เครือข่ายแพทย์แผนไทยประชุม
ดันกัญชาใช้รักษาประคับประคอง
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์ระจิต อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม เรื่องการรักษาแบบประคับประคอง กับกัญชาการแพทย์ในการแพทย์แผนไทย จัดโดยสมาคมแพทยอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย มีแพทย์และบุคลากรการแพทย์ ๒๐๐ คน จากโรงพยาบาลในส่วนภูมิภาคทุกสังกัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน ณ กระทรวงสาธารณสุข ชี้ไทยมีความพร้อมผลักดันนำกัญชาใช้ทางการแพทย์ทันทีเมื่อกฎหมายอนุญาต ด้านการยาสูบฯมีเกษตรกรเครือข่ายพร้อมปลูกและรพ.สามารถทดลองยาในกลุ่มผู้ป่วยจริงได้ทันที
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า Palliative Care & Medical Cannabis in Thai Traditional Medicine หรือการรักษาแบบประคับประคอง กับกัญชาการแพทย์ในการแพทย์แผนไทย เป็นประโยชน์ของชาติที่การแพทย์ไทยได้รับจากภูมิปัญญาสั่งสมของบรรพบุรุษไทยที่ได้สร้าง สังเกต บันทึก และวิเคราะห์ ติดตามผลในการดูแลรักษาผู้ป่วยสืบทอดกันมาถึงรุ่นของเราในปัจจุบัน โดยเฉพาะตำรับยาแผนไทยที่เข้ากัญชาซึ่งใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยตั้งแต่ก่อนเก่า ลำดับได้ถึงยุคพระบาทสมเด็จพระนารายณ์ คือ โอสถพระนารายณ์ เป็นต้น
ในสถานการณ์ปัจจุบันที่สังคมไทยมีผู้ป่วยที่อยู่ในระยะท้ายของชีวิต หรือผู้ที่อยู่ในภาวะรักษาได้จำกัดในระบบการแพทย์แบบ conventional western medicine เพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่ารวดเร็ว ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะลุกลาม โรคไตวาย โรคตับอักเสบเรื้อรัง โรคเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อน โรคของสมองและระบบประสาท โรคหัวใจและระบบไหลเวียนโลหิต เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องแวะเวียนเข้าออกโรงพยาบาลเสมอๆ กระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและผู้ดูแล หากการแพทย์แผนไทยที่มีตำรับยาเข้ากัญชาสามารถช่วยเหลือบรรเทาอาการป่วยได้ในด้านของการบรรเทาปวด การเบื่ออาหาร และการประคับประคองอาการป่วยอื่นๆได้ตามสมควร จะยังประโยชน์ให้แก่ผู้ป่วยและผู้เกี่ยวข้องได้ดียิ่งขึ้น กับทั้งลดการสูญเสียด้านอื่นๆที่ประกอบกัน
นอกจากนี้มีงานวิจัยในการแพทย์แผนปัจจุบันพบว่า ยาฐานชีวภาพที่ได้จากพืชสมุนไพรหลายชนิดนั้น ได้รับการพัฒนาเป็นยาแผนปัจจุบันที่ตัวยาสำคัญซึ่งได้จากพืชนั้น มีความเสถียรคงที่ มีความเข้มข้นที่ชัดเจน สามารถใช้ในการบริหารยาที่ดีขึ้นได้ อันจะยังประโยชน์ต่อพัฒนาการของการรักษาผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้น
โดยเฉพาะสารเคมีในพืชกัญชาที่นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบสารดังกล่าว และให้ชื่อว่า cannabinoids ได้แก่ THC, CBD, CBG, CBN, CBL etc. ได้สร้างปรากฏการณ์ของการวิจัยทางคลินิกในการใช้สารดังกล่าว เพื่อการรักษาโรคต่างๆ รวมกว่า 10,000 ชิ้นในของเขตทั่วโลก
สำหรับประเทศไทยมีการใช้กัญชาในตำรับยาแผนไทยที่มีชื่อเสียงในการช่วยดูแลรักษาอาการป่วยในกลุ่มโรคผู้ป่วยที่ต้องมีการรักษาแบบประคับประคองมาช้านาน หากได้มีการพัฒนาเพื่อนำไปใช้ในกลุ่มผู้ป่วยของระบบบริการทางการแพทย์ปัจจุบันเพิ่มเติมจากที่เป็นอยู่ จะได้ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบสุขภาพ และยังประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว ขณะเดียวกันถ้ามีการค้นหาโจทย์วิจัยที่ยังเป็นช่องว่างในการรักษาผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวอย่างไร เราควรที่จะจัดให้มีการวิจัยและพัฒนาสืบไป
“กระผมหวังว่าการประชุมนี้ จะส่งเสริมการร่วมมือกันในทางวิชาการและการวิจัยด้านกัญชาการแพทย์ในแพทย์แผนไทย เพื่อการรักษาผู้ป่วยแบบประคับประคอง และอาจรวมถึงการรักษาที่สาเหตุของโรคต่อๆไปได้หากสามารถไปถึงได้ ทั้งนี้เพื่อสร้างสรรค์งานวิชาการและการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับกัญชาการแพทย์ในการแพทย์แผนไทย ก้บทั้งเป็นการเพิ่มความสามารถในด้านการแพทย์ของประเทศ อันจะยังประโยชน์สุขโดยรวมให้ประชาชนได้ทั่วกัน”
นางสาวดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ ผู้ว่าการ การยาสูบแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า การนำพืชควบคุมหรือถูกมองว่าเป็นสิ่งเสพติดมาใช้ในทางการแพทย์ หากมีการควบคุมดูแลที่ดีตั้งแต่การปลูก ไปจนถึงแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ จะเป็นประโยชน์อย่างมาก ซึ่งไทยมีความพร้อม โดยการยาสูบฯมีเกษตรกรเครือข่ายที่มีความเชี่ยวชาญพร้อมปลูกและมีนักวิจัยที่มีความรู้ความสามารถมาช่วยผลักดันสู้เป้าหมายได้ นั่นคือ เพื่อประโยชน์ของประชาชนคนไทยเป็นสำคัญ
ทั้งนี้กัญชา ปัจจุบันจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ตาม พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และประเทศไทยอยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติดังกล่าวให้ใช้ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 เพื่อการรักษาโรค หรือ เพื่อการศึกษาวิจัยได้ โดยขณะนี้มีกฎหมาย 6-7 ประเภทอยู่ในขั้นการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) คาดว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 และออกเป็นกฎกระทรวงได้ราวเดือนพฤษภาคม 2562 ซึ่งระหว่างที่รอกฎหมาย ในภาคปฏิบัติได้ทำคู่ขนานกันไป
ด้านนพ.สมนึก ศิริพานทอง กรรมการสมาคมเซลล์บำบัดไทย(กลาง) กล่าวว่า ปัจจุบันที่ทราบกันนั้น กัญชาช่วยรักษาได้หลายโรค โดยเฉพาะโรคมะเร็ง ซึ่งการวิจัยพบว่า สารจากกัญชามีฤทธิ์ทำให้เซลล์มะเร็งตายได้ โดยปัจจุบันมีผู้ป่วยประมาณ 120,000 คนต่อปี เสียชีวิตประมาณ 70,000 คน ถ้าเรามีพืชกัญชามาใช้เป็นสมุนไพร ราคาไม่แพงมาก จะเป็นประโยชน์มาก
การนำกัญชาใช้ทางการแพทย์นอกจากเน้นที่โรคมะเร็งแล้ว ยังเน้นโรคเรื้อรังเช่น โรคสะเก็ดเงิน ที่พบว่า ใช้กัญชาได้ผล ส่วนอีกกลุ่มที่การแพทย์สนใจคือ โรคระบบประสาท โรคลมชัก อัลไซเมอร์
“อย่างไรก็ตามกัญชาสามารถรักษาได้มากกว่ากลุ่ม 3 โรคดังกล่าว โดยในการวิจัยสมัยใหม่ที่เริ่มเมื่อ 8 ปีที่แล้วพบว่า กัญชาสามารถรักษาโรคลมชัก โรคปลอกประสาทอักเสบและแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน แต่ในสมัย ร.3 มีการบันทึกประโยชน์จากกัญชาไว้ที่หลังวัดโพธิ์และสมัยร.5 โดยสรุปแล้วกัญชาในตำราแพทย์แผนไทยมีอยู่มากกว่า 90 ตำรับ”
พญ.พันธ์ทิพย์ เจริญวงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนเบญจกิติ เฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา การยาสูบแห่งประเทศไทย(กลาง) เปิดเผยว่า เรามีความยินดีที่จะมีส่วนร่วมในการผลักดันใช้กัญชาทางการแพทย์ โดยทางรพ.เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ทำวิจัยร่วมกับหลายสถาบันเพื่อศึกษากับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้สารจากกัญชาในการรักษา เช่น กลุ่มPalliative Care กลุ่มที่มีความเจ็บปวดและผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งการวิจัยจะช่วยให้ทราบขนาดการใช้ยาหรือสารสกัดจากกัญชาเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วยกลุ่มนี้
ตอนนี้เรามีการผลิตยาต้นแบบไว้บ้างแล้ว เตรียมพร้อมรอกฎหมายให้สามารถทดลองกับคนไข้ได้ ก็พร้อมจะทดลองได้ทันที คาดว่าไม่เกิน 1 ปี แต่จะศึกษากับผู้ป่วยโรคไหนจะมีคณะกรรมการพิจารณาก่อน
ส่วนการปลูกกัญชานั้นได้ขออนุญาตให้เกษตรกรทดลองปลูกเพื่อเป็นการทดแทน หลังจากตลาดยาสูบปรับลดลง และหากกฎหมายอนุญาตให้ปลูกได้ ก็สามารถให้เกษตรกรในเครือข่ายที่มีอยู่ประมาณ 50,000 คนทั่วประเทศสามารถปลูกได้เลย ใต้สภาวะแวดล้อมแบบควบคุม