สสส.หนุนคนไร้บ้านเชียงใหม่
พาปลูกผักปลอดสารเลิกเหล้าบุหรี่
พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ 28 มิถุนายน โดยศูนย์แห่งนี้ถือได้ว่าเป็นรูปธรรมทางนโยบายภายใต้โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มคนไร้บ้าน 2 ปี (พ.ศ. 2559-2560) ตามมติครม. วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2559 ทั้งยังสะท้อนการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านร่วมกันของภาครัฐ โดยกระทรวงกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคประชาสังคม
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า สสส. โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ ได้เริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาวะคนไร้บ้านตั้งแต่ปี 2554 เพราะเห็นว่าคนไร้บ้านเป็นกลุ่มคนที่มีความเปราะบางและมีความเสี่ยงทางสุขภาพที่สุดกลุ่มหนึ่งของสังคมไทย ที่ต้องสนับสนุนทั้งในด้านการเข้าถึงสิทธิสุขภาพ สวัสดิการขั้นพื้นฐาน และการฟื้นฟูสุขภาวะให้สามารถตั้งหลักชีวิตด้วยตนเอง และกลับคืนสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ
ทั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่ เป็น 1 ใน 3 พื้นที่นำร่องการดำเนินงานสำคัญของ สสส. และภาคีเครือข่าย โดยสสส.หนุนเสริมศักยภาพภาคีเครือข่ายให้เกิดการบูรณาการทำงานกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมอื่นๆ ในพื้นที่ รวมถึงสนับสนุนทางด้านองค์ความรู้ทางวิชาการทั้งในเชิงข้อมูลเชิงประชากรและโมเดลการดูแลฟื้นฟูและเสริมศักยภาพคนไร้บ้านทั้งทางด้านสุขภาพ และอาชีพที่ต้องมีความเหมาะสมกับระยะของการเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน ทั้งกลุ่มเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน คนไร้บ้านหน้าใหม่ และคนไร้บ้านถาวร เนื่องจากคนไร้บ้านในแต่ละช่วงมีลักษณะทางประชากรและระดับปัญหาทางสุขภาพที่แตกต่างกัน
นางภรณี กล่าวต่อว่า จากการสำรวจล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 พบว่ามีคนไร้บ้านในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ จำนวน 75 คน แม้คนไร้บ้านเชียงใหม่จะมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับคนไร้บ้านในกรุงเทพมหานคร (1,307 คน) แต่ก็มีสภาพปัญหาทั้งในทางคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่น่ากังวัลกว่าคนไร้บ้านในกรุงเทพมหานคร เช่น คนไร้บ้านเชียงใหม่ติดสุราสูงถึงร้อยละ 64 ขณะที่คนทั่วไปมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 30 คนไร้บ้านเชียงใหม่สูบบุหรี่สูงถึงร้อยละ 62 ขณะที่คนทั่วไปที่สูบบุหรี่เป็นประจำมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 18 คนไร้บ้านเชียงใหม่กว่าร้อยละ 70 เป็นโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคกระเพาะ โรคมะเร็งปอด เป็นต้น
นอกจากนี้ พบว่าคนไร้บ้านเชียงใหม่มีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูงประมาณร้อยละ 10 ถึงร้อยละ 20 ของคนไร้บ้านรวมในแต่ละปี สาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดมาจากโรคปอดและการติดเชื้อทางเดินหายใจ สะท้อนให้เห็นว่าการอาศัยในพื้นที่สาธารณะเป็นความเสี่ยงทางสุขภาพที่สำคัญ ดังนั้น กระบวนการหนึ่งที่ สสส ใช้ในการสร้างเสริมสุขภาพคนไร้บ้าน คือ การชักชวนให้คนไร้บ้านที่ติดเหล้าติดบุหรี่ มาทดลองทำแปลงเกษตรปลูกผักปลอดสารพิษ ซึ่งพบว่าทำให้คนไร้บ้านลด ละ เลิกเหล้า บุหรี่ได้ในที่สุด นอกจากนี้ผลิตผลที่ปลูกได้ยังนำมาทำอาหารสำหรับตนเอง และแจกจ่ายคนไร้บ้านอื่นๆ ที่อาศัยในพื้นที่สาธารณะ ที่เหลือยังขายสร้างรายได้อีกด้วย”
นางนพพรรณ พรหมศรี เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กล่าวถึงการทำงานประเด็นคนไร้บ้านของมูลนิธิว่า มูลนิธิฯ เป็นองค์กรที่ทำงานกับคนจนเมืองเป็นหลัก ได้เริ่มทำงานกับคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ ด้วยเห็นว่าคนไร้บ้านเป็นคนจนเมืองที่จนที่สุด เป็นกลุ่มคนที่ประสบภาวะยากลำบากที่สุดกลุ่มหนึ่งของเมือง มูลนิธิฯ ทำงานภายใต้ความคิดที่ว่า “คนทุกคนสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้” ไม่ว่าจะจน หรือจะลำบากสักเพียงใด การทำงานจะเน้นในด้านของการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เน้นการเสริมศักยภาพ ที่ไม่ใช่การสงเคราะห์ เพื่อดึงศักยภาพของกลุ่มคนไร้บ้านออกมาจนสามารถเปลี่ยนแปลงตนเองได้ รวมถึงสามารถยกระดับในการเปลี่ยนแปลงสังคมและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะอื่นๆ”
นางนพพรรณ กล่าวเสริมถึงการทำงานที่เชียงใหม่ว่า “มูลนิธิฯ ได้เริ่มมาทำงานกับคนไร้บ้านที่เชียงใหม่ตั้งแต่ปี 2551 เราคิดว่าคนไร้บ้านไม่มีเฉพาะในกรุงเทพฯ ในหัวเมืองอย่างเชียงใหม่ และหัวเมืองอื่นๆ ก็มีคนไร้บ้านเช่นเดียวกัน การทำงานกับคนไร้บ้านในเชียงใหม่ มีกระบวนการและจุดเน้นเดียวกับการทำงานในกรุงเทพฯ ทั้งทำงานเพื่อการสร้างเครือข่าย และการเสริมศักยภาพ ซึ่งพิสูจน์ได้อยู่ว่า ถ้าเราทำงานเต็มที่เขาจะเป็นมีคนมีคุณภาพได้ ศูนย์คนไร้บ้านเชียงใหม่ในวันนี้ เป็นบทพิสูจน์เชิงรูปธรรมที่ชัดเจน เป็นการเสนอรูปแบบการพัฒนาจากเครือข่ายคนไร้บ้านและภาคประชาชนเป็นหลัก มีหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคมเป็นเพียงคนสนับสนุน เป็นนโยบายจากล่างขึ้นบนที่แท้จริง”