วช.ขยายผลธนาคารปูม้าลงพื้นที่ใต้
ขยายเครือข่ายในพื้นที่สู่ชุมชน
วช.ขยายผลธนาคารปูม้าลงพื้นที่ภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เดินหน้าตามภารกิจที่ครม.มอบหมาย เป็นหน่วยงานหลัก “คืนปูม้าสู่ทะเลไทย” สู่ชุมชนบริเวณชายฝั่ง ระบุเป็นการประยุกต์องค์ความรู้จากการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มปริมาณปูม้า และช่วยฟื้นฟูทรัพยากรปูม้าที่ลดลง และถือเป็นความสำเร็จในการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรในท้องทะเล ทำให้ชาวบ้านมีรายได้มากขึ้นและเป็นการฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชายฝั่งทะเลอย่างยั่งยืน
ศ.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในฐานะหน่วยงานกลางด้านการวิจัยของประเทศ ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี เมื่อคราวประชุมเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2561 ให้เป็นหน่วยงานหลักในการขยายผลธนาคารปูม้าเพื่อ “คืนปูม้าสู่ทะเลไทย” ไปสู่ชุมชนบริเวณชายฝั่ง โดยจะเป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กรมประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ธนาคารออมสิน บริษัทประชารัฐสามัคคี บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด และกระทรวงพาณิชย์ นำองค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมเดิมมาต่อยอดในการเพิ่มอัตราการรอดของลูกปูม้าก่อนปล่อยคืนสู่ทะเล และขยายผลความสำเร็จของธนาคารปูม้าไปสู่ชุมชนอื่น ๆ ตลอดจนการสนับสนุนการตลาดในทุกรูปแบบเพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าอันจะนำมาซึ่งการสร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชนต่อไป
ดังนั้น เพื่อให้เกิดความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการขยายผลธนาคารปูม้าเพื่อ “คืนปูม้าสู่ทะเลไทย” ในระดับจังหวัดและระดับพื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนล่าง (สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงได้ร่วมกับ เครือข่ายความร่วมมือในพื้นที่ จัดการประชุม เรื่อง “การขยายผลธนาคารปูม้าเพื่อ ‘คืนปูม้าสู่ทะเลไทย’ ตามมติคณะรัฐมนตรี” ระหว่างวันที่ 13 – 14 กรกฎาคม 2561 ณ โรงแรมไดมอนด์พลาซ่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยนางสาวสุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ ประธานคณะทำงานขยายผลธนาคารปูม้า เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมพร้อมบรรยาย เรื่อง แนวทางการขยายผลธนาคารปูม้าเพื่อ “คืนปูม้าสู่ทะเลไทย” ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2561 เวลา 09.00 น.
การประชุมในครั้งนี้ คาดว่าจะทำให้ทราบถึงแนวทางการดำเนินงานขยายผลธนาคารปูม้าในทันทีอย่างเป็นรูปธรรม และจะเป็นการสร้างเครือข่ายธนาคารปูม้าในระดับจังหวัดและระดับพื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนล่าง อาทิ กรมประมง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นต้น โดยมีผู้นำชุมชนชาวประมงลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมและร่วมเป็นเครือข่ายมากกว่า 115 ชุมชน