“สทน.” ชวนประกวดหนังสั้น
หัวข้อ “Nuclear for Better Life”
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดโครงการประกวดหนังสั้น TINT SHORT FILM PROJECT ภายใต้หัวข้อ “Nuclear for Better Life” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 310,000 บาท เปิดรับสมัครตั้งแต่บัดนี้จนถึง 23 พฤศจิกายน 2561 นี้
นายวราวุธ ขจรฤทธิ์ ผู้จัดการศูนย์ฉายรังสี สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. เผยว่า สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้จัดโครงการประกวดหนังสั้น TINT SHORT FILM PROJECT ภายใต้หัวข้อ “Nuclear for Better Life” โดยมีเป้าหมายเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญ และสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ถึงประโยชน์และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีนิวเคลียร์ รวมถึงการสร้างความเชื่อถือและความมั่นใจของประชาชนต่อพันธกิจของสถาบันฯ อันจะนำไปสู่การพัฒนาการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในประเทศอย่างยั่งยืน
“โครงการประกวดหนังสั้นฯ ครั้งนี้เกิดจากเพราะปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกได้หันมาให้ความสนใจการศึกษาและพัฒนาการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ให้เกิดประโยชน์กับโลกมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่พลังงานนิวเคลียร์ได้ก้าวเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของมนุษย์เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านการแพทย์ อุตสาหกรรม และการเกษตร เช่นการนำมาปรับปรุงคุณภาพของข้าว ยืดอายุผลไม้หรืออาหารที่นำไปอวกาศ เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง การสื่อสารข้อมูลข่าวสารทางบวกของเทคโนโลยีนิวเคลียร์ จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการดำเนินกิจกรรมของสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของเทคโนโลยีนิวเคลียร์แก่ประชาชน”
คุณบัณฑิต ทองดี ผู้กำกับภาพยนตร์ไทย นักเขียนบทภาพยนตร์ และ ผู้ควบคุมการสร้างมีชื่อและม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล ผู้กำกับภาพยนตร์และเป็นวิทยากรพิเศษให้แก่มหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ร่วมพิจารณาตัดสินผลงานหนังสั้นในครั้งนี้และมาร่วมงานแถลงข่าวในครั้งนี้ด้วย
คุณบัณฑิตกล่าวว่า ภาพยนตร์จะทำให้ทุกคนเข้าใจได้พร้อมกัน แม้ว่าจะเป็นยาก เรื่องที่อยู่ไกลตัว หากคนสร้างหนังนำข้อมูลต่าง ๆ มาทำก็จะไม่ยากเกินไป อยู่ที่ฝีมือคนทำ ต้องหาข้อมูล ตีความให้ดี ซึ่งในการตัดสินจะดูว่ามีการนำเทคโนโลยีในยุคสมัยปัจจุบันมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างไร ทั้งนี้ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกัน ทางสทน.จะต้องสนับสนุนในด้านข้อมูล โครงการนี้น่าจะมาถูกทางที่สทน.ใช้ไอเดียของคนรุ่นใหม่มาสร้างสรรค์ผลงาน
ด้านม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล กล่าวว่า โจทย์ที่ได้ “Nuclear for Better Life” นับว่าเป็นพื้นฐานที่ง่าย เพราะทุกคนต้องการมีชีวิตที่ดีกว่าอยู่แล้ว ไม่มีใครต้องการให้แย่ลง ซึ่งพลังงานนิวเคลียร์ค้นพบมานานแล้ว และมีการนำมาใช้จริงจังช่วง 60-70 ปีที่ผ่านมา ถูกนำมาใช้ในศาสตร์หลากหลาย ดังนั้นตัวละครจะต้องผูก 2 อย่างนี้เข้าด้วยกัน ไม่ยาก แต่สิ่งที่ยากคือ จะทำอย่างไรให้สนุก เป็นไปได้ว่า โครงการนี้อาจช่วยเปิดโลกทรรศน์ใบใหม่สำหรับวงการภาพยนตร์ก็เป็นได้
ในส่วนของการตัดสินนั้นจะดูการเล่าถึงประโยชน์ การศึกษามาแล้วเล่าเรื่อง มองการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า หาความรู้แล้วมาปรับใช้ทำให้งานให้ดีได้อย่างไร สนับสนุนให้นำความรู้ บวกจินตนาการ ซึ่งตรงนี้เป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้ประเทศเจริญก้าวหน้าด้วย
นายวราวุธ กล่าวในตอนท้ายว่า นับว่า เป็นงานที่ท้าท้ายทีเดียว และขอเชิญชวนน้อง ๆ ที่สนใจเข้าร่วมและหวังว่าจะมีการสร้างสรรค์ผลงานดี ๆ มา
สำหรับโครงการประกวดหนังสั้นฯ ครั้งนี้เปิดรับสมัคร 2 ประเภท ได้แก่ รุ่นเล็ก (ระดับมัธยมศึกษา) อายุไม่เกิน 18 ปี ซึ่งกำลังศึกษาไม่เกินระดับชั้นมัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า สมัครได้ทั้งเดี่ยวและทีมๆ ละไม่เกิน 4 คน รางวัลชนะเลิศ ได้รับเงินรางวัลสูงสุด 50,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและประกาศนียบัตร ,รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและประกาศนียบัตร ,รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เงินรางวัล 15,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและประกาศนียบัตร และรางวัลชมเชย เงินรางวัล 5,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตร มี 3 รางวัล
ส่วนรุ่นใหญ่ (ระดับอุดมศึกษาขึ้นไป) อายุ 19 ปีขึ้นไป ซึ่งกำลังศึกษาในระดับชั้นอุดมศึกษาหรือเทียบเท่าขึ้นไป สมัครได้ทั้งเดี่ยวและทีมๆ ละไม่เกิน 3 คน รางวัลชนะเลิศ ได้รับเงินรางวัลสูงสุด 100,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและประกาศนียบัตร และรางวัลชมเชย เงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตร มี 5 รางวัล โดยโครงการประกวดหนังสั้นฯ จะผ่านการพิจารณาตัดสินจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จาก สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)ซึ่งรวมถึง คุณบัณฑิต ทองดี และ ผู้ควบคุมการสร้างมีชื่อ และม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล
หนังสั้นที่ได้รับรางวัล สทน. จะนำไปเผยแพร่สู่ประชาชนผ่านช่องทางต่างๆ ที่เหมาะสม หรือในโรงภาพยนตร์ในวันเวลาพิเศษ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญ สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ถึงประโยชน์และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีนิวเคลียร์
ผู้ที่สนใจสามารถส่ง Plot หนังสั้นความยาว 3-5 นาที มาได้ที่อีเมลล์ tintshortfilm@gmail.com
หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) www.tint.or.th หรือ www.facebook.com/thainuclearclub