เนคเทค-สวทช.พานศ.แข่งเวทีจีน
ทีมมธ.แชมป์นวัตกรรมเพื่อคนแก่
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประกาศความสำเร็จทีมนักศึกษาของประเทศไทย (Global Student Innovation Challenge: gSIC) ในงาน ประชุมวิชาการนานาชาติฯ i-CREATe 2018 ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-16 กรกฎาคม 2561 ซึ่ง มีสิ่งประดิษฐ์ระดับนักศึกษาจาก 7 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐสิงคโปร์ สหพันธรัฐเยอรมัน ประเทศอินเดีย และประเทศญี่ปุ่น รวม 45 ผลงาน ผ่านการคัดเลือกและเข้าร่วมการประกวดในรอบชิงชนะเลิศ โดยการประกวดแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทผลงานด้านการออกแบบนวัตกรรมสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ (DesignCategory) และประเภทผลงานด้านสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ (Technology Category) พร้อมส่งเสริมกลุ่มนวัตกรรุ่นใหม่ด้านเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก (Assistive Innovation Startup Group)
ดร.ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม รองผู้อำนวยการเนคเทค กล่าวว่า ในปี พ.ศ.2561 เนคเทค ร่วมกับกลุ่มความร่วมมือด้านวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกแห่งเอเชีย (Coalition onRehabilitation Engineering & Assistive Technology of Asia หรือ CREATe Asia) จัดงานประชุมวิชาการนานาชาติเรื่องวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก ครั้งที่ 12 ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 14-16 กรกฎาคม 2561 ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสวทช.
ผลการประชุมสรุปได้ว่า มีผู้เข้าร่วมงานรวม 510 คน จาก 18 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น เดนมาร์ก ไทย ไต้หวัน นิวซีแลนด์ สวิสเซอร์แลนด์ สหพันธรัฐเยอรมัน สหรัฐอเมริกา สเปน สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐสิงคโปร์ ออสเตรเลีย อังกฤษ อิตาลี อินเดีย อิสราเอล และฮ่องกง มีการแสดงปาฐกถา 5 หัวข้อ มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการและการบรรยายพิเศษ 17 หัวข้อ มีบทความนำเสนอ 73 เรื่อง เป็นบทความจากประเทศไทย 8 เรื่อง และการประกวดสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุของนักศึกษาระดับนานาชาติ 45 โครงงาน ซึ่งเป็นโครงงานจากประเทศไทย 9 โครงงาน
ส่วนการประกวดสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุของนักศึกษาระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทุกคน ให้ความสนใจ เพราะเป็นเวทีที่มุ่งเน้นการสร้างโอกาสให้นักศึกษาได้แสดงศักยภาพการนำเสนอแนวคิดในการแก้ไขปัญหา และสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก และนำเสนอผลงานต่อภาคอุตสาหกรรม ผู้เชี่ยวชาญ และบุคลากรจากหลากหลายวิชาชีพ ซึ่งจะเป็นสะพานเชื่อมต่อให้เกิดการทำงานเป็นเครือข่ายกับผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้องต่อไป ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานรางวัลแก่นักศึกษาเป็นประจำทุกปี นับเป็นขวัญและกำลังใจแก่บรรดาเหล่าทีมนักศึกษาที่ได้รับรางวัลเป็นอย่างยิ่ง
ในปีนี้ทีมนักศึกษาไทยได้รับรางวัลทั้งสิ้น 8 รางวัล จากทั้งหมด 25 รางวัล มีรายละเอียดดังนี้
รางวัลประเภทผลงานด้านสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ
• รางวัลเหรียญทอง ได้แก่ โครงงาน “Automatic Walker for the Elderly using by Microcontroller” โดยทีมนักศึกษาสาขาวิชาไฟฟ้ากำลัง วิทยาลัยวังน้ำเย็น
• รางวัลชมเชย ได้แก่ โครงงาน “SoundSense” โดยทีมนักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
• รางวัลนำเสนอดีเด่น ได้แก่ โครงงาน “SueSan: A Game–based Tool for Enhancing Autism Children’s Communication Skill” โดยทีมนักศึกษาภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล
• รางวัลความคิดสร้างสรรค์ ได้แก่ โครงงาน “Develop Thai Braille’s translator program and Development Braille’s font in Thai and English language โดย นักเรียนสาขาวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ชลบุรี
• รางวัลความเป็นไปได้ทางการตลาดดีเด่น ได้แก่ โครงงาน “Automatic Walker for the Elderly using by Microcontroller” โดยทีมนักศึกษาสาขาวิชาไฟฟ้ากำลัง วิทยาลัยวังน้ำเย็น
รางวัลประเภทผลงานด้านการออกแบบนวัตกรรมสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ
ทีมนักศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งส่งเข้าแข่งขัน 3 ทีมสามารถคว้ารางวัลมาได้ 3 รางวัลได้แก่
• รางวัลเหรียญทอง ได้แก่ โครงงาน “EZStand Walker” โดยทีมนักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผลงาน EZ Stand Walker เป็นอุปกรณ์ช่วยพยุงเดิน (Walker) ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้การลุกยืนของผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่ผ่านการผ่าตัดข้อเข่า ข้อสะโพก ที่มีปัญหาด้านการลุกยืน ให้สามารถลุกยืนได้ง่าย คิดค้นและพัฒนาโดย นาย วรัตถ์ สิทธิ์เหล่าถาวร นาย ปัณฑ์ธร ตรีวัฒนา นายจิตวัต สนามชัย นางสาว ชนิญา เจริญคุณธรรม โดยมี ผศ.ดร. บรรยงค์ รุ่งเรืองด้วยบุญ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
แนวคิดในการสร้างผลงาน EZ Stand Walker (Easy Stand) มาจากการมองว่า ปัญหาของวอล์กเกอร์ที่มีขายตามท้องตลาดในปัจจุบัน ถูกออกแบบมาเพื่อการพยุงเดินเท่านั้น ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เหมาะสมเพื่อการลุกยืน โดย 70% ของผู้ที่ใช้งานวอล์กเกอร์จะมีปัญหาเรื่องการลุกยืน โดยการนำอุปกรณ์ที่ไม่เหมาะสมไปใช้ในการลุกยืนนั้นจะต้องใช้แรงที่มากในการดันตัวเพื่อลุกยืนและไม่มั่นคง จึงเสี่ยงต่อการหกล้ม ตัว EZ Stand จะใช้การดึงตัวร่วมกับการดันเข่า โดยวิธีนี้เป็นท่าทางที่ถูกต้องในการใช้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยซึ่งใช้แรงน้อย โดยอุปกรณ์ถูกออกแบบมาให้ครบทั้งการใช้งานที่จำเป็นทั้ง 2 ฟังก์ชัน คือ ช่วยลุกยืนและพยุงการเดิน
• รางวัลชมเชย ได้แก่ โครงงาน “Elliptical Trike” โดยทีมนักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
• รางวัลต้นแบบดีเด่น ได้แก่ โครงงาน “Tiny Urban Vehicle : TU–V” โดยทีมนักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นอกจากนี้ยัง ดร. ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า เนคเทคได้ดำเนินการร่วมกับคณะกรรมการภาคีวิศวกรรมชีวการแพทย์ จัดการส่งเสริมต่อยอดผลงานของนักศึกษาที่ได้เข้าร่วมประกวดสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุในงานประชุมวิชาการนานาชาติฯ i-CREATe ต่อเนื่องมาเป็นเวลา 11 ปี ตามแนวทางที่ ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ได้ให้ไว้เพื่อให้สามารถนำผลงาน ไปใช้ได้จริงจึงจะสร้างกลุ่มนวัตกรธุรกิจนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกขึ้น (Assistive Innovation Startup Group) โดยในปีนี้ จะได้รวบรวมผลงานไปต่อยอดเป็นธุรกิจนวัตกรรม และสามารถนำผลงานไปสู่สาธารณประโยชน์หรือภาคธุรกิจต่อไป