จาก “กาบกล้วย” ด้อยค่า
สู่ “ผลิตภัณฑ์ผ้าทอเส้นใยกล้วย”
ต้องยอมรับว่า “กล้วย” เป็นพืชใกล้ตัวที่มากประโยชน์จริง ๆ โดยทุกส่วนตั้งแต่ใบยันราก สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หมด นอกจากเป็นผลไม้ที่อร่อยถูกปาก มีคุณค่าทางโภชนาการสูงแล้ว ใบยังนำมาใช้ห่อขนม กระทงหรือทำบายศรี หัวปลีใช้ทำอาหาร ลำต้นอ่อนหรือที่เราเรียกกันว่า “หยวก” ใช้ทำอาหารสัตว์ และใช้เป็นสมุนไพร รักษาผิวหนัง ผื่นแดง พันแผลไฟไหม้และน้ำร้อนลวกได้ ในอดีตยังมีการนำมาทำเชือกกล้วย ไว้ผูกรัดสิ่งของแข็งแรงทนทาน เวลานี้นักวิจัยไทย จากมหาวิทยาลัยพายัพ ยังศึกษาวิจัยมาอย่างต่อเนื่องสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีแปลงเส้นใยกล้วยสู่ผืนผ้าและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรมที่สวยงามได้อย่างน่าทึ่ง และได้รับความสนใจจากทั้งชาวไทยเองและชาวต่างประเทศที่ได้พบเห็น ล่าสุดทาง สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)ผู้ให้การสนับสนุนได้นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมงานชุมชนและกลุ่มทอผ้า ณ อำเภอปัว และอำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน เพื่อเผยแพร่ผลงานและกิจกรรมของ วช. ไปสู่สาธารณชนได้รับทราบและนำไปสู่การใช้ประโยชน์
ศาสตราจารย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2560 วช. ได้สนับสนุนการทำกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยโครงการ “Research for Community วิจัยเพื่อชุมชนสังคม” โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจากเส้นใยกล้วยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและกลยุทธ์การจัดการผลิตภัณฑ์ในจังหวัดภาคเหนือ (ได้แก่ จังหวัดลำพูน พะเยา แพร่ น่าน และกำแพงเพชร ) แก่ รองศาสตราจารย์อเนก ชิตเกษร และรองศาสตราจารย์พรรณนุช ชัยปินชนะ และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยพายัพ เพื่อถ่ายทอดกระบวนการผลิตผ้าทอจากเส้นใยกล้วยย้อมสีธรรมชาติด้วยกี่กระทบและการแปรรูป
ด้านรองศาสตราจารย์อเนก ชิตเกษร หัวหน้าโครงการวิจัย พร้อมรองศาสตราจารย์พรรณนุช ชัยปินชนะ เพื่อนร่วมทีมจากมหาวิทยาลัยพายัพ เปิดเผยถึงความเป็นมาของโครงการนี้ว่า เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากต้นกล้วยที่ไม่มีมูลค่าแล้ว มาทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้น โดยใช้ภูมิปัญญาที่มีอยู่ในชุมชน ไม่ต้องลงทุนเพิ่ม เพื่อลดต้นทุนให้สามารถนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าในอนาคตได้ โดยต่อยอดจากงานวิจัยเส้นใยกล้วยเมื่อกว่า 10 ปีก่อนที่มหาวิทยาลัยพายัพสนับสนุน ซึ่งนักวิจัยพบว่า เส้นใยกล้วยสามารถมาทอเป็นผืนผ้าได้ แต่มีลักษณะของความหนา จะไม่พริ้วเหมือนผ้าฝ้าย จึงใช้เส้นฝ้ายเป็นเส้นยืนและใช้เส้นใยกล้วยเป็นเส้นพุ่ง เพื่อให้เกิดความผสมผสานกันและนำไปแปรรูป ซึ่งเทียบกับเสื้อผ้าไม่ได้
“ความจริงแล้วนำไปทำผ้าโดยตีปั่นผสมเส้นฝ้ายได้ แต่ต้องมีเครื่องตี ซึ่งตามโจทย์ของวช.นั้นจำกัดให้ใช้เครื่องมือที่มีอยู่ในชุมชน ไม่ให้ซื้อเครื่องมือ”
รองศาสตราจารย์อเนก กล่าวต่อว่า การวิจัยครั้งนี้ได้ทำให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ซึ่งก่อให้เกิดรายได้และชุมชนสามารถนำวัสดุหรือวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยเฉพาะต้นกล้วยซึ่งเป็นพืชที่ชาวบ้านปลูกไว้บริโภคกันอยู่แล้ว สามารถนำมาใช้ได้ทุกชนิด โดยเลือกใช้ต้นวัยสาวหลังตัดกล้วยแล้วที่มักจะต้นต้นทิ้งเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์เพิ่มมูลค่า ซึ่งในการศึกษาพบว่า ต้นกล้วยน้ำว้า มีคุณสมบัติให้เส้นใยมีความเหนียวมากที่สุด กล้วย 1 ต้นจะได้เส้นใหญ่ประมาณ 100 กรัม
รองศาสตราจารย์อเนกกล่าวอีกว่า สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการนั้น ได้คัดเลือกจากกลุ่มที่มีความสมัครใจ มีพื้นฐานด้านทอเป็นหลัก ซึ่งขณะนี้มีเข้าร่วมโครงการ 12 กลุ่ม ใน 5 จังหวัดภาคเหนือ คือ จังหวัดลำพูน พะเยา แพร่ น่าน และกำแพงเพชร โดย จ.น่านมี 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มทอผ้าลายน้ำไหลไทลื้อ บ่านหล่ายทุ่ง อ.ทุ่งช้างและกลุ่มแพวผ้าฝ้าย อ.ปัว
ทั้งนี้นักวิจัยได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ใช้ผสมผสานกับภูมิปัญญา ถ่ายทอดกระบวนการผลิตการขูดเส้นใยกล้วย การย้อมสีจากธรรมชาติ ซึ่งมีการเพิ่มเติมสีเฉดอื่น เช่น ใบตะเคียนหนู และใบอโวคาโด ที่เดิมอาจไม่รู้ว่าให้สี แต่หลังการทดลองแล้วปรากฎว่า ให้สีออกมาสวยงามเป็นเขียวและเขียวอ่อน นอกจากนี้ยังมีการกระตุ้นสีโดยใช้ธรรมชาติ เช่น ขี้เถ้า และน้ำสารส้ม เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้เฉดสีเพิ่มเติม พร้อมใช้เทคนิคการย้อมร้อนเพื่อช่วยให้สีติดทนนาน ไม่เป็นเกิดเชื้อรา
ปัจจุบันสีที่ได้จากธรรมชาติมีหลายสีด้วยกัน เช่น สีแดงมาจากเปลือกประดู่, กระเจี๊ยบ-ครั่งให้สีออกแดง-ชมพู,ใบตะเคียนหนู สีเขียวและเขียวอ่อน, ขี้เลื่อยต้นขนุนให้สีเหลืองและสีแสดจากเม็ดคำเงาะ
“การทอผ้าจากเส้นใยกล้วย มีการสร้างลวดลายใหม่ๆ ได้ตามความต้องการและด้วยคุณสมบัติที่ยังมีความแข็งอยู่ จึงใช้เป็นเพียงการเติมแต่งเป็นส่วนประกอบของเสื้อผ้าเท่านั้น เช่นส่วนแขนและปลายแขน หรือลวดลายบางส่วน และมีการยกระดับสู่ผลิตภัณฑ์พรีเมียมเพื่อเพิ่มมูลค่าของผ้าทอเส้นใยกล้วยเช่น ทำเป็นกระเป๋า หลากหลายขนาดและรูปแบบ หรือเป็นเสื่อผืนเล็ก ๆ สวยงาม ได้รับการขานรับจากตลาดเป็นอย่างดี จนผลิตภัณฑ์ที่ออกมาสามารถขายได้ทั้งหมด
ที่ผ่านมาเคยนำไปเสนอขายที่งาน Thailand 4.0 ที่สยามพารากอน ตั้งราคาที่ 3,500 บาท สามารถขายได้หมด ถ้ามีการบอกเล่าเรื่องราว ความเป็นมาของวัสดุที่มาจากธรรมชาติ เชื่อว่า ขายได้อย่างแน่นอน ผู้ค้าจากญี่ปุ่นก็ให้ความสนใจมาซื้อไปขาย”
นอกจากการนำองค์ความรู้จากการทอผ้าใยกล้วยย้อมสีธรรมชาติแล้ว นักวิจัยยังให้ความรู้ด้านอื่นๆด้วย ทั้งการจัดการสำหรับวิสาหกิจ (SME) และกลุ่มทอผ้าที่เข้าร่วมโครงการสามารถกำหนดกลยุทธ์การจัดการผลิตภัณฑ์ การคำนวณต้นทุน และการกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพ สามารถนำเสนอสินค้าไปยังกลุ่มเป้าหมาย และสร้างรายได้ให้แก่ กลุ่มชุมชน
อีกทั้งยังมีการจัดทำคู่มือเพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ และเผยแพร่วิดีโอขั้นตอนการย้อมสีธรรมชาติผ่านเวปไซด์ บานานาเท็กซ์ไทล์ดอทคอม (http://bananatextile.com/index.php) ทำให้ชุมชนมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น เปิดโอกาสให้ชุมชนได้รับคัดเลือกเป็นแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบ ช่วยส่งเสริมรายได้และเศรษฐกิจในชุมชนให้มีมากขึ้น เป็นการสร้างรายได้และโอกาสทางการตลาดและช่องทางในการจัดจำหน่ายให้กับผู้บริโภคทั้งในและนอกชุมชน
อย่างไรก็ดี รองศาสตราจารย์อเนก ยอมรับว่า “ณ วันนี้การผลิตและรายได้ชาวบ้านอาจยังไม่เพียงพอ แต่ในอนาคตจะมีการพัฒนาต่อไป โดยจะผลักดันสร้างคน สร้างบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเพิ่มขึ้นและคิดค้นเทคนิคและวิธีการเพื่อทำให้สามารถทอได้อย่างรวดเร็วขึ้น เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของตลาด
ส่วนการขยายผลโครงการในขณะนี้นั้น มีบางโรงเรียนให้ความสนใจ นำองค์ความรู้ไปขยายผลต่อโดยนำไปเป็นวิชาเสริมการเรียนรู้ในโรงเรียนบ้างแล้ว ซึ่งคุณครูและโรงเรียนมีความสนใจที่จะนำไปพัฒนาเป็นหลักสูตรต่อไป”
ด้านนางชนิกา โสดานาฏ ประธานกลุ่มทอผ้าบ้านหล่ายทุ่งกล่าวว่า โครงการนี้เป็นประโยชน์อย่างมาก นอกจากชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว ยังได้ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด เพราะแม่บ้านที่ทำทอผ้าจะพาพ่อบ้านมาช่วยทำงานด้วย นอกจากนี้ต้นกล้วย ยังคเป็นต้นพืชที่ปลูกกันในเกือบทุกบ้านอยู่แล้ว
กระบวนการผลิตมีหลายขั้นตอนตั้งแต่ขูดเส้นใยกล้วย ย้อม ทอ กว่าจะได้เป็นผลิตภัณฑ์ที่สวยงามออกมา
กล่าวได้ว่า เป็นอีกโครงการดีที่ดี ที่ควรได้รับการสนับสนุนส่งเสริมไปอย่างต่อเนื่อง ไม่แน่ในอนาคต เราอาจได้เห็นผลิตภัณฑ์จากผ้าทอใยกล้วยไปตีตลาดและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในตลาดต่างประเทศ ก็เป็นได้…