แนวคิดจัดการน้ำ-เทคโนฯดาวเทียม
ช่วยตอบโจทย์บริหารจัดการน้ำ
“น้ำ” เป็นสิ่งที่ประชาชน ต้องการในปริมาณและคุณภาพที่เพียงพอสำหรับการดำเนินกิจกรรมประจำวัน การดำรงชีพ การพัฒนาประเทศ และการรักษาสภาพแวดล้อม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดความมั่นคงด้านน้ำ ( Water Security) แต่ในช่วงที่ผ่านมาปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น เกิดจากปัจจัยหลายอย่างที่ซับซ้อนและปริมาณน้ำต้นทุนมีความไม่แน่นอนสูงขึ้น ในขณะที่ปริมาณความต้องการใช้น้ำเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งการประมาณความต้องการน้ำเพื่อการวางแผนและการจัดสรรน้ำยังมีความไม่แน่นอน จึงจำเป็นต้องหาแนวคิดใหม่ๆ และเครื่องมือเทคนิคการจัดการที่ทันสมัยเข้ามาช่วย
ดร.ปิยธิดา เรืองรัศมี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในคณะนักวิจัยภายใต้โครงการรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์น้ำของประเทศไทย : ทรัพยากรน้ำกับการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยทุนวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันแนวคิดในการจัดการน้ำในกระแสโลกใหม่ มุ่งเน้นไปยังการบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน ดังนั้น การวางแผนบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยจึงควรนำแนวคิดและเครื่องมือการจัดการน้ำในบริบทของกระแสโลกใหม่มาพิจารณาประยุกต์ใช้ และการพิจารณาจะต้องครอบคลุมตั้งแต่พื้นฐานสิทธิและหน้าที่ของผู้ใช้น้ำและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้านต่างๆ รวมทั้งยังประเด็นอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นแนวคิด ความมั่นคงด้านน้ำ การกำหนดราคาน้ำ กฎหมายน้ำ และเทคโนโลยีการจัดการน้ำ เป็นต้น ซึ่งผลการศึกษาวิจัยยังพบว่า การนำข้อมูลมาใช้ให้เต็มประสิทธิภาพโดยอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่มีความสำคัญ และการนำแนวคิดความมั่นคงด้านน้ำของธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เข้ามาประยุกต์ใช้ จะช่วยในการวางแผนยุทธศาสตร์เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำของประเทศ
“การจะนำแนวคิดการจัดการน้ำมาใช้ในการประเมินวางแผนและจัดลำดับความสำคัญเพื่อการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพได้นั้น จะต้องพิจารณาให้ครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งในระดับครัวเรือน ชุมชน เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติ และการบริหารจัดการ เรื่องของข้อมูลเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจในการวางแผนบริหารจัดการน้ำที่จะทำให้เราสามารถจัดการกับสถานการณ์น้ำต่างๆ ไม่ว่าน้ำท่วม น้ำแล้ง หรือน้ำขาด ในปัจจุบันข้อมูลจากดาวเทียมซึ่งทั่วโลกมีนำมาใช้ประโยชน์มากขึ้น อาทิ การติดตามพื้นที่น้ำท่วม การติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง และการประมาณปริมาณฝนจากข้อมูลดาวเทียม”
ข้อดีของข้อมูลจากดาวเทียม คือ มีความครอบคลุมพื้นที่กว้าง มีความต่อเนื่อง เป็นระบบ และมีความละเอียดในเชิงพื้นที่ และเป็นข้อมูลแบบ near real time จึงควรใช้ข้อมูลจากดาวเทียมนี้มาเสริมข้อมูลจากสถานีตรวจวัดหรือเรดาร์ที่ติดตั้งเป็นจุดๆ ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลที่ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น ลดความคลาดเคลื่อนที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในบางพื้นที่ที่ยังไม่มีการติดตั้งสถานีตรวจวัด เช่น ในพื้นที่ภูเขา ในทะเล หรือในพื้นที่ที่เข้าถึงยาก ไม่สามารถติดตั้งสถานีตรวจวัดได้
ปัจจุบันเทคโนโลยีการสำรวจด้วยดาวเทียมที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการน้ำ เช่น องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) มีการนำดาวเทียมมาใช้ติดตามและคาดการณ์เรื่องน้ำท่วม กรณีประเทศเกาหลีใต้ที่มีการใช้
ข้อมูลดาวเทียมในการติดตามและคาดการณ์สถานการณ์ภัยแล้งในประเทศ นำไปสู่การพัฒนาระบบคาดการณ์ภัยแล้ง แบ่งเป็นการคาดการณ์ในระยะสั้น 1-3 เดือน ระยะกลาง 4-6 เดือน และระยะยาวในช่วงฤดูกาล ขณะที่ GISTDA – สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ของไทย ใช้ข้อมูลดาวเทียมร่วมกับข้อมูลการเกษตรในการจัดทำการบริหารจัดการความเสี่ยงภาคเกษตรด้วยเทคโนโลยีอวกาศ
“ การนำข้อมูลจากดาวเทียมเข้ามาใช้ประโยชน์ จะช่วยในการติดตามและคาดการณ์สถานการณ์น้ำได้ เช่น ในกรณีการเพาะปลูก สามารถใช้ข้อมูลจากดาวเทียมในการวิเคราะห์ ระยะการเติบโตของพืช และนำมาประมวลร่วมกับข้อมูลจากสภาพภูมิอากาศและความชื้นในดิน เพื่อประมาณความต้องการใช้น้ำของพืช ก็จะช่วยเรื่องเวลาและปริมาณที่จะจัดสรรน้ำในช่วงที่พืชต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือในกรณีน้ำท่วม ข้อมูลปริมาณฝนตกในพื้นที่ต้นน้ำหรือภูเขาอาจมีข้อมูลจำกัด หากนำข้อมูลดาวเทียมมาช่วยประเมินปริมาณฝนที่ตกในบริเวณดังกล่าวได้จะทำให้เราประเมินสถานการณ์ และสามารถคาดการณ์ปริมาณน้ำในแต่ละจุดที่สำคัญๆได้ดียิ่งขึ้น”
ดร.ปิยธิดา กล่าวว่า นอกจากการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมแล้ว แนวคิดการจัดการน้ำในกระแสโลกใหม่ และที่มีการนำมาใช้กันทั่วโลก โดยเฉพาะแนวคิดความมั่นคงด้านน้ำ ซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งในร่างยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี โดยใช้กรอบแนวคิดความมั่นคงด้านน้ำ ที่พัฒนาขึ้นโดยธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) มาประยุกต์ใช้ในการประเมินสถานะความมั่นคงด้านน้ำของไทยในระดับลุ่มน้ำ และระดับจังหวัด เพื่อสะท้อนให้เห็นภาพข้อมูลในเชิงพื้นที่และเวลาแบบต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยในการติดตามและวางแผนเพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำของไทยได้ครอบคลุมทุกภาคส่วนมากขึ้น
สำหรับดัชนีความมั่นคงด้านน้ำ หรือ Water Security Index ที่พัฒนาโดย ADB ได้ถูกนำมาใช้เป็นแนวทางในการประเมินสถานะความมั่นคงของน้ำในระดับประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียและแปรซิฟิก เพื่อสะท้อนความมั่นคงด้านน้ำ 5 ด้าน ประกอบด้วย 1) ความมั่นคงด้านน้ำเพื่อครัวเรือน 2) ความมั่นคงด้านน้ำเพื่อเศรษฐกิจ 3) ความมั่นคงด้านน้ำเพื่อชุมชนเมือง 4) ความมั่นคงด้านน้ำเพื่อสิ่งแวดล้อม และ 5) ความมั่นคงด้านน้ำเพื่อให้สามารถรับมือและฟื้นตัวจากภัยพิบัติด้านน้ำได้ ดังนั้น การนำมาใช้กับไทยจึงต้องมีการประยุกต์ เพื่อให้ดัชนีชี้วัดนี้มีความสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศและความต้องการในการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม แนวคิดการจัดการน้ำในกระแสโลกใหม่ ยังมีเรื่องของความเชื่อมโยงระหว่างทรัพยากร โดยเฉพาะการจัดการน้ำโดยคำนึงถึงความเชื่อมโยงระหว่างน้ำ-พลังงาน-อาหาร (Water-Energy-Food Nexus) ซึ่งเป็นแนวโน้มการจัดการน้ำในกระแสโลกใหม่ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ รวมทั้งกลไกกับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ มีการกำหนดเป้าหมายระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อใช้เป็นเครื่องมือควบคุมและบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปอย่างรอบคอบและเหมาะสมในทุกสถานการณ์ได้ ปัจจุบันได้บรรจุไว้แล้วในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี