ธพว.-5ค่ายมือถือดันแอป ‘SME D Bank’
ศูนย์กลางบริการครบวงจรเพื่อSMEs
ธพว.จับมือ 5 ค่ายเครือข่ายสัญญาณมือถือ-อินเตอร์เน็ต และ 90 ผู้ประกอบการด้านดิจิทัล เติมศักยภาพแพลตฟอร์ม ‘SME D Bank’ สู่การเป็นศูนย์กลางบริการครบวงจรเพื่อ SMEs ไทย อุ้มผู้ประกอบการรายย่อยทั่วประเทศ เข้าถึงความรู้คู่เงินทุน ได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ ตั้งเป้าถึง 1 แสนดาวน์โหลดภายในสิ้นปีนี้ ช่วยเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท
นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.หรือ SME Development Bank) กล่าวถึงความร่วมมือระหว่าง ธพว. กับ 5 บริษัท ผู้ให้บริการธุรกิจด้านการสื่อสารโทรคมนาคมรายใหญ่ของประเทศ หรือ Big Player ได้แก่ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC , บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS , บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE , บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT และบริษัท บิซิเนส ออนไลน์ จำกัด (มหาชน) หรือ BOL ผู้ให้บริการข้อมูลนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งกับกระทรวงพาณิชย์ทั้งหมดในประเทศ ว่า จะก่อประโยชน์สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีคนตัวเล็กที่กระจายอยู่ตามชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งล้วนเป็นลูกค้าของทั้ง 5 บริษัทอยู่แล้ว ที่มีจำนวนรวมกว่า 90 ล้านเลขหมาย ครอบคลุมประชากรทั่วประเทศ สามารถเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ ทั้งด้านความรู้ และแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยถูกของ ธพว. ได้ ผ่านแพลตฟอร์ม ‘SME D Bank’ แอปพลิเคชัน (Application) บนโทรศัพท์มือถือ สามารถให้บริการได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ ทั้งสะดวก รวดเร็ว และครอบคลุม ถือเป็นการปฏิวัติการทำงานของสถาบันการเงินภาครัฐ เพื่อคนตัวเล็กอย่างแท้จริง
สำหรับการขอสินเชื่อผ่าน SME D Bank นั้น ทำงานควบคู่กับหน่วยบริการเคลื่อนที่ “รถม้าเติมทุน ส่งเสริม SMEsไทย ฉับไว ไปถึงถิ่น” เมื่อผู้ประกอบการยื่นขอสินเชื่อผ่านออนไลน์ ข้อมูลจะส่งมายังฐานข้อมูลทันที และภายใน 3 วัน เจ้าหน้าที่ธนาคารติดต่อกลับ เพื่อนัดหมายให้หน่วยรถม้าเติมทุนฯ วิ่งเข้าไปพบ เพื่อดูข้อมูลเชิงประจักษ์การดำเนินธุรกิจจริง สามารถพิจารณาสินเชื่อได้โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ผู้ประกอบการรู้ผลได้ใน 7 วัน ขจัดข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่ไปอย่างหมดสิ้น
“แพลตฟอร์ม SME D Bank ซ่อนความหมายสำคัญของการทำงานผ่านตัวอักษร “ดี” 3 ตัว หรือ 3D ย่อมาจาก 1.Development = ช่วยพัฒนาธุรกิจ ด้วยความรู้คู่ทุน 2.Delivery = บริการถึงถิ่นอย่างรวดเร็ว และ 3.Digital = บริการผ่านเทคโนโลยีทันสมัย รวมถึง บ่งบอกว่า ธนาคารแห่งนี้ สร้างบริการ “ดีมากๆ” เพื่อเอสเอ็มอีไทย นำความรู้คู่เงินทุนไปถึงตัวผู้ประกอบการรายย่อย ภายใต้ยุทธศาสตร์ให้บริการลูกค้าด้วยระบบดิจิทัล รหัส 24×7 หมายถึง บริการตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน ส่วนกระบวนการทำงานของพนักงานธนาคาร ยึดรหัส 8-8-7 หมายถึง หน่วยบริการเคลื่อนที่รถม้าเติมทุนฯ วิ่งเข้าบริการตามวันเวลาที่ผู้ประกอบการสะดวก ตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 2 ทุ่ม (8:00-20:00 น.) ตลอดสัปดาห์ 7 วัน” นายมงคล กล่าว
นอกจากนั้น ภายในแพลตฟอร์ม SME D Bank ยังมีเครื่องมือเสริมแกร่งธุรกิจ (Tools Box) ช่วยให้เอสเอ็มอีเติบโต เข้มแข็ง อยู่รอด และยั่งยืน โดยรวบรวมแอปพลิเคชัน และซอฟต์แวร์ ยกระดับความสามารถแก่เอสเอ็มอี ซึ่งเดิมมีแล้วกว่า 50 ราย และล่าสุด ได้จับมือผู้ประกอบการดิจิทัลรุ่นใหม่เพิ่มอีก 90 ราย รวมเป็น 140 ราย จึงกล่าวได้ว่า โหลด SME D Bank เพียงแค่แอปฯ เดียว สามารถเข้าถึงบริการเสริมแกร่งมากกว่า 140 ประโยชน์
อีกทั้ง รวบรวมคลังข้อมูลความรู้สำหรับเอสเอ็มอี (e-Library) ไว้ในที่เดียวมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ทั้งในรูปแบบข่าวสาร ข้อมูลสถิติ บทความ คลิปวิดีโอ อินโฟกราฟิก เป็นต้น เบื้องต้นมากกว่า 2,000 องค์ความรู้ และจะมากขึ้นเรื่อยๆ ช่วยอัพเดทให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีก้าวทันเทคโนโลยี ปรับตัวเท่าทันการแข่งขัน รวมถึง ยังมีสิทธิพิเศษ (Privilege) จากการใช้งานภายในแพลตฟอร์มด้วย
“ความร่วมมือครั้งนี้ นับเป็นมิติใหม่ของการให้บริการยุคดิจิทัลที่สถาบันการเงินภาครัฐ จับมือกับผู้ให้บริการธุรกิจด้านการสื่อสารโทรคมนาคม และเครือข่ายพันธมิตร รวบรวมสิ่งจำเป็นต่างๆ สำหรับเอสเอ็มอีให้มาอยู่พร้อมกันในแพลตฟอร์ม SME D Bank ทำหน้าที่ “ศูนย์กลางบริการครบวงจรเพื่อ SMEs ไทย” เปิดโอกาสผู้ประกอบการคนตัวเล็ก ตกสำรวจที่มีกว่า 3 ล้านรายทั่วประเทศ เข้าถึงความรู้คู่เงินทุน ซึ่งจะก่อประโยชน์เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ กระจายไปทุกชุมชน ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม” นายมงคล กล่าว
นายมงคล ยังกล่าวด้วยว่า จากที่ธนาคารได้เปิดตัวแพลตฟอร์ม SME D Bank เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ที่ผ่านมา นับถึงวันที่ 23 กันยายน ที่ผ่านมา มียอดผู้ดาวน์โหลดการใช้งานไปแล้ว 15,000 ราย มีการขอสินเชื่อผ่านระบบกว่า 1,000 คำขอ เป็นวงเงินกว่า 1,500 ล้านบาท
ในเร็วๆ นี้ จะมีการเพิ่มเติมบริการภายในแพลตฟอร์ม SME D Bank เช่น ระบบจองสัมมนาอัตโนมัติ (Seminar Booking) ระบบที่ปรึกษาเพื่อผู้ประกอบการ (Consulting) เชื่อมโยงโครงการผู้เชี่ยวชาญกว่า 1,000 ราย ระบบเชิญผู้สนใจ (Invite to SME D Bank) และระบบเครือข่ายผู้ประกอบการ เพื่อการซื้อขาย แลกเปลี่ยน เรียนรู้ ระหว่างผู้ประกอบการกับธนาคาร และในหมู่ผู้ประกอบการด้วยกันเอง เป็นต้น
จึงตั้งเป้าไว้ว่า ภายในสิ้นปีนี้ 2561 นี้ จะเพิ่มเติมเครื่องมือเสริมแกร่งธุรกิจถึงกว่า 1,000 ประโยชน์ มีคลังข้อมูลถึง 10,000 องค์ความรู้ และมียอดผู้ดาวน์โหลดใช้งานกว่า 100,000 ราย สามารถสนับสนุนผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุนวงเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาท
อนึ่งในปัจจุบันธพว.หรือ SME Development Bank มียอดสินเชื่อที่ปล่อยให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นมูลค่าถึง 100,000 ล้านบาท โดยปล่อยให้แก่เอสเอ็มอีประมาณ 100,000 ราย และมียอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ณ สิ้นปี 2560 อยู่ที่ 17%