจเชื้อดื้อยา (Zensoray) โดย นายกวิน น้าวัฒนไพบูลย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (2) อนุภาคนาโนทองคำกรดแกลลิก สำหรับเครื่องสำอาง (Gallic Gold) โดย รศ.ดร.จุรีรัตน์ ดาดวง คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (3) กรรมวิธีการผลิตเฮมม์คอนกรีตจากแกนเฮมม์ผสมเถ้าถ่านหิน (Hempcrete and Hemp concrete) โดย ผศ.ดร.ธีรวัฒน์ สินศิริ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
(4) นวัตกรรมวัสดุก่อสร้างเพื่อชีวิตใหม่จากกัญชง (Hemp for New Live) โดย นายประชุม คำพุฒ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (5) แฮร์นาโนโทนิคบำรุงเส้นผมและหนังศีรษะจากดอกคำฝอยและใบย่าน (HERBONIC) โดย นายสิทธิพงศ์ สรเดช ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
(6) พลาสติกผสมกากกาแฟ โดย อาจารย์สุฐพัศ คำไทย อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU STeP) และ (7) แผ่นดามกระดูกและสกรูทางออร์โธปิดิกส์ประสิทธิภาพสูง (Smart Orthopedic Fixation) โดย รศ.ดร. อนรรฆ ขันธะชวนะ ห้องปฏิบัติการวัสดุฉลาด ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล / หลักสูตรวิศวกรรมชีวภาพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ทั้งนี้งานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-8 กรกฎาคม ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทคบางนา (EH101-102)