สมาคมโรคไตฯชวนฟัง..สิ่งควรรู้
สมุนไพรรักษา “โรคไต”
ในปัจจุบันได้มีการโฆษณาถึงสรรพคุณของยาสมุนไพรหลายชนิดว่าสามารถรักษาโรคไตเรื้อรังให้ดีขึ้นหรือกลับมาเป็นปกติได้ ซึ่งสมุนไพรดังกล่าวประชาชนสามารถซื้อหาได้โดยง่าย ทำให้ผมได้รับคำถามจากคนไข้อยู่บ่อยครั้งว่า เขาจะสามารถลองใช้ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสมุนไพรต่าง ๆ เพื่อช่วยรักษาโรคไตของเขาได้หรือไม่ ? จะมีข้อเสียอะไรหรือเปล่า ?
ศ.นพ.เกรียงศักดิ์ วารีแสงทิพย์ โดย นายกสมาคมโรคไต , ศ.เกียรติคุณ นพ.สุพัฒน์ วาณิชย์การ โดย เลขาธิการมูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย , ศ.นพ.สมชาย เอี่ยมอ่อง โดย ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ โดย นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ได้ตระหนักถึงการใช้ยาสมุนไพรรักษาโรคไต จึงได้เตรียมจัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน กลเม็ด เคล็ดลับ ป้องกันไตวาย ตอน “เรื่องควรรู้เกี่ยวกับยาและสมุนไพรกับโรคไต” และการเสวนาวิชาการ “ความจริงเกี่ยวกับสมุนไพรรักษาโรคไต สิ่งที่ควรรู้และข้อควรระวัง” เพื่อสร้างความตระหนักความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสมุนไพร ให้กับประชาชนและสื่อมวลชน ”
ด้านน.อ.นพ.พงศธร คชเสนี อายุรแพทย์โรคไต โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ได้ให้ข้อเสนอแนะในบทความหัวข้อ “สมุนไพรรักษาโรคไต สิ่งที่ควรรู้และข้อควรระวัง” ไว้ว่า
คำตอบที่ผมได้บอกกับคนไข้อยู่เสมอก็คือ เขาไม่ควรที่จะลองใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีการโฆษณาดังกล่าวในการช่วยรักษาโรคไตเรื้อรัง และเมื่อถามถึงเหตุผลว่า ทำไมจึงไม่ควรใช้ ผมขอสรุปเป็น 3 ประเด็น ดังนี้
1) ไตเป็นอวัยวะที่สามารถเกิดอันตรายจากการใช้ยาและสารต่าง ๆ ได้ง่าย เนื่องจากสารต่าง ๆ มาที่ไตในปริมาณและความเข้มข้นที่สูงกว่าอวัยวะอื่น ๆ จึงมีโอกาสเกิดพิษจากยาสูง โดยยาแผนปัจจุบันจะมีข้อมูลของขนาดยาที่เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละรายให้แพทย์เลือกใช้ทำให้มีโอกาสเกิดพิษต่อไตน้อยมาก ในขณะที่ยาสมุนไพรส่วนใหญ่ยังไม่มีข้อมูลเหล่านี้ชัดเจน นอกจากนี้สมุนไพรยังอาจมีปฏิกิริยาระหว่างยา (drug interaction) กับยาประจำที่แพทย์สั่งซึ่งอาจลดประสิทธิภาพหรือเกิดพิษของยาขึ้นได้
2) ผลิตภัณฑ์สมุนไพรส่วนใหญ่ที่จำหน่ายในท้องตลาดมักมีมากกว่าหนึ่งชื่อ (คือชื่อสามัญและชื่อพืช) ซึ่งจะไม่ได้ระบุองค์ประกอบ ปริมาณและสัดส่วนของสารต่าง ๆ เอาไว้ ทำให้เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะมีองค์ประกอบที่เป็นพิษต่อไตด้วยหรือไม่
3) แม้ว่าสมุนไพรบางชนิดจะมีผลการวิจัยที่แสดงถึงประโยชน์ในผู้ป่วยโรคไต อย่างไรก็ดี คุณภาพของหลักฐานงานวิจัยยังค่อนข้างต่ำจนไม่อาจสรุปได้ชัดเจนว่าสมุนไพรดังกล่าวมีประโยชน์จริงในผู้ป่วยโรคไต ในขณะเดียวกันยังมีสมุนไพรอีกหลายชนิดที่ขายกันอยู่แต่ไม่มีหลักฐานงานวิจัยสนับสนุน และสมุนไพรเหล่านี้ ยังไม่มีตัวไหนได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาว่าสามารถใช้รักษาโรคไตได้
จากเหตุผลที่กล่าวมาพอจะสรุปได้ว่าการที่ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังลองทานยาสมุนไพรรักษาโรคไตนั้นน่าจะมีโทษมากกว่าประโยชน์ โดยเราต้องอย่าลืมว่าผู้ป่วยเหล่านี้มีค่าการทำงานของไตลดลงอยู่แล้ว ซึ่งการรักษาที่ดีที่สุดคือ การดูแลปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม เพื่อชะลอการเสื่อมของไตให้ช้าที่สุด รวมทั้งหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เกิดความเสี่ยงต่อไตทั้งหมด
เพื่อความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง สมาคมโรคไตฯขอเชิญประชาชนและผู้ที่สนใจทุกท่าน เข้าร่วมกิจกรรมเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชนของสมาคมโรคไตฯ ในหัวข้อ “เรื่องควรรู้เกี่ยวกับยาและสมุนไพรกับโรคไต” ในวันพฤหัสบดีที่ 16 สิงหาคม 2561 เวลา 12.00 – 16.00 ณ ห้องประชุมสลากกินแบ่งรัฐบาลชั้น 9 ตึกกัลยาณิวัฒนา โรงพยาบาลสงฆ์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น
สามารถแจ้งลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่ โทรศัพท์ 02- 716 -7450