เที่ยวบ้านฉัน…ไปแล้วจะรู้
อยู่แล้วจะรัก..จันทบุรี (1)
ต้องยอมรับว่า การท่องเที่ยวมีส่วนสำคัญช่วยสร้างรายได้ให้แก่ประเทศชาติได้อย่างมากในแต่ละปี รัฐบาลจึงส่งเสริมกระตุ้นการท่องเที่ยวมาอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากนักท่องเที่ยวนิยมเที่ยวในเมืองหลัก รัฐบาล นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่นิยมเดินทางท่องเที่ยว เฉพาะ 22 เมืองหลัก อาทิ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ นครราชสีมา ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์และภูเก็ต เป็นต้น รัฐบาลจึงได้ส่งเสริมนโยบายการท่องเที่ยวเมืองรอง 55 เมือง และมีแนวคิดส่งเสริม “การท่องเที่ยวแอ่งเล็ก” หรือ “การท่องเที่ยวชุมชน” เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้กระจายไปเที่ยวในแอ่งเล็ก (หมู่บ้าน/ชุมชน) มากขึ้น ซึ่งจะเป็นการกระจายรายได้สู่เศรษฐกิจฐานราก สร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนท้องถิ่น ช่วยให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม
การพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จึงได้จัดทำ โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ซึ่งเป็นการดำเนินการตามแนวทางพัฒนาเชิงพื้นที่และสอดพ้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และเป็นการเปลี่ยนผ่านจากโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์(OTOP) เดิมที่เริ่มขึ้นในปี 2544 สู่ OTOP ยุคใหม่ นั่นคือ เปลี่ยนจากการผลักดันขายสินค้า OTOP ออกจากชุมชนเพียงด้านเดียว สู่การเพิ่มช่องทางสร้างรายได้ตามความต้องการ (Demand Driven Local Economy)
โดยขายสินค้าอยู่ในชุมชน ที่มาจากการท่องเที่ยว โดยใช้เสน่ห์ ภูมิปัญญา วิถีชีวิต วัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์ แปลงเป็นรายได้ ซึ่งทำให้ครอบครัวและลูกหลานยังอยู่ร่วมกัน ไม่ต้องแข่งขันกันนำผลิตภัณฑ์ออกไปขายนอกชุมชน เป็นชุมชนท่องเที่ยวที่เป็นเจ้าบ้านที่ดี ชวนกันคิด ชวนกันทำ ผลิตสินค้าและบริการ รวมทั้งมีการเชื่อมโยง เส้นทางท่องเที่ยวระดับชุมชน ที่มีเสน่ห์ดึงดูด และมีคุณค่าเพียงพอให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมเยือนและใช้จ่ายเงินในทุกกิจกรรมของชุมชน ซึ่งรายได้จะกระจายอยู่กับคนในชุมชน ทุกคนมีความสุข เป็นการสร้าง ความเข้มแข็งให้กับชุมชน (Strength with in) และเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างแท้จริง
ทั้งนี้พื้นที่เป้าหมายดำเนินงานโครงการ มีจำนวน 3,273 หมู่บ้านทั่วประเทศ ซึ่งจะมีการพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและสิ่งอำนวยความสะดวก พัฒนาสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว เชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวแต่ละท้องถิ่น ส่งเสริมการตลาดชุมชนท่องเที่ยว เพื่อไปสู่เป้าหมาย คือ ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวของหมู่บ้านเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10%
สำหรับ “จังหวัดจันทบุรี” ทางพัฒนาชุมชนจังหวัดจันทบุรี ได้เร่งขับเคลื่อนชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี เช่นกัน ซึ่งมีชุมชนอยู่กว่า 41 หมู่บ้าน ใน 10 อำเภอ ซึ่งแต่ละหมู่บ้านหรือชุมชนต่างมีเสน่ห์ชวนให้มาเยือนแตกต่างกันได้ ล่าสุดได้จัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร พาสื่อ Blogger และ web master แนะนำแหล่งท่องเที่ยวชุมชน 41ชุมชน ระหว่างวันที่ 17-20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สร้างความประทับใจแก่สื่อมวลชนกันถ้วนหน้า
หมู่บ้านหรือชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีพื้นที่แรก ที่พาไปเยือนกันอยู่ในเขตอ.โป่งน้ำร้อน
1.“บ้านทุ่งกร่าง”
หลังจากออกเดินทางจากกทม.แต่เช้าตรู่ คณะสื่อมวลชนเดินทางถึงพื้นที่แรกของอ.โป่งน้ำร้อน ซึ่งมีหลายหมู่บ้านที่ชวนให้ไปสัมผัสวิถีวิชีวิตดั้งเดิม
ประเดิมกันที่ “บ้านทุ่งกร่าง” ตั้งอยู่ที่หมู่ ๔ ตำบลทับไทร อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี ซึ่งมีคำเชิญชวนให้ไป “ช้อป ชิม ริมคลองกร่าง ชมป่าพรรณไม้เถาวัลย์ร้อยปี”
หมู่บ้านแห่งนี้มีความเป็นมาที่บอกเล่าต่อกันมาว่า นายช้าง ดอกไซ ผู้ใหญ่บ้านที่มาจากพระตะบองเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๑ ซึ่งในเวลานั้นยังเป็นดินแดนของประเทศไทยและเริ่มก่อตั้งหมู่บ้านทุ่งกร่างขึ้นปี พ.ศ. ๒๔๖๕ โดยคำว่าทุ่งกร่าง ที่มาจาก มีชาวบ้านได้ไปเที่ยวป่าหัวคลองทุ่งกร่างได้ไปเจอทองคำก้อนใหญ่ มีรูปร่างคล้ายเขาวัว เหลืองอร่าม ซึ่งภาษาชองเรียกว่า กร๊าง หรือ โกร๊งกร่าง แปลเป็นภาษาไทยคือ ทองกร่าง ต่อมาชาวบ้านก็เริ่มเรียกขานจาก “โกร๊งกร่าง” และเพี้ยนมาเป็น “ทุ่งกร่าง” จนถึงทุกวันนี้
อีกนัยหนึ่งคำว่า “กร่าง” เป็นชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่งซึ่งจากหลายตำนานชาวบ้านเชื่อกันว่า เป็นต้นไม้แห่งยาวิเศษ มีชนเผ่าพวนเดิมที่มาจากเทือกเขาอันไตเป็นเจ้าอาณาจักรล้านช้าง หรือประเทศลาวในปัจจุบันอพยพมาตั้งรกรากที่บ้านทุ่งกร่างเมื่อประมาณปี พ.ศ ๒๕๑๗
ในหมู่บ้านมีสถานที่ให้ไปเยี่ยมชมหลายอย่าง เช่น วัดทุ่งกร่าง เป็นวัดประจำหมู่บ้าน ที่เกิดจากการอุทิศที่ดินส่วนตัวเพื่อสร้างเป็นวัด ภายในวัดมีหลวงพ่อดำพระพุทธรูปเก่าแก่ที่มีอายุมากกว่า ๔๐๐ ปีและพระศรีโพธิ์ทองที่ชาวบ้านร่วมกันทำพิธีหล่อองค์พระขึ้น อีกทั้งยังมีศาลต้นตะเคียนที่มีเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับความเชื่อความศรัทธาของคนในหมู่บ้านอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีตลาดผลไม้สายอุโมงค์ ซึ่งชาวบ้านนำผลผลิตเช่นผลไม้พืชผักมาขายริมถนน มีศูนย์วิจัยแมลง ต้นเถาวัลย์ ๑๐๐ ปีเถาวัลย์ หรือต้นกระไดลิง
ผลิตภัณฑ์ในชุมชน ลำไยลอยแก้ว สร้อยข้อมือถัก น้ำมังคุดผสมลำไย น้ำพริกเผาลำไยอบแห้ง น้ำพริกนรกกุ้งกระวาน กล้วยฉาบบ้านทุ่งเบรคแตก ตะกร้าเชือกมัดฟาง ขนมเคอรี่พั๊ฟงาดำ ยางล้อเราไม่เก่าเลย เป็นการนำยางรถยนต์มาแปรรูปเพิ่มมูลค่า เป็นรถตกแต่งบ้านสวยงาม และกระวานสด
2.“บ้านโป่งน้ำร้อน”
บ้านโป่งน้ำร้อน หมู่ ๖ ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี มีคำเชิญชวนเก๋ ๆว่า “บ่อน้ำพุขึ้นชื่อ เลื่องลือสวนลำไย สุขใจเขาชวัง” ซึ่งชื่อ “โป่งน้ำร้อน” นั้นมาจากบริเวณที่ตั้งของหมู่บ้านมีสภาพพื้นที่ดินเป็น “โป่ง” แหล่งเกลือแร่ที่เป็นอาหารของสัตว์ป่าและมีน้ำร้อนผุดขึ้นมาจากใต้ดิน ชาวบ้านจึงเรียกรวมกันว่า “โป่งน้ำร้อน”
สถานที่ท่องเที่ยวพลาดไม่ได้ คือ วัดเขาชวัง มีที่มาจากชื่อ “หวาย” ที่ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก คนโบราณเรียกหวายจำพวกนี้ว่า “หวายชวัง” และกลายเป็นชื่อวัดตามชื่อหวายที่คนโบราณเรียก วันนี้มีงานสถาปัตยกรรมไม้ที่งดงามโดดเด่นทีเดียว นอกจากนี้ยังมีพระหยก ซึ่งเป็นพระประธาน ที่สร้างจากหยกสีขาว องค์เปล่งประกายด้วยเนื้อหยกสีขาวนวล พระบรมสาทิสลักษณ์ ร.๑๐ ประดับพลอย อวดฝีมือของช่างเมืองจันทบุรีที่ขึ้นชื่อเรื่องงานพลอย
มีบ่อน้ำพุร้อน อยู่ห่างจากอำเภอโป่งน้ำร้อน 18 กิโลเมตร ตั้งอยู่บนเส้นทางหลวง หมายเลข 3193 ๒ บ่อจาก๓ บ่อ เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของชาวจันทบุรีพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการหลายอย่าง เช่น อ่างแช่น้ำแร่ ๒ บ่อและห้องนวดแผนไทย ธารน้ำพุร้อน และลานเล่นน้ำพุ และห้องอบซาวน่า ๘ ห้อง
3. “บ้านดงจิก”
ตั้งอยู่หมู่ ๕ ตำบลทับไทร อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี มีคำเชิญชวนให้ไปเยือนว่า “ชิมอาหารชอง ชมคลองพระพุทธอ่างใหญ่ ลําไยกรอบหวาน ปั่นจักรยานชมวิว” โชว์เสน่ห์ความเป็นหมู่บ้านเก่าแก่อายุมากกว่า ๑๐๐ ปี คนพื้นที่ส่วนใหญ่เดิมเป็นคนชอง ที่มีแค่ภาษาพูดไม่มีภาษาเขียน ผู้คนในหมู่บ้านรักสงบสามัคคี วิถีชีวิตแบบดั้งเดิม เดิมมีชื่อว่า หมู่บ้านกระดัก ซึ่งแปลว่า ต้นจิก และได้ยึดมาเป็นชื่อของหมู่บ้านดงจิก
เมื่อมาบ้านดงจิก ก็คงต้องมาชมต้นจิกและดอกจิกอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะถือเป็นต้นไม้คู่หมู่บ้าน มีดอกสีแดงยาวเป็นพู่ระย้าสวยงามและกลิ่นหอม ต้นสูงประมาณ4เมตร ใบดกหนา ให้ร่มเงา กันลมและฝนได้ดี จึงเป็นแหล่งพักพิงที่โปรดปรานของนกและเพิ่มอีกเสน่ห์ให้กับหมู่บ้านดงจิกแห่งนี้
ส่วนสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองพระพุทธ ที่มีทิวทัศน์สวยงาม มีการจัดกิจกรรมล่องเรือชมวิวอ่างเก็บน้ำชมความงาม ๒ ข้างทาง ที่รายล้อมไปด้วยธรรมชาติและสัตว์นานาชนิด ในช่วงฤดูหนาวยังมีฝูงนกเป็ดน้ำมาเล่นน้ำ หาอาหารให้ดูกันเพลิน มีจุดชมวิวทุ่งหญ้าสีชมพู ที่งดงามเหมือนภูเขาที่ถูกทาสีชมพูเอาไว้ เหมาะสำหรับกางเต็นท์พักผ่อน
เที่ยวชมวิวแล้วไปช้อปผลิตภัณฑ์พื้นถิ่นกลับไปเป็นของฝากกันได้ เช่น น้ำหมักผลไม้เพื่อการเกษตร ฮอร์โมนน้ำหมักปลา กระเป๋าสานเส้นพลาสติก ตะกร้าหนังเทียม เฟรนซ์ฟรายส์กระวาน พริกแกง ไข่เค็มกระวาน ปลาส้มคลองพระพุทธ น้ำสมุนไพรกระวาน ปลาแห้งสมุนไพร
4. “บ้านเขาถ้ำสาริกา” ตั้งอยู่บ้านเขาถ้ำสาริกา หมู่ ๙ ตำบลทับไทร อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี มีคำเชิญชวนว่า “สัมผัสวิวอ่างเก็บน้ำ หลวงพ่อดำพระศักดิ์สิทธิ์ เดินพิชิตถ้ำสาริกา เห็ดนางฟ้ารสเลิศล้ำ”
มีตำนานเล่าว่า หมู่บ้านแห่งนี้มีภูเขาอยู่ลูกหนึ่ง มีถ้ำอยู่ ๖ แห่ง มีพระธุดงค์มา อยู่ที่ถ้ำแห่งนี้ วันหนึ่งมีนกสาลิกาคู่หนึ่ง มากินข้าวที่พระคุณเจ้าโปรยไว้ที่โขดหินหน้าถ้ำ จากนั้นญาติโยมผู้มีจิตศรัทธาพากันขึ้นมานมัสการพระคุณเจ้า ท่านจึงพูดให้ญาติโยมฟังว่าที่ถ้ำแห่งนี้มีนกสาลิกาอยู่คู่หนึ่งตัวเท่าแม่ไก่ชาวบ้านจึงได้เรียกหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านเขาถ้ำสาริกา”
เมื่อไปเยือนจะได้สัมผัสวิถีชุมชนบ้านเขาถ้ำสาริกา ซึ่งชาวบ้านให้ความสำคัญในการทำบุญประกอบพิธีทางศาสนาในวันสำคัญต่างๆ ภายในวัดมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากมาย อาทิ หลวงพ่อพระใหญ่ด้านบนของเขา หลวงพ่อดำพระพุทธรูปเก่าแก่อายุกว่า ๒๐๐ ปี
ยังมีอีกหลายหมู่บ้านให้ติดตามกัน .. พบกันในตอนที่ 2 …มาเที่ยวบ้านฉัน…ไปแล้วจะรู้ อยู่แล้วจะรัก..จันทบุรี จ้า
ขอบคุณข้อมูลจาก-กองแผนงาน กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย
(http://plan.cdd.go.th/wp-content/uploads/sites/97/2018/08/manual100661-1.pdf)
#Otopนวัตวิถี
#เที่ยวบ้านฉันจันทบุรี
#ไปแล้วจะรู้อยู่แล้วจะรัก #จันทบุรี
#ชุมชนท่องเที่ยวOtopนวัตวิถี
#41ชุมชนจันทบุรี
#พัฒนาชุมชนจันทบุรี
#นวัตวิถีจันทบุรี