วช.ร่วมหน่วยงานพันธมิตร
ขับเคลื่อนโครงการ ‘ชุมชนไม้มีค่า’
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ กรมป่าไม้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (สพภ.) แถลงจัดทำ โครงการ “ชุมชนไม้มีค่า” หนุนประชาชนปลูกไม้มีค่าเพื่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ อีกทางเลือกเก็บออมและสร้างอาชีพที่มั่นคงยั่งยืนแก่ประชาชนฐานราก ร่วมบูรณาการขับเคลื่อนโครงการโดยนำองค์ความรู้ด้านการวิจัยและนวัตกรรมช่วย ทั้งปรับปรุงพันธุ์ไม้มีค่าให้มีลักษณะเฉพาะ การปรับปรุง แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พร้อมเร่งผลักดันให้เกิดผลตามนโยบายกลไกประชารัฐและไทยนิยมยั่งยืน ให้คนไทยปลูกไม้มีค่าในพื้นที่กรรมสิทธิ์และสามารถใช้ประโยชน์จากต้นไม้เป็นต้นทุนของครอบครัวได้
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๖๑ อนุมัติในหลักการให้ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการ “ชุมชนไม้มีค่า” โดยมอบหมายให้ วช. เป็นหน่วยงานหลัก ในการบูรณาการร่วมกับกรมป่าไม้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (สพภ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก ๑๑ หน่วยงาน ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สมาคมธุรกิจไม้ สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ กรมวิชาการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการ “ชุมชนไม้มีค่า” เพื่อสนับสนุนประชาชนให้ปลูกไม้มีค่าเพื่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นการเก็บออมและสร้างอาชีพที่มั่นคงยั่งยืนแก่ประชาชนฐานราก โดยการผลักดันกฎหมายและมาตรการต่าง ๆ ในการส่งเสริมให้มีการปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจในที่ดินกรรมสิทธิ์ หรือที่ดินที่มีสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญประการหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น
การดำเนินโครงการ “ชุมชนไม้มีค่า” เป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งทางด้านกฎหมาย, ด้านการเพาะพันธุ์ ขยายพันธุ์ และคัดกรองพื้นที่เป้าหมาย, ด้านการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อการสนับสนุนการปลูกและการใช้ประโยชน์ โดยมีกลไกการดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานหลัก ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ วช. ทำหน้าที่ขับเคลื่อนโครงการชุมชนไม้มีค่าโดยนำองค์ความรู้ด้านการวิจัยและนวัตกรรมที่มีอยู่ พร้อมทั้งให้มีการทำวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปรับปรุงพันธุ์ไม้มีค่าให้มีลักษณะเฉพาะที่สามารถตรวจสอบได้ รวมทั้งสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมเรื่องต่าง ๆ
ด้านกรมป่าไม้ ดำเนินการจัดทำ ปรับปรุง แก้ไข และบริการวิชาการเรื่องพระราชบัญญัติ กฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับเกี่ยวกับการปลูกและการตัดไม้ รวมทั้งสนับสนุนการคัดเลือก เพาะพันธุ์ไม้ และการขยายพันธุ์ไม้มีค่า สพภ. ดำเนินการเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งจัดทำเกณฑ์มาตรฐาน การประเมินมูลค่าไม้ และ ธ.ก.ส. ดำเนินการจัดทำรายละเอียด เกณฑ์มาตรฐานการประเมินมูลค่าไม้ และเรื่องการใช้ต้นไม้เป็นหลักประกัน รวมทั้งหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการขับเคลื่อนการดำเนินงาน และเตรียมกลไกผลักดันอย่างเร่งด่วนและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิด การสนองผลตามนโยบายกลไกประชารัฐและไทยนิยมยั่งยืน เพื่อให้คนไทยสามารถปลูกไม้มีค่าในพื้นที่กรรมสิทธิ์และสามารถใช้ประโยชน์จากต้นไม้มีค่าเป็นต้นทุนของครอบครัวที่มีมูลค่าสูง มีระบบกำกับ ควบคุมตรวจสอบ และรับรองไม้ในที่ดินกรรมสิทธิ์ที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน
ทั้งนี้ รัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายให้เกิดชุมชนไม้มีค่า ๒๐,๐๐๐ ชุมชน ภายใน ๑๐ ปี ส่งเสริมและขยายผลให้ประชาชน ๒.๖ ล้านครัวเรือน ปลูกต้นไม้รวมทั้งสิ้นจำนวน ๑,๐๐๐ ล้านต้น ซึ่งจะทำให้มีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น ๒๖ ล้านไร่ เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเฉลี่ย ๑ ล้านล้านบาทต่อปี เพื่อนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ของชาติตั้งแต่ฐานราก อันจะเป็นการสร้างอาชีพที่มั่นคง ซึ่งส่งผลให้คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของเกษตรกรดีขึ้น เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่สามารถพึ่งพาตนเองได้