ก.แรงงานพัฒนาพนักงานSME
สร้างมูลค่าเพิ่มสปก.กว่า 300 ล้านบ.
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายพลตำรวจเอก อำนาจ อันอาตม์งาม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นประธานปิดโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานสู่ SME 4.0 (STEM Workforce towards SME 4.0) มอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่สถานประกอบกิจการที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 185 แห่ง ณ เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ชี้พัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ของประเทศปี61 ช่วยเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ได้36% ลดการสูญเสียในวงจรการผลิต 48% และสร้างมูลค่าให้แก่สถานประกอบกิจการมากกว่า 300 ล้านบาท
พลตำรวจเอก อำนาจ อันอาตม์งาม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้จัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ และมุ่งเน้นการเพิ่มผลิตภาพแรงงานสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ผ่านกลไก “ประชารัฐ” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการปฏิรูปประเทศไทย ให้สามารถรับมือกับโอกาสและความท้าทายในศตวรรษที่ 21 กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) จึงจัดมีนโยบายเพิ่มผลิตภาพแรงงานไทย เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
ประเทศไทยมีสถานประกอบกิจการ SME จำนวน 3,004,679 แห่ง ครอบคลุมการจ้างงาน 11,747,093 คน มูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 5 ล้านล้านบาท กพร. จึงได้จัดทำ “โครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานสู่ SMEs 4.0 (STEM Workforce towards SME 4.0) เป็นการดำเนินงานเชิงรุก ให้คำปรึกษาแนะนำแก่สถานประกอบกิจการและพนักงาน ในการสร้างจิตสำนึกให้รู้คุณค่าของทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดและใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เข้าใจถึงความสูญเสียที่แฝงอยู่ในกระบวนการทำงาน และดำเนินการแก้ไขได้อย่างเป็นระบบต่อเนื่อง สามารถนำแนวทางไปปฏิบัติเพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ลดการสูญเสียในวงจรการผลิตและบริการได้อย่างยั่งยืน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสถานประกอบกิจการรองรับไทยแลนด์ 4.0
ในปี 2561 มีสถานประกอบกิจการเข้าร่วมโครงการ จำนวน 185 แห่ง รวมทั้งผู้ประกอบการรายย่อย สามารถเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ได้ร้อยละ 36 ลดการสูญเสียในวงจรการผลิต ร้อยละ 48 สร้างมูลค่าให้แก่สถานประกอบกิจการมากกว่า 300 ล้านบาท พัฒนาทักษะพนักงานให้มีศักยภาพสูงขึ้นได้มากกว่า 10,000 คน สร้างนักพัฒนาฝีมือแรงงานพันธุ์ใหม่ของกพร. จำนวน 280 คน ได้รับการพัฒนาศักยภาพเพิ่มองค์ความรู้ และประสบการณ์จากการฝึกอบรมอย่างเข้มงวด เข้าร่วมปฏิบัติงานกับปรึกษาสถาบันการศึกษาเครือข่าย
“มีการมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่สถานประกอบกิจการที่เข้าร่วมโครงการด้วย เพราะมีส่วนในการส่งเสริมให้โครงการประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ได้วางไว้ ซึ่งมิได้จะคาดหวังเพียงเชิงตัวเลขเท่านั้น หากแต่ยังคำนึงถึง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาความคิดเชิงระบบ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ตามแนวทางของ STEM Workforce เมื่อสถานประกอบกิจในกลุ่ม SME ได้รับการพัฒนาเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 ต่อไป” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวทิ้งท้าย