‘อุตตม’ ถก.ภาครัฐ-เอกชนอิสานบน1
ชูอุตฯเกษตรแปรรูปผ้าทอมือสู่สากล
รมว.อุตสาหกรรม เป็นประธานการประชุมร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการและเอกชนในพื้นที่กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน1 (บึงกาฬ เลย หนองคาย หนองบัวลำภูและอุดรธานี) ณ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี จ.อุดรธานี หนุนอุตฯเกษตรแปรรูป เน้นข้าวและสมุนไพร พร้อมยกระดับผ้าทอมือสู่สากล
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายพสุ โลหารชุนปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงอุตสาหกรรม ได้หารือร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการและภาคเอกชนโดยสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า สมาพันธ์ SME ไทย ในพื้นที่กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนบน 1 (บึงกาฬ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานี) ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี ในระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 9/2561
นายอุตตมฯ กล่าวว่า กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ได้กำหนดแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ระยะ 4 ปี (พ.ศ.2561-2564) โดยมีศักยภาพด้านเกษตรอุตสาหกรรมชั้นนำ การค้า และการท่องเที่ยวสากล ชุมชนน่าอยู่อย่างยั่งยืน ซึ่งจากการหารือภาคเอกชนในพื้นที่ได้นำเสนอโครงการเพื่อสนับสนุนการยกระดับการผลิตและการสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิต
ที่ประชุมร่วมกันพิจารณาก่อนนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ในวันที่13 ธันวาคม 2561) ดังนี้
1)โครงการพัฒนาศักยภาพเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป (ข้าวและสมุนไพร ) เพื่อยกระดับผู้ประกอบการให้มีความสามารถด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์อาหารจากวัตถุดิบภายในประเทศ พัฒนานวัตกรรมอาหารอนาคตที่มีมูลค่าสูงสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ เชื่อมโยงและเปิดตลาดสู่ตลาดโลกด้วยช่องทางดิจิทัล พร้อมสร้างปัจจัยสนับสนุนที่เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารและการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ โดยภาคเอกชนมีความต้องการให้กระทรวงอุตสาหกรรม พัฒนาและยกระดับในด้านองค์ความรู้และการแปรรูปผลิตภัณฑ์เรื่องข้าวอินทรีย์/สมุนไพรในพื้นที่ให้ตรงกับความต้องการของตลาดและเพิ่มมูลค่าในตัวผลิตภัณฑ์ โดยคาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในกลุ่มจังหวัดกว่า 1,423 ล้านบาท
ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม โดยศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 4 จ.อุดรธานี ) จะช่วยสนับสนุนและให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีการผลิต การบรรจุ บรรจุภัณฑ์และการออกแบบแก่ผู้ประกอบการ SMEs ได้ ส่งเสริมระบบมาตรฐานในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร เช่น มผช. มอก.s ฯลฯ
2)โครงการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้และการยกระดับผ้าทอมือสู่สากล เพื่อ 1)รวบรวมองค์ความรู้ ภูมิปัญญาและพัฒนาวัตถุดิบผ้าทอมือให้ได้มาตรฐาน พัฒนาการผลิตเส้นใยไหม เส้นใยฝ้ายสู่มาตรฐาน จัดหาเครื่องมือปั่นไหม ฝ้าย รวบรวมภูมิปัญญาและเอกลักษณ์ผ้าทอมือ และตั้งศูนย์ภูมิปัญญาและการเรียนรู้ผ้าทอมือลุ่มน้ำโขง 2)ยกระดับผ้าทอมือ สร้างมูลค่าและเพิ่มศักยภาพสู่สากล พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือให้ตรงกับกลุ่มผู้ใช้และกลุ่มตลาดต่างประเทศ ฝึกอบรมสร้างเยาวชนนักออกแบบรุ่นใหม่ สร้างผู้ประกอบการผ้าทอมือรุ่นใหม่ พัฒนาตราสินค้า บรรจุภัณฑ์ ตั้งศูนย์ภูมิปัญญาและการเรียนรู้ผ้าทอมือลุ่มน้ำโขง และ 3. การส่งเสริมการตลาดผ้านาข่า พัฒนาตลาดนาข่าให้เข้าสู่ระบบ Smart Market ตั้งศูนย์กระจายสินค้า Distribution Center สร้างการรับรู้ในระดับสากล วงเงินงบประมาณ 97 ล้านบาท โดยคาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมผ้าทอพื้นเมืองกว่า 4,000 ล้านบาท
ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 4 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ธนาคารวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เข้าไปศึกษาในรายละเอียดของโครงการฯ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการยกระดับผ้าทอมือในพื้นที่ต่อไป
3)โครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ตำบลโนนสูง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี พื้นที่ 2,170 ไร่ โดยภาคเอกชนขอรับการสนับสนุน สิทธิประโยชน์ต่างๆให้เทียบเท่าผู้ประกอบการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เนื่องจากมีความพร้อมด้านการลงทุนและการดำเนินการของเอกชนในพื้นที่และอยู่ห่างจากชายแดนเพียง 53 กิโลเมตร พร้อมทั้งเสนอให้มีการสำรวจและศึกษาเพื่อก่อสร้างถนน Local Road เชื่อมต่อจากถนนเลียบทางรถไฟหนองตะไก้จนถึงใจกลางเมืองอุดรธานี ระยะทาง 15 กิโลเมตร เพื่อเพิ่มเส้นทางสัญจรและรองรับการเติบโตของชุมชนรอบนิคมฯ ในอนาคต โดยคาดว่าหากโครงการสำเร็จจะมีโรงงานเกิดขึ้น 80-100 โรงงาน เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น 15,000-20,000 อัตราในพื้นที่ และจะก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนประมาณ 100,000 ล้านบาท