SME Development Bank เดินหน้าติดปีก “เกาะพิทักษ์” จ.ชุมพร ปลุกกระแสต้นแบบการท่องเที่ยวชุมชนเชิงคุณภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ชูมาตรฐาน การดูแลที่ดีจากกลุ่มผู้ประกอบการในท้องถิ่น มีเครือข่ายโฮมสเตย์ไม่ต่ำกว่า 30 ครัวเรือน มีเป้าหมายเดียวกัน คือ ทำธุรกิจยึดหลักธรรมาภิบาล บริหารจัดการยึดหลักโต โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม รองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวตลาดบน สร้างรายได้เพิ่มสู่ชุมชนเติบโตยั่งยืน ธพว. ลุยให้คำแนะนำปรับปรุงโฮมสเตย์ พร้อมเติมทุน เพื่อยกระดับมาตรฐานทุกด้าน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวได้เพิ่มขึ้น ขยับราคาค่าห้องพักเพิ่มและมีรายได้เพิ่มอีก50%
นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank) หรือ ธพว. กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจท่องเที่ยวมีความสำคัญอย่างมาก สามารถสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศจำนวนมหาศาล โดยพื้นที่ภาคใต้ เป็นที่นิยมของกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ ทั้งในและต่างประเทศ ธนาคารจึงมุ่งเข้าไปพัฒนาผู้ประกอบการในพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ เพื่อยกระดับมาตรฐานรองรับลูกค้ากลุ่มดังกล่าว โดย ‘เกาะพิทักษ์’ อ.หลังสวน จ.ชุมพร เป็นหนึ่งในโมเดลที่ธนาคารได้เข้าไปต่อยอดขึ้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงคุณภาพสูง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้เพิ่ม และพัฒนาชุมชนให้เติบโตอย่างยั่งยืน ปลุกกระแสกระจายไปยังชุมชนอื่นๆ ต่อไป
“จุดแข็งของเกาะพิทักษ์ คือ อยู่ใกล้ชายฝั่ง นักท่องเที่ยวสามารถนั่งเรือโดยสารข้ามฝั่งไปยังเกาะใช้เวลาเพียง 10 นาที โดยเรือที่รับส่งนักท่องเที่ยว ได้มาตรฐานและมีการดูแลที่ดีจากกลุ่มผู้ประกอบการในท้องถิ่น ทำให้ไม่เกิดปัญหาการเอาเปรียบนักท่องเที่ยว และบนเกาะพิทักษ์มีเครือข่ายโฮมสเตย์ไม่ต่ำกว่า 30 ครัวเรือน ที่มีเป้าหมายเดียวกัน คือ การทำธุรกิจโดยยึดหลักธรรมาภิบาล บริหารจัดการโดยยึดหลักเติบโตโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและไม่เอาเปรียบธรรมชาติ ดังนั้น ธนาคารเข้าไปสนับสนุน เพื่อผลักดันเกาะพิทักษ์เป็นต้นแบบการท่องเที่ยวชุมชนเชิงคุณภาพรับลูกค้าตลาดบน” นายมงคล กล่าว
ทั้งนี้ ธนาคารส่งทีมงานลงพื้นที่ทำงานเชิงรุก ให้ความรู้ควบคู่การพัฒนาอย่างเป็นกระบวนการเน้นการเติบเต็มใน 3 ด้าน คือ 1.เตรียมความพร้อมเข้าถึงแหล่งทุน ผลักดันทำบัญชีเบื้องต้นรองรับการขอสินเชื่อในอนาคต 2. ให้คำแนะนำทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ เน้นปรับโฉมโฮมสเตย์ทันสมัยและมีมาตรฐานรองรับจำนวนกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพทั้งในและต่างประเทศ และ 3.ยกระดับสินค้าชุมชนให้มีมาตรฐาน เช่น ได้มาตรฐาน อย. พัฒนาบรรจุภัณฑ์ ให้สวยงาม ทันสมัย เหมาะเป็นของฝาก
นายมงคล กล่าวเพิ่มเติมว่า ธพว.ได้ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง แสดงจุดยืนอย่างชัดเจน พร้อมเป็นสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนา จนเมื่อถึงระดับที่ผู้ประกอบการเข้มแข็งแล้ว และหากสนใจแหล่งเงินทุนต่อยอดธุรกิจ ธนาคารจึงช่วยเติมทุน ผ่านสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ เช่น สินเชื่อเศรษฐกิจติดดาว สำหรับบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล อัตราดอกเบี้ย 3% คงที่ 3 ปีแรก ผ่อนนาน 7 ปี และ สินเชื่อเถ้าแก่ 4.0 จากกระทรวงอุตสาหกรรม สำหรับนิติบุคคล คิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 1% คงที่ตลอดระยะเวลา 7 ปี โดยข้อมูล ณ วันที่ 16 สิงหาคม 2561 มีผู้สนใจยื่นขอรับบริการสินเชื่อถึง 22 ราย ประกอบธุรกิจบ้านพักและโฮมสเตย์ 17 ราย ธุรกิจร้านค้าปลีก-ของฝากและของที่ระลึก 3 ราย และธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารทะเลแปรรูป 2 ราย วงเงินสินเชื่อรวม 13 ล้านบาท เฉลี่ยสินเชื่ออนุมัติต่อราย 6 แสนบาท
นายอำพล ธานีครุฑ หรือ “ผู้ใหญ่หรั่ง” ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 14 บ้านเกาะพิทักษ์ ต.บางน้ำจืด อ.หลังสวน จ.ชุมพร ในฐานะนายกสมาคมการท่องเที่ยวโดยชุมชน จ.ชุมพร และนายกสมาคมการท่องเที่ยวโดยชุมชน ใน 14 จังหวัดภาคใต้ กล่าวว่า เกาะพิทักษ์ได้รับรางวัล “หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV)” ด้วยการน้อมนำศาสตร์พระราชายึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ ร่วมกับการบริหารจัดการพื้นที่อย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการขยะ ลดใช้ถุงพลาสติก คัดเลือกกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพเพื่อกระทบกับธรรมชาติให้น้อยที่สุด ดังนั้น นักท่องเที่ยวที่มาพักบนเกาะพิทักษ์จึงเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ เช่น ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ กลุ่มยุโรปและสแกนดิเนเวีย โดยมีโฮมสเตย์ สามารถรองรับเข้าพักได้ประมาณ 300-400 คนต่อวัน
“ปัจจุบัน โฮมสเตย์ที่เกาะพิทักษ์คิดค่าบริการเข้าพัก 800 บาทต่อคนต่อวัน (รวมที่พัก อาหาร 3 มื้อ และเรือรับส่ง) เมื่อ ธพว. มาแนะนำการปรับปรุงโฮมสเตย์ พร้อมเติมทุน เพื่อยกระดับมาตรฐานทุกด้านแล้ว จะรองรับนักท่องเที่ยวได้เพิ่มขึ้น และขยับราคาค่าห้องพักเพิ่มเป็น 1,000-1,200 บาทต่อคนต่อวัน หรือเฉลี่ย 30 ครัวเรือนจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดือนละ 50,000-60,000 บาทต่อเดือน เพิ่มเป็น 80,000-90,000 บาทต่อเดือน หรือเพิ่มขึ้นกว่า 50% ซึ่งยังไม่รวมรายได้ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นอาหารทะเลแปรรูป สินค้าเกษตรแปรรูป การเข้ามาส่งเสริมของ ธพว.ครั้งนี้ถือว่าได้ช่วยเหลือและตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการท้องถิ่นมาก” นายอำพล กล่าว
ขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก-การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานชุมพร-http://review.tourismthailand.org