อลังการ..พิธีอุ้มพระดำน้ำ
สืบสานประเพณีแห่งกรุงอโยธยา
พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ รองนายกรัฐมนตรี อดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานพิธีการประเพณี “อุ้มพระดำน้ำเพชรบูรณ์” หนี่งเดียวในโลก เมื่อวันอังคารที่ 8 ตุลาคม 2561 ณ วัดโบสถ์ชนะมาร อ.เมืองเพชร โดยมีประชาชน นักท่องเที่ยวสนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้บริเวณท่าน้ำวัดโบสถ์ชนะมาร ตำบลในเมือง อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ นายสืบศักดิ์ เอี่ยมวิจารณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้อัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชา พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองเพชรบูรณ์ ที่เป็นตำนานประเพณีอุ้มพระดำน้ำมายาวนาน จากมณฑปยอดปรางค์วัดไตรภูมิ ลงประดิษฐานบนเรือจัดขบวนแห่ทางน้ำในแม่น้ำป่าสัก ทวนกระแสน้ำไปยังท่าน้ำวัดโบสถ์ชนะมาร เพื่อประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำประจำปี 2561 มีขบวนเรือเข้าร่วมกว่า 20 ขบวน มีนักท่องเที่ยวและประชาชนนั่งชมสองริมฝั่งตลอดเส้นทางน้ำ
โดย พล.อ.ธนศักดิ์ ปฏิมาประกร รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ นายเสกสรร นิยมเพ็ง นายกเทศมนตรีเมืองเพชรบูรณ์ ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการฝ่ายพลเรือน ทหาร ตำรวจ นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ รวมถึงประชาชนที่มีความเลื่อมใสศรัทธา ร่วมชมพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์อย่างเนืองแน่น เมื่อถึงเวลา 10.49 น. นายสืบศักดิ์ เอี่ยมวิจารณ์ ผู้ว่าฯเพชรบูรณ์ ได้ฤกษ์งามยามดีอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชาลงดำน้ำ พร้อมกรมการเมืองทั้ง 4
ประกอบด้วย (กรมการฝ่ายเวียง) นายประเสริฐ เผือดโพธิ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดเพชรบูรณ์ , (กรมการฝ่ายวัง) นายอดิเทพ กมลเวชช์ ปลัดจังหวัดเพชรบูรณ์ , (กรมการฝ่ายคลัง) นายโกวิทย์ กุลเศษรฐโสภณ ประธานมูลนิธิโรงพยาบาลหล่มสัก และ (กรมการฝ่ายนา) ผศ.ดร.ประยูร ลิ้มสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ โดยปีนี้ได้เสี่ยงทายทิศที่จะดำน้ำ ครั้งที่ 1 หันหน้าไปทางทิศใต้ ครั้งที่ 2 ทิศใต้ ครั้งที่ 3 ทิศเหนือ ครั้งที่ 4 ทิศใต้ ครั้งที่ 5 และครั้งที่ 6 ทิศเหนือ
หลังจากนั้นได้แจกข้าวต้มลูกโยน กระยาสารท ให้กับประชาชนบนฝั่ง บรรยากาศเป็นไปอย่างสนุกสนานและเปี่ยมไปด้วยศรัทธาของทุกคน ต่างแย่งสายสิญจน์จากพิธีเพื่อความเป็นสิริมงคล บางคนตักน้ำจากแม่น้ำไปประพรม เชื่อว่าหลังประกอบพิธีแล้วจะเป็นน้ำพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ งานประเพณีอุ้มพระดำน้ำจังหวัดเพชรบูรณ์ มีการจัดต่อเนื่องทุกปี เชื่อกันว่าปีใดถ้าไม่อัญเชิญพระไปดำน้ำ องค์พระจะหายไป จะเกิดข้าวยากหมากแพง จึงถือปฏิบัติกันมาต่อเนื่องยาวนาน ได้มีการจัดอย่างยิ่งใหญ่ ระหว่างวันที่ 7-12 ตุลาคม ส่วนไฮไลท์ภาคกลางคืนที่บริเวณพุทธอุทยานเพชบุระมีการแสดงสินค้า การแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น การแสดงแสงเสียงตำนานพระพุทธมหาธรรมราชาทุกคืน
ทั้งนี้ ประเพณีอุ้มพระดำน้ำเป็นตำนานที่ถูกเล่าขานนานมากกว่า 500 ปี โดยมีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งได้ออกหาปลาในแม่น้ำป่าสัก แต่อยู่มาวันหนึ่งเกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้น โดยกระแสน้ำในบริเวณวังมะขามแฟบ มีพรายน้ำผุดขึ้นมาทีละน้อย จนแลดูคล้ายน้ำเดือด จากนั้นกลายเป็นวังวนดูดเอาองค์พระพุทธรูปองค์หนึ่งลอยขึ้นมาเหนือน้ำ ทำให้ชาวประมงต้องลงไปอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นมาประดิษฐานไว้ที่วัดไตรภูมิ แต่ในปีถัดมาตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 วันประเพณีสารทไทย พระพุทธรูปดังกล่าวหายไป ชาวบ้านต่างพากันระดมหา สุดท้ายไปพบพระพุทธรูปกลางแม่น้ำป่าสัก บริเวณที่พบพระพุทธรูปองค์นี้ในครั้งแรก กำลังอยู่ในอาการดำผุดดำว่าย จึงได้ร่วมกันอัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานที่วัดไตรภูมิอีกครั้งหนึ่ง พร้อมร่วมกันถวายนามว่า “พระพุทธมหาธรรมราชา”
งานพิธีอุ้มพระดำน้ำจัดมาแล้ว 3 ครั้ง ปีนี้ถือเป็นปีที่ 4 เพื่อรักษาประเพณีเก่าแก่ และรักษาภูมิปัญญา คุณค่าเอาไว้ นอกจากนี้ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาคุณภาพแม่น้ำป่าสักเพราะเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ มุ่งสร้างขวัญกำลังใจแก่ประชาชนก่อนเริ่มทำการเกษตร ดำทิศละ2 ครั้ง สร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนเพชรบูรณ์และการส่งเสริมพระพุทธศาสนานำมาใช้ในการดำเนินชีวิต
ความพิเศษของปีนี้คือ เรืออัญเชิญองค์พระมหาธรรมราชามีหัวโขนเรือชื่อว่า กุญชรวารี เป็นครั้งแรก จากเดิมใช้หัวโขนเรือกาญจนาคามาตั้งแต่ปี 2550 โดยกุญชรวารีเป็นสัตว์ในวรรณคดี ในทะเลสีทันดร มีพลังมาก มีหัวเป็นช้าง คอเป็นม้า มีปีกเหมือนนก ลำตัวเป็นปลา
นอกเป็นสัตว์ว่ายน้ำได้แล้ว กุญชรวารียังอยู่รอดได้ในทะเลสีทันดร เพราะทุกอย่างจะจมในน้ำหมดแม้แต่ขนนก มีเพียงกุญชรวารีเท่านั้นที่สามารถอยู่รอดได้ จึงเชื่อว่า สามารถนำพาพระมหาธรรมราชาให้ผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆไปได้ สำหรับปีหน้าจะมีการอัญเชิญโขนหัวเรือใหม่ชื่อว่า”เหมะวารี”
ก่อนหน้าพิธีแห่และพิธีอุ้มพระดำน้ำ นี้ ได้มีพิธีรำถวายก่อน โดยมีผู้เข้าร่วมรำชายหญิงรวม 2,561 คน ทั้งนี้ในอนาคตจะมีการผลักดันประเพณีอุ้มพระดำน้ำให้เป็นพิธิการยิ่งใหญ่ระดับสากล เป็นมหาพุทธประเพณีในอาเซียน