สอศ.-เชฟรอนฯ ‘ยกโรงงานสู่โรงเรียน’
มอบหุ่นยนต์อาชีวะฝึกปฏิบัติจริง
Chevron Enjoy Science สร้างโอกาสอาชีวะไทยเรียนรู้เทคโนโลยียุคใหม่ด้าน “หุ่นยนต์อุตสาหกรรม” ผนึก สอศ. ทำโปรเจ็กต์ “ยกโรงงานสู่โรงเรียน” มอบหุ่นยนต์แขนกลมูลค่า 30 ล้านบาทให้ สอศ. พร้อมโปรแกรมจำลองเสมือนอยู่ในโรงงานและแผนการสอนวิชาหุ่นยนต์ในงานอุตสาหกรรมและระบบการผลิตอัตโนมัติที่โครงการฯพัฒนาร่วมกับทางมจพ. ให้สอดคล้องหลักสูตรของ สอศ. เพื่อให้ครูอาชีวะสามารถนำไปปรับใช้สอนนักศึกษา เพื่อตอบโจทย์ “เรียนจบใช้ได้จริง” นำร่องที่ 27 วิทยาลัยเทคนิค ได้มีโอกาสฝึกปฏิบัติจริงกับเทคโนโลยีทันสมัย สร้างแรงงานยุคใหม่เพื่อรองรับอุตสาหกรรม S-Curve จากที่คาดการณ์กันว่า ในอนาคตอันใกล้แนวโน้มภาคอุตฯจะนำหุ่นยนต์ใช้งานมากถึง 4 หมื่นตัว ขณะที่ข้อมูลล่าสุด World Economic Forum คาดหุ่นยนต์อาจมาแทนที่แรงงานคน 75 ล้านตำแหน่ง พลเอกสุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในพิธีมอบอุปกรณ์การเรียนวิชาหุ่นยนต์ในงานอุตสาหกรรมของโครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ให้กับวิทยาลัยเทคนิค 27 แห่งว่า ปัจจุบันรัฐบาลมุ่งให้ความสำคัญในการพัฒนาประเทศตามแนวนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อผลักดันระบบเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม โดยเฉพาะกลุ่มในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve)
ทั้งนี้โจทย์สำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ คือ การวางแผนผลิต “ช่างเทคนิค” ให้ตอบรับกับนโยบายทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ โดยเฉพาะการลดช่องว่างด้านคุณภาพของสถานศึกษาอาชีวศึกษาทั่วประเทศ 914 แห่ง ซึ่งเป็นสถานศึกษาอาชีวะของรัฐ 428 แห่ง และ อาชีวะเอกชน 486 แห่ง ให้มีมาตรฐานใกล้เคียงกันมากขึ้น รวมถึงผลักดันและกระตุ้นความสนใจการศึกษาด้านอาชีวะมากขึ้น โดยมุ่งเน้นความร่วมมือคณะทำงานสานพลังประชารัฐด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพที่มีภาคอุตสาหกรรมเข้ามาช่วยเติมทักษะเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเฉพาะเรียนรู้การทำงานของ “หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ” ที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับกลุ่ม S-Curve
“เชื่อว่าความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกิดขึ้นในการขับเคลื่อนการศึกษาตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 จะส่งผลต่อภาพรวมในการยกระดับคุณภาพอาชีวศึกษาให้เกิดความเท่าเทียมด้านโอกาสการศึกษาทั้งในระดับภูมิภาคและส่วนกลาง จะช่วยพัฒนาทักษะนักศึกษาอาชีวะก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกอุตสาหกรรมยุค 4.0” พลเอกสุทัศน์ กล่าว
ด้านนายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ระบุว่า โครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาช่างเทคนิคให้มีทักษะตรงความต้องการภาคอุตสาหกรรมที่มุ่งสู่ยุค 4.0 ซึ่งมีการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้ามาทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลล่าสุดของ World Economic Forum ที่ว่าแนวโน้มของโลกในอนาคตอันใกล้หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์อาจจะเข้ามาแทนที่แรงงาน 75 ล้านตำแหน่ง หากแรงงานไม่มีการปรับตัว ดังนั้นจึงควรเร่งดำเนินการลงทุนเพิ่มด้านการศึกษาและฝึกอบรมเพื่อให้แรงงานแห่งอนาคตปรับตัวได้ทัน
ขณะที่ผลสำรวจของโครงการฯ พบว่า นักศึกษาอาชีวะไทยยังขาดทักษะจำเป็นที่เชื่อมโยงการทำงานจริง โดยเฉพาะการสั่งการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ประกอบกับมีการคาดการณ์ว่าโรงงานอุตสาหกรรมจะมีการนำหุ่นยนต์มาใช้เพิ่มขึ้นถึง 40,000 ตัว ขณะที่วิทยาลัยเทคนิคส่วนใหญ่ยังไม่มีหุ่นยนต์สำหรับฝึกปฏิบัติ หรือ มีก็เป็นเทคโนโลยีล้าสมัย ส่งผลให้นักศึกษาอาชีวะส่วนใหญ่ไม่เคยสัมผัสหุ่นยนต์ที่ใช้จริงในโรงงานยุคใหม่ เมื่อเรียนจบไป จึงไม่สามารถทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ที่เป็นหัวใจของระบบผลิตได้
“เชฟรอนฯ จึงผลักดันแนวคิด “ยกโรงงานสู่โรงเรียน” ด้วยการสนับสนุนหุ่นยนต์ ABB IRB 120 จากประเทศสวีเดน พร้อมหลักสูตรอบรมทั้งหมด 27 ชุด เป็นอุปกรณ์การเรียนรู้จำลองมาตรฐานเดียวกับโรงงานในกลุ่ม S-Curve มูลค่า 30 ล้านบาท เพื่อให้นักศึกษาฝึกฝนทักษะการใช้งานหุ่นยนต์แขนกล และการใช้โปรแกรมจำลองเสมือนอยู่ในโรงงานจริง พร้อมพัฒนาแผนการสอนวิชาหุ่นยนต์ในงานอุตสาหกรรมและระบบการผลิตอัตโนมัติที่สอดคล้องกับหลักสูตรของ สอศ. เพื่อให้ครูอาชีวะสามารถนำไปปรับใช้ในการสอน โดยนำร่องใช้กับ 27 วิทยาลัยเทคนิค เพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้อย่างทั่วถึงต่อไป
ดร. สาโรจน์ ขอจ่วนเตี๋ยว ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาช่างอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า ความต้องการแรงงานช่างเทคนิค และช่างสายสนับสนุนที่มีทักษะในกลุ่มแมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์มีแนวโน้มที่สูงขึ้น แต่ปัจจุบันมีสถาบันอาชีวศึกษาเพียงส่วนน้อยที่มีหุ่นยนต์ หรือ แขนกลสำหรับฝึกสอน ดังนั้น สอศ. จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หาแนวทางเติมองค์ความรู้ ทั้งการฝึกทักษะ ควบคุมระบบเชื่อมอัตโนมัติ การออกแบบชิ้นส่วนยานยนต์ ตลอดจนเทคนิคการใช้งานเครื่องมือ เครื่องจักรกลหุ่นยนต์ที่ควบคุมสั่งการด้วยระบบอัตโนมัติให้นักศึกษาอาชีวะอย่างต่อเนื่อง
“การเข้ามาสนับสนุนอุปกรณ์และหลักสูตรการสอนด้านหุ่นยนต์ของโครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต เป็นอีกแนวทางสำคัญที่ช่วยยกระดับอาชีวะไทย เพราะการนำหุ่นยนต์ของภาคอุตสาหกรรมสมัยใหม่มาให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติจริง ส่งผลให้เมื่อนักศึกษาจบไปก็จะมีทักษะใช้งานได้จริง ตรงความต้องการของภาคอุตสาหกรรมต่อไปในอนาคต”
สำหรับวิทยาลัย 27 แห่งที่จะรับมอบหุ่นยนต์แขนกล ABB รุ่น IRB120 พร้อมโปรแกรมจำลอง Robot studio เป็นวิทยาลัยที่อยู่ภายใต้การดำเนินการของศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพของโครงการ “Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” ได้แก่
ศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ หรือ TVET Hub ภาคตะวันออก- TVET Automotive Hub ภายใต้ขอบเขตรับผิดชอบของ ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน 3 จังหวัดชลบุรีจำนวน 8 แห่ง คือ 1. วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา 2. วิทยาลัยเทคนิคจุฬาภรณ์ (ลาดขวาง) 3. วิทยาลัยเทคนิคปราจีนบุรี 4. วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี 5. วิทยาลัยเทคนิคนครนายก 6. วิทยาลัยเทคนิคสุพรรณบุรี 7. วิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ 8. วิทยาลัยเทคนิคสระแก้ว
ศูนย์ฯภาคอีสานตอนล่าง – TVET Microelectronics Hub หรือ TVET Hub – Suranaree ภายใต้ขอบเขตรับผิดชอบของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จำนวน 12 แห่ง : 1. วิทยาลัยเทคนิคปักธงชัย 2. วิทยาลัยเทคนิคสุรนารี 3. วิทยาลัยเทคนิคนครราชสีมา 4. วิทยาลัยเทคนิคพิมาย 5. วิทยาลัยเทคนิคหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ 6. วิทยาลัยเทคนิคการอาชีพบัวใหญ่ 7. วิทยาลัยเทคนิคบุรีรัมย์ 8. วิทยาลัยเทคนิคคูเมือง 9. วิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์ 10. วิทยาลัยเทคนิคนางรอง 11. วิทยาลัยเทคนิคชัยภูมิ 12. วิทยาลัยการอาชีพปากช่อง
ศูนย์ฯภาคเหนือ – TVET Multi Sector Hub หรือ TVET Hub Lanna ภายใต้ขอบเขตความรับผิดชอบของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จำนวน 7 แห่ง : 1. วิทยาลัยเทคนิคแพร่ 2. วิทยาลัยเทคนิคเชียงราย 3. วิทยาลัยเทคนิคน่าน 4. วิทยาลัยเทคนิคพะเยา 5. วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ 6. วิทยาลัยเทคนิคลำพูน 7. วิทยาลัยการอาชีพฝาง
ส่วนหนึ่งของคณะอาจารย์ที่มาร่วมงาน
นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานสถาบันคีนันแห่งเอเซีย กล่าวเสริมว่า การสนับสนุนครั้งนี้จะส่งมอบเป็นชุด ประกอบด้วยหุ่นยนต์ แผนการสอน และคู่มือครู ซึ่งโครงการฯ จัดทำร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ที่มีกระบวนการสอนแบบ Applied Learning ซึ่งบูรณาการการเรียนรู้แบบ Problem-based Project-based Competition-based และ Outcome-based เข้าด้วยกัน ตลอดจนทักษะในศตวรรษที่ 21 ด้านการทำงานเป็นทีม การแก้ไขปัญหา และ การทำงานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่
“ปัจจุบันแมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์เป็นศาสตร์ใหม่ จึงมีการเปิดสอนโดยตรงอยู่น้อย หลายแห่งที่พยายามเปิดสอนก็ยังขาดความพร้อม การเข้ามาสนับสนุนของเชฟรอนฯ จะช่วยเติมเต็มให้เกิดการพัฒนาได้เร็วขึ้น โดยเฟสแรกจะมีการส่งมอบอุปกรณ์และซอฟท์แวร์ รวมถึงหลักสูตรการเรียนการสอน พร้อมจัดอบรมให้ 27 วิทยาลัยเทคนิค เพื่อสร้าง Master Teacher มากกว่า 80 คน และนักเรียนอาชีวะ 1,600 คน”
สำหรับหุ่นยนต์ / แขนกล ABB รุ่น IRB 120 มีจุดเด่นดังนี้คือ
• หุ่นยนต์พร้อมโปรแกรมจำลองการเรียนรู้ที่เป็นเทคโนโลยีมาตรฐานเดียวกับหุ่นยนต์ที่ใช้จริงอยู่ในระบบผลิต ของโรงงานอุตสาหกรรม S-Curve ของไทย
• Module การเรียนการสอนที่ช่วยตอบโจทย์เทรนด์อุตสาหกรรม S-Curve ทั้งด้านการเสริมความรู้พื้นฐาน และการทำงานกับระบบอัตโนมัติในโรงงานอุตสาหกรรมตรงตามความต้องการของสถาบันอาชีวะส่วนใหญ่ที่ยังขาดแคลน
• มี network-licenses 100 ชุด สำหรับการศึกษาตลอดชีพ พร้อมทั้งมีคู่มือเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
• ตัวที่ใช้ในการควบคุมด้วยมือ (Teach Pendant) ของ ABB หรือที่เรียกว่า Flex pendant ออกแบบมาให้เหมือนการเล่นเกมด้วยการใช้ Joy stick ซึ่งสนับสนุนให้ผู้เรียนเกิดความสนุก