กลุ่มลูกเหรียงจัดมหกรรมเสียงเด็ก
ส่งเสียงสะท้อนปัญหาสู่ภาครัฐ
เพราะ เสียงของเด็กสำคัญเสมอ! กลุ่มลูกเหรียง จึงชวนน้องๆ เยาวชนมาร่วมเปร่งเสียงเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้กันที่งานมหกรรมเสียงเด็ก Children + Heroes + Safety = PEACE เมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน 2561 ณ หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา ตั้งแต่ เวลา 08.00 น. เป็นต้นไป
สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (กลุ่มลูกเหรียง) ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดงานมหกรรมเสียงเด็ก Children + Heroes + Safety = PEACE เพื่อเป็นพื้นที่ให้น้องๆ เยาวชนนำเสนอสถานการณ์และปัญหาที่ต้องเจอในพื้นที่สามจังหวัด ก่อนทุกข้อความจะถูกส่งมอบให้กับกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
ภายในงาน น้องๆ เยาวชนและผู้เข้าร่วมงาน ได้ฟังการปาฐกถาผู้ใหญ่ในหัวข้อ “การส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนชายแดนใต้” ในเวลา 09.30 น. และทอล์คโชว์ในหัวช้อ “Heroes Talk: Heroes For change: Make a Difference ส่งกอด เพราะความรักสามารถส่งต่อได้” โดยคุณวู้ดดี้ – วุฒิธี มิลินจินดา ระหว่างเวลา 14:45 – 15:45 น.
นอกจากนี้ยังมีพิธีมอบรางวัล HERO Award จากฮีโร่ในประเทศไทยให้กับเหล่าฮีโร่ของเด็กๆ ในพื้นที่ชายแดนใต้ จำนวน 6 รางวัล และมอบประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติให้กับโรงเรียนต้นแบบ จำนวน 39 โรงเรียน โดยมีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ผู้ใหญ่คนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการการเติบโตและเป็นผู้ให้สนับสนุนกลุ่มลูกเหรียงมาตลอด 16 ปีที่ผ่านมา เป็นประธานมอบรางวัล
ทั้งนี้กลุ่มลูกเหรียงเป็นองค์กรที่เติบโตจากการเป็นผู้สูญเสีย พัฒนาตนเองเพื่อดำเนินงานภายใต้ 3 ยุทธศาสตร์หลัก ด้านการปกป้องคุ้มครอง ด้านการช่วยเหลือเยียวยา และด้านการส่งเสริมพัฒนา เพื่อขับเคลื่อนงานด้านเด็กและเยาวชนในพื้นที่ชายแดนใต้ ตลอดการดำเนินงาน 16 ปีของการเติบโตขององค์กร ลูกเหรียงสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในระดับหนึ่ง และยังต้องส่งเสียงเพื่อให้เกิดมาตรการปกป้องคุ้มครองแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
ในระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2560 – เมษายน 2561 สมาคมฯ ได้ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่และคณะกรรมการสภานักเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอจากเด็กในพื้นที่ชายแดนใต้ กว่า 60 โรงเรียน เพื่อรวบรวมเป็นข้อเสนอฉบับเด็กชายแดนใต้ และจัดให้มีการประชุม Summit Meeting ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ข้อเสนอเพิ่มเติมต่อข้อเสนอฉบับเด็กชายแดนใต้ เพื่อมอบให้กับผู้แทนรัฐบาล เพื่อนำไปผลักดันการแก้ปัญหาต่อไป ซึ่งมีข้อเสนอหนึ่งในข้อเสนอฉบับนี้ นำเสนอโดยตรงต่อกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
งานนี้ มีเด็ก เยาวชน เจ้าหน้าที่จากสถาบันการศึกษา องค์กรด้านเด็ก องค์กรภาคประชาสังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวนมากกว่า 600 คนเข้าร่วมงาน