วงการวิจัยเสนอทบทวน
ร่างพ.ร.บ.ตั้งก.การอุดมศึกษาฯ
สมาคมส่งเสริมการวิจัย จัดเวทีเสวนาเรื่อง “ร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ …) พ.ศ….จะบวกหรือลบ กับระบบวิจัยและนวัตกรรมของชาติ” โดยมีนักวิจัยจากหลากหลายสาขาเข้าร่วม ณ โรงแรมมารวยการ์เด้นส์ วันนี้ (30 พ.ย. 61) พร้อมสรุปข้อเสนอให้ทบทวน พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้อง 4 ฉบับ เพื่อให้โครงสร้างใหม่ครอบคลุมมากขึ้น ทั้งเรื่องกำลังคน งบประมาณ และงานวิจัยด้านสังคมศาสตร์
การเสวนาครั้งนี้ ผู้อภิปรายบนเวที ประกอบด้วย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังสี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร, ศาสตราจารย์ ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช ผู้อำนวยการ Center of Excellence in Electromagnetic Energy Utilization in Engineering (CEEE) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รองศาสตร์ ดร.พันธนันท์ หรรษาภิรมย์โชค รองเลขาธิการศูนย์ประสานงานในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ และดำเนินการเสวนาโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พร.พิพัฒน์ นนทนาธรณ์ นายกสมาคมนักวิจัยแห่งประเทศไทย สรุปโดยรวมของเวทีส่วนใหญ่เห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีปัญหาด้านโครงสร้าง โดยเฉพาะ การแยกส่วนราชการกับองค์กรอิสระอาจสร้างความไม่เสมอภาคและเกิดความซับซ้อนในการทำงาน
นอกจากนี้ โครงสร้างใหม่ที่มีหลายหน่วยงานอาจมีปัญหาในขั้นตอนด้านการจัดทำร่างกรอบงบประมาณที่ยุ่งยากและใช้เวลานาน ขณะที่ปัญหาด้านกำลังคนที่ต้องเรียนรู้งานใหม่ ที่สำคัญหน่วยงานสนับสนุนด้านวิจัย อย่างสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. ที่จัดตั้งมายาวนานไม่มีส่วนร่วม อยู่ในโครงสร้างตามร่าง พ.ร.บ. เพราะถูกยุบ ควบ รวม ให้มีบทบาทใหม่ที่บุคลากร ไม่มีความเชี่ยวชาญ และผลกระทบต่อประเทศที่เห็นได้ชัดเจนคือกรอบการวิจัยด้านสังคมศาสตร์ถูกมองข้าม ทั้งที่การวิจัยจำเป็นต้องบูรณาการกันทุกด้าน เพื่อให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้
อย่างไรก็ตาม แม้ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีเจตนาที่ดีที่นำไปสู่ความก้าวหน้า แต่เมื่อวงการวิจัยมองเห็นปัญหาของการจัดตั้งกระทรวงใหม่ก็จำเป็นต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น และเปิดรับฟังความเห็นในวงกว้าง ซึ่งผู้เข้าร่วมเสวนาได้เสนอความคิดเห็นหลากหลายประเด็น พร้อมสรุปความคิดเห็นร่วมกัน ให้มีการทบทวนพิจารณาร่าง พ.ร.บ. 4 ฉบับที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ…. ร่าง พ.ร.บ.สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ…. ร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ….. และร่าง พ.ร.บ. การส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ….
สำหรับข้อสรุปจากการเสวนาครั้งนี้ ได้เสนอให้ปรับปรุงโครงสร้างของกระทรวงการอุดมศึกษาวิจัยและนวัตกรรมให้ครอบคลุมในทุกประเด็น ได้แก่ งานอุดมศึกษา งานวิจัยและนวัตกรรม งานการนำผลงานไปใช้ประโยชน์ (Marketing Agency) และควรให้มีการขยายเวลารับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนอื่น ๆ เช่น ภาคเอกชน ภาคชุมชน และภาคประชาชนด้วย นอกจากนี้ โครงสร้างตาม พ.ร.บ.4 ฉบับ มุ่งเน้นการแข่งขันยังขาดการแบ่งปัน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งยังขาดภารกิจงานด้านสังคมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญในการพัฒนาประเทศเพื่อความมั่นคงและยั่งยืน ตลอดจนโครงสร้างยังไม่ตอบเป้าหมายสากลของการพัฒนาอย่างยั่งยืนครบทั้ง 17 ข้อ