ทีมSpace Walker แชมป์คว้า1 ล้าน
“GSB สุดยอดSMEs Startupตัวจริง”
ออมสินประกาศผลโครงการประกวด GSB สุดยอด SMEs Startup ตัวจริง ได้ทีมชนะเลิศ Space Walker นวัตกรรมช่วยเดินแบบพยุงน้ำหนักบางส่วนสำหรับผู้ป่วยหลังการกายภาพบำบัดหรือผู้สูงอายุที่มีราคาถูกกว่าต่างประเทศถึง 10 เท่า คว้าเงินทุน 1,000,000 บาท “ออมสิน” ยังมอบสิ่งดี ๆ ด้วยโปรแกรมเพิ่มประสบการณ์เตรียมความพร้อมเป็นผู้ประกอบการ พา 10 ทีมสุดท้าย เรียนรู้ดูงานธุรกิจชุมชนฮอกไกโด-ญี่ปุ่นช่วง 8-13 พฤศจิกายนนี้
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า โครงการประกวด GSB สุดยอด SMEs Startup ตัวจริง ภายใต้ concept SMEs Startup Wow! “ทำได้เลย ทำได้เร็ว ทำได้จริง” ซึ่งจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไปที่มีอายุไม่เกิน 35 ปี ร่วมสร้างสรรค์ผลงานธุรกิจ พิชิตเงินทุนรวมมูลค่ากว่า 3,000,000 บาท ซึ่งเปิดรับสมัครผลงานตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม – 10 สิงหาคม 2561 มีผลงานส่งเข้าประกวด 1,028 ผลงาน ขณะนี้โครงการฯ ได้ประกาศผลการตัดสินรอบชิงชนะเลิศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยรางวัลชนะเลิศ ได้รับเงินทุน 1,000,000 บาท คือ ทีม Space Walker ,
รองชนะเลิศอันดับ 1 ทีม Bioform ได้รับเงินทุนประเดิม 500,000 บาท, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ทีม LILUNA ได้รับเงินทุนประเดิม 200,000 บาท และ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 จำนวน 7 ทีม ได้รับเงินทุน ทีมละ 100,000 บาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ได้รับทีมละ 50,000 บาท นอกจากนั้นในปีนี้ยังมีการเพิ่มผลงานสุดยอด Prototype 3 ทีม ได้รับเงินทุนทีมละ 50,000 บาท และ ผลงานสุดยอด Idea 3 ทีม ได้รับเงินทุนทีมละ 30,000 บาท
“ปีนี้การดำเนินโครงการประกวด GSB สุดยอด SMEs Startup ตัวจริง ใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณหกเดือนนับจากวันแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ จนมาถึงวันตัดสินรอบชิงชนะเลิศในวันนี้ นอกจากจะได้รับเงินทุนเพื่อต่อยอดทางธุรกิจแล้ว ทั้ง 10 ทีม ยังได้เข้าร่วมโปรแกรม Outing Startup ซึ่งธนาคารออมสินจะพาไปดูงานด้านธุรกิจชุมชนที่ขึ้นชื่อของเมืองฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น เป็นการเพิ่มประสบการณ์เพื่อเตรียมความพร้อมเป็น SMEs Startup ตัวจริง ในอนาคต ระหว่างวันที่ 8-13 พฤศจิกายนนี้
ถือเป็นอีกหนึ่งความตั้งใจดีที่ธนาคารออมสินต้องการมอบให้กับน้องๆ อันจะเป็นประสบการณ์ที่มีค่าที่ได้รับจากโครงการประกวด สามารถนำไปใช้ประโยชน์และเป็นแนวทางต่อยอดธุรกิจในอนาคตได้อย่างดี ซึ่งธนาคารออมสินพร้อมให้การสนับสนุนคนรุ่นใหม่อย่างเต็มที่ การเข้ามาเป็น 10 ทีมสุดท้ายจาก 1,028 ทีมที่ส่งเข้าประกวด นับว่าสุดยอดแล้ว ขอให้ทุกทีมค้นหาตัวตน จุดเด่น และสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นเอกลักษณ์ ของตัวเอง และประสบความสำเร็จในธุรกิจของตัวเองตามที่ตั้งใจกันไว้” ผู้อำนวยการธนาคารออมสินกล่าว
ทั้งนี้โครงการประกวด GSB สุดยอด SMEs Startup ตัวจริง ธนาคารออมสินต้องการส่งเสริมให้เป็นเวทีสำหรับคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาธุรกิจที่ ทำได้เลย ทำได้เร็ว ทำได้จริง นอกจากเงินทุนที่ธนาคารมอบให้แล้ว ยังมีการให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องการทำธุรกิจ ผ่านกิจกรรม Workshop สำหรับผู้เข้ารอบ 100 ทีม และ Coaching Day สำหรับผู้เข้ารอบ 10 ทีมสุดท้าย ที่มีการเชิญกูรูนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ วิทยากรมากความสามารถมาให้ข้อมูล แบ่งปันประสบการณ์ รวมถึงเป็น Guru Coaching ให้คำปรึกษาแนะนำกลยุทธ์ให้แต่ละทีม รวมถึงมีโปรแกรมการดูงานเพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นผู้ประกอบการอีกด้วย โดยโครงการประกวดฯ ในปีนี้ยังส่งเสริมให้มีการใช้ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมใหม่ๆ ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สู่ยุค Thailand 4.0
“ธนาคารออมสินยังพร้อมสนับสนุนในทุกด้าน โดยมีหน่วยงานที่จะดูแลน้องๆ SMEs Startup ทุกๆ คนอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสู่กระบวนการบ่มเพาะ การต่อยอดการบริการด้านสินเชื่อ การจัด Business Matching เปิดช่องทางให้มีการพบกันระหว่างผู้ประกอบการ ไปจนถึงการร่วมลงทุนผ่าน Venture Capital ของธนาคาร ซึ่งได้เตรียมงบประมาณสำหรับร่วมทุนไว้ถึง 2 พันล้านบาท ”ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าว
ผลการตัดสินโครงการประกวด GSB สุดยอด SMEs Startup ตัวจริง ดังนี้
ผลงานชนะเลิศ รับเงินทุน 1,000,000 บาท ทีม Space Walker นำโดยนายวรัตท์ สิทธิ์เหล่าถาวร และนางสาว มิรันตรี ชลศึกเสนีย์ สร้างสรรค์ผลงาน Space Walker นวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นใหม่ เป็นอุปกรณ์ช่วยเดินแบบพยุงน้ำหนักบางส่วนสำหรับผู้ป่วยหลังการกายภาพบำบัด รวมถึงผู้สูงอายุ มีระบบกลไกพยุงน้ำหนักแบบ Dynamic Body Weight Support ตัวแรกของประเทศไทยที่ใช้หลักการออกแบบไม่ซับซ้อนแต่สามารถใช้งานได้จริงและมีขนาดเล็ก เพิ่งผลิตขายเบื้องต้นที่มีราคาขายเพียง 50,000 บาท ซึ่งถูกกว่าผลิตภัณฑ์ของต่างประเทศถึง 10 เท่า
ทั้งนี้Space Walker เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะผิดปกติทางการเดินรูปแบบต่าง ๆ อาทิ กลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บทางสมอง หรือผู้สูงอายุที่มีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นต้น โดยถูกออกแบบสำหรับช่วยในการฝึกเดิน 3 ส่วน คือ ช่วยพยุงน้ำหนักผู้ป่วย ช่วยในการยกขาเดินและป้องกันการหกล้มได้ 100% เวลานี้ผลิตออกขายแล้ว 20 ชิ้น ต่อจากนี้จะมีการพัฒนาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นต่อไป
ผลงานรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับเงินทุน 500,000 บาท ทีม Bioform ผลงาน Bioform แนวคิดวัสดุจากธรรมชาติ 100% น้ำตาลจากน้ำอ้อยทดแทนพลาสติก ลดปัญหาขยะพลาสติกล้นโลกส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน
ผลงานรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับเงินทุน 200,000 บาท ทีม LILUNA ผลงาน LILUNA หรือ ลิลูน่า ออนไลน์แพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อระหว่างคนขับที่มีรถยนต์และคนนั่งที่ไม่มีรถยนต์แต่ไปทางเดียวกัน เวลาเดียวกัน สามารถมาร่วมแชร์ค่าเดินทาง สร้างคอมมูนิตี้ในสังคม ลดปัญหาการจราจร
ผลงานรองชนะเลิศอันดับ 3 มี 7 ผลงาน ได้รับเงินทุน 100,000 บาท ประกอบด้วย
ทีม Xentrack ผลงาน Xentrack กลุ่มสินค้าที่ใช้หลักการของ IoT (Internet of Thing) ประยุกต์กับ solution ในการทำงาน นำเทคโนโลยีจาก Beacon หรือ Bluetooth low energy 4.0 (BLE 4.0) Indoor Location Tracking มาพัฒนากับ Product เพื่อการติดตามบอกตำแหน่งบุคคลหรือทรัพย์สินว่าอยู่บริเวณใดภายในอาคาร
ทีม DifferSheet ผลงาน DifferSheet คือ สมุดบันทึกดิจิทัล แพลตฟอร์มสำหรับเขียนบันทึกเพื่อพัฒนาทักษะด้านการคิด การเขียนการอ่าน และทักษะด้าน Soft Skills ของเด็กไทย
ทีม VenueE ผลงาน VenueE ช่องทางออนไลน์สำหรับการค้นหาและจองสถานที่เพื่อจัดงานประชุมและงานอีเว้นท์อย่างครบวงจร ช่วยอำนวยความสะดวกทั้งผู้ต้องการจองสถานที่ และผู้ให้บริการสถานที่
ทีม ออร์ก้าฟีด ผลงาน โปรตีนทางเลือกสำหรับอาหารสัตว์ โดยการนำแมลงเข้ามาเชื่อมห่วงโซ่การผลิตอาหารของประเทศไทย
นายอิทธิกร เทพมณี บริษัทออร์ก้า เปิดเผยว่า ไทยกำลังจะประสบปัญหาด้านความมั่นคงอาหารที่ลดลงจากราคาเนื้อปรับสูงขึ้นต่อเนื่องในอนาคต ผลจากแหล่งโปรตีนอาหารสัตว์ที่ได้จากปลาป่นปรับตัวสูงขึ้นเกือบทุกปี สาเหตุจากปริมาณปลาในทะเลลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันไทยต้องสูญเสียงบประมาณมหาศาลในการกำจัดขยะของเสียจำพวกอาหาร จึงเกิดแนวคิดเพาะเลี้ยงแมลง Black soldier fly ขึ้น ซึ่งเป็นนวัตกรรมการนำแมลงเข้ามาเชื่อมห่วงโซ่การผลิตอาหารของไทย
โดยเลี้ยงแมลงดังกล่าวด้วยขยะอินทรีย์ ซึ่งจะสามารถนำใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ได้ ขณะเดียวกันยังได้ประโยชน์ช่วยลดขยะอินทรีย์ ซึ่งไทยผลิตขยะมูลฝอยประมาณ 27 ล้านตันต่อปี แต่มีเพียง 26% เท่านั้นที่สามารถกำจัดถูกอย่างเหมาะสม จึงเป็นการช่วยลดมลพิษทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ในด้านความมั่นคงอาหาร ซึ่งเป็นที่คาดการณ์ว่า จำนวนประชากรจะเพิ่มขึ้นเป็นราว 9,000 ล้านคนในอีก 20 ปีข้างหน้า จากประมาณ 7,000 ล้านคน จึงหมายถึงความต้องการบริโภคอาหารจะเพิ่มขึ้นตาม รวมถึงการบริโภคเนื้อสัตว์เช่นกัน การเลี้ยงแมลงชนิดนี้จึงช่วยตอบโจทย์เรื่องการเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ได้
ทีม FARMTO ผลงาน FARMTO ฟาร์มโตะ เป็นผู้ให้บริการในการเชื่อมโยงเกษตรกรกับผู้บริโภคเข้าด้วย ผลักดันให้เกษตรกรใช้องค์ความรู้ที่ตัวเองถนัดมาเป็นจุดขายเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า
ทีม ENRES ผลงาน ระบบวิเคราะห์และเพิ่มประสิทธิภาพ สำหรับการใช้พลังงานและลดค่าใช้จ่ายภายในอาคาร ด้วยระบบจัดการข้อมูลพลังงานของเอ็นเรส ตั้งแต่การตรวจวัดและบันทึกข้อมูลจากมิเตอร์และเซนเซอร์ IoT แจ้งเตือนความผิดปกติ ช่วยวิเคราะห์และควบคุมแบบอัตโนมัติด้วยระบบสมองกลอัจฉริยะ
ทีม TIE SMART SOLUTIONS ผลงาน AI Platform for Energy Loss Diagnostics of Chiller Air-Conditioning Systems พัฒนาระบบ platform อัจฉริยะ วินิจฉัยการสิ้นเปลืองพลังงานแบบอัตโนมัติสำหรับระบบปรับอากาศ โดยใช้ machine learning algorithm แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ ในรูปแบบของ big data จากการทดสอบระบบปรับอากาศขนาดใหญ่
โดยในปีนี้มีการเพิ่มเติม 2 ประเภท คือ
ผลงานสุดยอด Prototype ได้รับเงินทุน ผลงานละ 50,000 บาท
-ทีม InnoEdge Care ผลงาน UrinO’meter
-ทีม CHIKCHIC ผลงาน ชิกชิค ฟาร์มไก่เนื้ออัจฉริยะ
-ทีมว่าง ผลงาน ว่าง: ตลาดข้อมูล (Wang: Data Market)
ผลงานสุดยอด IDEA ได้รับเงินทุน ผลงานละ 30,000 บาท
-ทีม Longtumdo ผลงาน Carekhun : Smart Homecare and Insurance
-ทีม Pharmarget ผลงาน Pharmarget
-ทีม BedBaker – Hotel Ecosystem ผลงาน BedBaker ระบบบริหารจัดการที่สร้าง Ecosystem ในการทำงานให้กับโรงแรม