กรมหม่อนไหมยกระดับผู้ต้องขังหญิง
เปิดโรงทอผ้าไหมเรือนจำที่แรกไทย
เพื่อเป็นการสืบสานและอนุรักษ์อาชีพปลูกหม่อนและเลี้ยงไหม กรมหม่อนไหมได้ร่วมมือกับกรมราชทัณฑ์ ในการฝึกวิชาชีพการทอผ้าไหมและผ้าฝ้ายให้กับผู้ต้องขังหญิง โดยตั้งโรงงานทอผ้าไหมในเรือนจำแห่งแรกในประเทศไทย เพื่อให้เป็นวิชาชีพติดตัวสร้างรายได้หลังพ้นโทษ เพื่อเตรียมพร้อมในการสนับสนุนคนดีคืนสู่สังคมในอนาคตและมีอาชีพหลักติดตัวออกไปเพื่อเลี้ยงตนเองและครอบครัว
นางสุดารัตน์ วัชรคุปต์ เหล่าวิชยา อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า กรมหม่อนไหมร่วมมือกับกรมราชทัณฑ์ จัดโครงการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแก่ผู้ต้องขังก่อนการปลดปล่อย โดยมีเป้าหมายส่งเสริมให้ผู้ต้องขังชายและหญิงในเรือนจำเขตภาคเหนือ ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้า เพื่อเป็นแนวทางสร้างอาชีพและสร้างรายได้หลังพ้นโทษ ประกอบด้วย เรือนจำชั่วคราวเขาน้อย ตำบลไชยสถาน อำเภอเมือง จังหวัดน่านทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ เรือนจำชั่วคราวห้วยม้า ตำบลห้วยม้า อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ เรือนจำกลางจังหวัดตาก และเรือนจำชั่วคราวร่องห้า สังกัดเรือนจำจังหวัดพะเยา ขณะนี้มีผู้ต้องขังในเรือนจำเข้าร่วมโครงการคืนคนดีสู่สังคมในส่วนของการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้า
โดยการมอบหมายให้ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่ เข้ามาส่งเสริมให้ผู้ต้องขังเรียนรู้เกี่ยวกับการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ปลูกหม่อนผลสด สาวเส้นไหม ฟอกย้อมสีเส้นไหม ทอผ้าไหมยกดอก และแปรรูปผลิตภัณฑ์ หลายอย่าง อาทิ ชาหม่อน แปรรูปหม่อนผล ผลิตรังไหมสดเพื่อจำหน่าย เป็นต้น ตั้งแต่ปี 2545 เพื่อให้เรือนจำที่มีพื้นที่ว่างเพียงพอ กรมฯจะเข้าไปส่งเสริมความรู้การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมอย่างครบวงจร
ส่วนเรือนจำที่มีพื้นที่จำกัดและไม่มีพื้นที่ปลูกหม่อน เช่น ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ก็จะส่งเสริมความรู้ด้านการฟอกย้อมสีเส้นไหม และการทอผ้าพื้นและผ้าไหมยกดอกผล
ผลปรากฏว่า ผู้ต้องขังสามารถที่จะทอผ้าพื้นและผ้าไหมยกดอกลำพูนได้งดงาม จนได้รับเครื่องหมายรับรองตรานกยูงพระราชทาน ซึ่งเป็นสิ่งที่รับรองคุณภาพของผ้าไหมได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันผู้บริโภคมีความต้องการสูงแต่ผลิตได้ไม่พอขาย อนาคตมีแผนขยายผลโครงการฯไปสู่เรือนจำในจังหวัดลำพูนด้วย
สำหรับแผนส่งเสริม “ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่” กรมหม่อนไหมได้ปัจจัยการผลิตในการทอผ้า ภายใต้ “โครงการกำลังใจในพระดำริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ในการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในเรือนจำ” ซึ่งก่อนหน้านี้กรมหม่อนไหมได้เข้ามาสร้างองค์ความรู้ในการออกแบบลวดลายผ้า โดยเฉพาะการทอผ้ายกดอก รวมถึงการเลือกใช้สีให้เหมาะสม
สำหรับหลักสูตรนำมาสอน เป็นผลิตภัณฑ์ผ้าไหมยกดอกลำพูน ทุกผืนจะได้รับตราสัญลักษณ์นกยูงพระราชทานของกรมหม่อนไหม เป็นการรับรองมาตรฐานคุณภาพของผ้าไหมที่ผ่านการทอจากทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ เพื่อนำออกไปจำหน่าย ราคาเริ่มต้นที่ 2,500 บาท ไปจนถึงหลายหมื่นบาท ขึ้นอยู่ลวดลายและการทอ โดยกรมหม่อนไหม และภาคเอกชน ได้นำกี่ทอผ้าไหม 32 ตัว //กี่ทอผ้าฝ้าย 8 ตัว พร้อมอุปกรณ์มอบให้กับทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ใช้ฝึกอาชีพให้กับผู้ต้องขัง เพื่อเป็นวิชาชีพติดตัวหลังพ้นโทษ โดยทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่เป็นแห่งแรกที่นำการทอผ้าไหมและผ้าฝ้ายเข้ามาฝึกอาชีพ
“การทอผ้าไหมในเรือนจำ เป็นกิจกรรมหนึ่งของโครงการกำลังใจฯ เพื่อช่วยฟื้นฟูสมาชิกภายในเรือนจำ ฝึกสมาธิ สร้างรายได้ โดยกรมหม่อนไหมได้นำองค์ความรู้ต่างๆ มาช่วยสนับสนุน และพัฒนาในด้านต่างๆ จนสามารถคิดค้นลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ และได้รับการจดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้วจำนวน 5 ลาย ได้แก่ ลายบัวบูชา ลายมงกุฎแก้ว ลายยิ้มสยาม ลายนารีสานฝัน และลายรมิตรา” อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าว
ส่วนความร่วมมือระหว่างกรมหม่อนไหมและทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ในการถ่ายทอดความรู้ด้านการทอผ้ายกดอกลำพูน จัดอบรมในเรื่องของการเข้าหัวม้วนผ้าไหม ภายใต้โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ในการทอผ้าไหมให้แก่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่
นอกจากนี้ในปีงบประมาณ 2561 ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เชียงใหม่ ได้รับงบประมาณจากโครงการส่งเสริมอาชีพด้านหม่อนไหมสำหรับผู้ชรา ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส จำนวน 338,000 บาท ได้ดำเนินการอบรมหลักสูตรการออกแบบและทอผ้าไหม ให้แก่ผู้ต้องขัง เป้าหมายจำนวน 10 ราย ซึ่งอบรมในช่วง 30 พฤษภาคม – 14 มิถุนายน 2561ที่ผ่านมา โดยมีผู้ต้องขังเข้าร่วมฝึกอบรมจำนวน 32 ราย โดยในช่วงแรกของการฝึกอบรมเป็นการให้ความรู้เรื่องการให้สีบนผืนผ้าไหม ซึ่งผู้เข้าร่วมอบรมได้ฝึกปฏิบัติการให้สีลงบนผืนผ้าไหมโดยใช้เส้นยืนและเส้นพุ่งสีต่างๆ กัน ซึ่งจะช่วยให้ผู้เข้าร่วมอบรมออกแบบสีผ้าไหมได้ดียิ่งขึ้น โดยมีวิทยากรจากกรมหม่อนไหม นายสุรเดช ธีระกุล นักวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์ชำนาญการ เป็นผู้บรรยายและนำฝึกปฏิบัติ
ส่วนในช่วงที่สองของการฝึกอบรมเป็นการให้ความรู้เรื่องการไล่สีบนผืนผ้าไหม และการอาบน้ำยาผ้าไหม ทำให้ผู้เข้าร่วมอบรมสามารถอาบน้ำยาผ้าไหมได้เอง และเพิ่มมูลค่าผ้าไหมที่มีตำหนิให้สูงขึ้นได้จากการให้สีลงบนผืนผ้าไหม โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญในการทอผ้าไหมยกดอกลำพูน มาฝึกอบรมแก่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ โดยทางทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ต้องการ เส้นไหมสีเหลือง และสีฟ้า ทั้งเส้นพุ่งเส้นยืน และอุปกรณ์ในการไล่สีผ้าไหม รวมถึงอุปกรณ์ในการอาบน้ำยาผ้าไหม ซึ่งทางศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เชียงใหม่
ด้านนางบุษบา ศักรางกูร ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันทางทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่มีฝ่ายฝึกวิชาชีพ ทำหน้าที่วางแผนและดำเนินการฝึกวิชาชีพแก่ผู้ต้องขัง ให้สอดคล้องกับวัตถุดิบที่มีอยู่ในพื้นที่ตามความต้องการของตลาดและความถนัดของผู้ต้องขัง พัฒนาทักษะด้านการฝึกวิชาชีพประเภทต่าง ๆ ของผู้ต้องขัง เตรียมความพร้อมด้านวิชาชีพให้ผู้ต้องขังใกล้พ้นโทษ การจัดหาวัตถุดิบ การตลาด และการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์แบบครบวงจร ขณะนี้ผู้ต้องขังสามารถทอผ้าไหมยกดอกลำพูนได้แล้ว ซึ่งนอกจากจะเน้นด้านรายได้แล้วยังมุ่งเน้นส่งเสริมและรักษาเอกลักษณ์ผ้าไหมลายต่างๆ เช่น ผ้าไหมยกดอกลำพูนให้สืบทอดคงอยู่ต่อไปอีกด้วย