“แอมเจน” รณรงค์รู้จักเข้าใจป้องกัน
เนื่องใน “วันกระดูกพรุนโลก”
ม.ร.ว.ปรียางค์ศรี วัฒนคุณ ผู้อำนวยการสำนักงานจัดหารายได้สภากาชาดไทย เป็นประธานเปิดงาน “สุขภาพเต็มร้อย” ครั้งที่ 19 จัดโดยHealthToday ภายใต้แนวคิด “ชีวิตดี๊ดี…ถ้ารู้แก้และป้องกัน” ซึ่งภายในงานบริษัท แอมเจน (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมรณรงค์ให้รู้จัก เข้าใจ ป้องกัน โรคกระดูกพรุนกับประชาชน เนื่องในวันกระดูกพรุนโลก โดยสนับสนุน การบรรยายเรื่อง “ลดเสี่ยงกระดูกพรุน เพิ่มคุณภาพชีวิต” ซึ่งได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.กระเษียร ปัญญาคำเลิศ อาจารย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้บรรยาย
รศ.นพ.กระเษียร ปัญญาคำเลิศ อาจารย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์–นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวบรรยายเรื่อง“ลดเสี่ยงกระดูกพรุน เพิ่มคุณภาพชีวิต” ว่า โรคกระดูกพรุน คือ ภาวะความผิดปกติของกระดูกที่มีการลดลงของความหนาแน่นของมวลกระดูก ส่งผลให้กระดูกมีโอกาสหักได้ง่าย นับได้ว่าเป็นภัยใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม ซึ่งร่างกายของคนเราจะมีมวลกระดูกสูงที่สุดในวัย 30 ปี หลังจากนั้นร่างกายจะค่อย ๆ สูญเสียมวลกระดูก เสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักได้ง่าย โดยเฉพาะเพศหญิงมวลกระดูกจะลดลงอย่างรวดเร็วหลังหมดประจำเดือน ซึ่งปัจจัยที่มีผลต่อมวลกระดูกนั้นมีหลายอย่าง อาทิ อายุมากพันธุกรรม ภาวะหมดประจำเดือน โรคเรื้อรังบางอย่าง การใช้ยาบางอย่าง เป็นต้น โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นผู้ป่วยมักไม่รู้ว่าตนเองมีภาวะกระดูกพรุน เนื่องจากส่วนใหญ่มักไม่มีอาการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน อาการที่อาจเป็นสัญญาณกระดูกพรุน อาทิ ปวดหลัง หลังค่อม ตัวเตี้ยลง เป็นต้น
โรคกระดูกพรุนจำเป็นต้องได้รับการดูแลและรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด การผ่าตัดหรือดามกระดูกที่หักไม่สามารถรักษาโรคกระดูกพรุนหรือลดความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกหักที่ตำแหน่งอื่น ๆ ได้ โดยแนวทางการรักษานั้นมี 2 วิธีคือ การรักษาโดยการใช้ยา ได้แก่ ยาต้านการสลายกระดูก และยากระตุ้นการสร้างกระดูก ส่วนวิธีที่ 2 คือ การบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ โดยเฉพาะอาหารที่มีแคลเซียมสูง, เสริมวิตามินดี, รักษาโรคที่มีผลให้สูญเสียมวลกระดูกได้เร็วขึ้น, หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุน เช่น กินเหล้า สูบบุหรี่ และควรออกกำลังการกายที่เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ
รศ.นพ.กระเษียร กล่าวด้วยว่า สำหรับ ภาวะกระดูกหัก หรือกระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยไม่น้อยไปกว่าเรื่องอื่น ๆ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีปัญหากระดูกพรุน ซึ่งมีภาวะของกระดูกที่เปราะบางกว่าปกติ จากสถิติผู้ป่วยที่เกิดภาวะกระดูกสะโพกหัก 50% เคยมีกระดูกหักที่อื่นมาก่อนแล้ว และ 80% เกิดเนื่องจากกระดูกพรุน ซึ่งกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แยกเป็นสถิติได้ ดังนี้ 50% ของผู้ป่วย ต้องมีเครื่องช่วยเดิน, 25% ของผู้ป่วยมีความพิการตลอดชีวิตและอาจจะต้องนอนติดเตียง, 22% ต้องได้รับการช่วยเหลือในการขับถ่าย, 11% ผู้ดูแลต้องให้การช่วยเหลือผู้ป่วยในการอาบน้ำ และ 5 % ต้องได้รับการช่วยในการรับประทานอาหาร
นอกจากนี้ต้องให้ความสำคัญในการป้องกันและการดูแลไม่ให้ผู้ป่วยล้ม คอยพยุงให้ผู้ป่วยมีการทรงตัวที่ดี ตรวจสอบผลข้างเคียงของยาที่ทำให้มึนงง ปวดศรีษะ เดินเซ หรือไม่ รวมถึงการปรับปรุงสภาพแวดล้อมและที่อยู่อาศัยให้เหมาะสม เพื่อป้องกันการหกล้มหรือเกิดอุบัติเหตุ ที่จะส่งผลให้เกิดภาะวะกระดูกหักซ้ำได้
ภายในงานยังได้มีการเปิดตัว Facebook Page “กระดูกกระเดี้ยว”เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคกระดูกพรุน โดยชมรมรักษ์กระดูกมูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย อีกด้วย