เที่ยวบ้านฉัน…ไปแล้วจะรู้
อยู่แล้วจะรัก..จันทบุรี (4)
พบกันอีกครั้งกับการท่องเที่ยวชุมชนเมืองจันทบุรีหรือ “ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี” คราวนี้ขอวกเข้ามาเที่ยวชุมชนในตัวเมืองกันบ้าง ดีกว่า ในอ.เมืองจันทบุรี ก่อนไปต่อที่อ.มะขามกัน
อ.เมืองจันทบุรี
17. บ้านท่าเรือจ้าง หมู่ ๕ ตำบลจันทนิมิต อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี
เริ่มกันที่ บ้านท่าเรือจ้าง ซึ่ง มีคำขวัญ “ตำนานบ้านท่าเรือจ้าง อาสนวิหารงามหรู คู่แม่พระประดับพลอย ตามรอย ๓ วัฒนธรรม” โดยเป็นชุมชนญวนอพยพมาตั้งรกรากอยู่บริเวณท่าน้ำเมืองจันทบุรีฝั่งตะวันตกเมื่อกว่า ๓๐๐ ปีก่อน ซึ่งปัจจุบันยังคงรักษาขนบธรรมเนียมดั้งเดิมไว้ได้ พร้อมกับปรับตัวเข้ากับชุมชนพุทธได้อย่างกลมกลืน จึงมีร่องรอยประวัติศาสตร์ และความร่วมสมัยอยู่มาก มีแหล่งท่องเที่ยวสวยงามหลายแห่งที่น่าประทับใจ
อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล จันทบุรี
ใครจะคิดว่า หมู่บ้านเก่าแก่ จะมี “โบสถ์คาทอลิก” อายุกว่า ๒๐๐ ปีที่สวยงามให้ได้ชมกัน เรียกว่า เป็นความงามของสถาปัตยกรรมแบบโกธิค ซึ่งภายในตกแต่งอย่างวิจิตรด้วยหน้าต่างกระจกสี (Stained glass) และพื้นกระเบื้อง ที่นำมาจากประเทศฝรั่งเศส นอกจากนี้ ยังมีแม่พระประดับพลอย ๒๐๐,๐๐๐ เม็ด ในวิหารมีการตกแต่งเพดานเป็นท้องเรือไม้โนอาห์ ส่วนฐานของตัวโบสถ์นั้นแข็งแกร่งด้วยท่อนซุงเรียงขัดกัน โดยไม่ใช้เสาเข็ม
ศูนย์อนุรักษ์หัตถกรรมพื้นบ้านเสื่อจันทบูร
ชั้น ๓ ของโรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ได้มีการถ่ายทอดงานหัตถกรรมของชาวญวนสู่เด็กรุ่นใหม่ โดยเป็นวิชาเรียนสำหรับเด็กชั้นประถม ศึกษาปีที่ ๖ ซึ่งแต่ละคนต่างขมักเขม้นกับการทอเสื่อทั้งลวดลายโบราณ เช่น ลายช้าง ลายม้า ฯลฯ และลวดลายสมัยใหม่ที่เด็กคิดค้นขึ้นเอง เช่น ลายเลขาคณิต ลายหุ่นยนต์ ฯลฯ ที่นี่ยังมีผลิตภัณฑ์สานจากกกเป็นจำนวนมากด้วย
ห้องพิพิธภัณฑ์
ชั้น ๔ ของโรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ เป็นสถานที่รวบรวมข้าวของเครื่องใช้ และของตกแต่งบ้านเรือนในอดีตที่มีมากนับร้อยรายการ รวมทั้งการจำลองแหล่งท่องเที่ยวสำคัญไว้ เสมือนว่ามาที่นี่แล้วได้เที่ยวไปทั่วจังหวัดเลยทีเดียว
เส้นทางเดินชมวิถีชีวิต และถนนศิลปะ
มีเส้นทางศึกษาวิถีชีวิตคนในชุมชน เริ่มต้น และจบลงที่วัดโรมันคาทอลิก ได้เห็นอาคารบ้านเรือนที่ปลูกสร้างด้วยไม้ ตลอดจนชุมชนริมแม่น้ำ ระหว่างทางยังผ่าน “ถนนศิลปะ” (Street art) ที่ศิลปินในท้องถิ่นจะมารวมกันวาดภาพบนกำแพง (Graffiti) เล่าเรื่องราววิถีชีวิตชุมชน ทำให้เหมาะแก่การเดินเล่นมาก
อาหารท้องถิ่น
ตั้งแต่อาหารเช้าแบบเวียดนาม เช่น ไข่กะทะ ข้ามต้มหมู ก๋วยจั๊บญวน ฯลฯ ที่เสิร์ฟพร้อมชาร้อน หรือจะเลือกเป็นกาแฟดริปจุงเวียง (Trung Nguyen) ก็ได้ ร้านก๋วยเตี๋ยวเจ๊น้องท่าเรือจ้างที่ขายมาเกือบ ๕๐ ปี ทั้งก๋วยเตี๋ยวหมูแดง ก๋วยเตี๋ยวหมูเลียง ฯลฯ อาหารท้องถิ่นร่วมสมัย เช่น เมี่ยงญวน หรือบั่นหอย หลนปลาอินทรีย์ แกงเผ็ดลูกชิ้นปลาอินทรีย์ ไก่บ้านต้มระกำ ขนมโบ๋ และกล้วยสายเดี่ยว เพราะแม่ค้าใส่สายเดี่ยวย่างกล้วยห่ามพอดี ก่อนทุบ ราดด้วยน้ำจิ้ม (กะทิและน้ำตาลทราย)
18. บ้านบางกะจะ หมู่ ๑ ตำบลบางกะจะ อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี
มีคำขวัญ ว่า “พระยาตากพักทัพ พระยอดธงวัดพลับเก่าแก่ แหล่งแร่อัญมณี” เป็น หมู่บ้านเก่าแก่ ชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีน ที่คงวิถีชีวิตดั้งเดิม มีประเพณีที่น่าสนใจ ทั้งเทศกาลกิจเจ เทศกาลทิ้งกระจาด การไหว้เจ้า เนื่องจากมีศาลเจ้าถึง ๓ ศาล รวมถึงประเพณีตักบาตรเข้าพรรษา และออกพรรษา ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนานกว่าร้อยปี ที่มีผู้คนจากทั่วทุกสารทิศ มาร่วมทำบุญกันเป็นจำนวนมาก
ชุมชนจีนตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลาง เป็นที่ตั้งทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสิน และเป็นแหล่งพลอยที่มีชื่อเสียงของโลก โดยเฉพาะบุษราคัม มีการสันนิษฐานว่าเมื่อเขาพลอยแหวนระเบิด ทำให้แร่รัตนชาติไหลเป็นสายลงมากระจายอยู่ทั่วหมู่บ้าน และริมคลองบางกะจะ จนคนเฒ่าคนแก่เล่าว่าเพียงขุดดินปลูกตะไคร้ก็เจอพลอยแล้ว
วัดพลับ
วัดที่ตั้งชื่อตาม “ต้นพลับ” ที่ออกผลสีเหลืองทอง มีสิ่งสำคัญ เช่น ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หอไตรกลางน้ำ เจดีย์กลางน้ำทรงระฆังคว่ำ วิหารไม้ทรงจัตุรมุข ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางทุกรกิริยา พระปรางค์ที่บรรจุพระยอดธง หรือพระยอดธงกู้ชาติ เรือยาวหม่อมหัวเขียว พระเมรุโบราณสำหรับเจ้านายในอดีต บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ผุดจากใต้ดิน ซึ่งนำมาเป็นน้ำพระพุทธมนต์ในพระราชพิธีราชาภิเษก
ตลาดทุบหม้อ
ตลาดนัดย้อนยุคที่มีบรรยากาศปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาต่อเนื่องถึงต้นกรุงธนบุรี เพื่อให้อิงกับประวัติศาสตร์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมาพักแรมที่นี่ ตั้งอยู่ในวัดพลับ โดยเปิดบริการเฉพาะวันเสาร์ –อาทิตย์ จึงเป็นศูนย์รวมผลิตภัณฑ์พื้นบ้านทั้งของกินของใช้ และของที่ระลึก
ถนนบางกะจะ
ถนนสายเล็กซึ่งในหลวงรัชกาลที่ ๕ เคยเสด็จประพาส เมื่อ ๕๐ ปีก่อน เป็นแหล่งค้าพลอยที่สำคัญ โดยชาวบ้านจะขุดพลอย ค้าพลอย เจียระไนพลอย จนกล่าวกันว่า “มีพลอยสวยเหมือนมีลูกสาวสวย” เพราะพ่อค้าแม่ค้ามารอซื้อพลอยถึงปากหลุมพลอยเลยทีเดียว ต่อมาได้จัดตั้ง “ศูนย์ส่งเสริมอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี” ขึ้น เพื่อเป็นแหล่งซื้อขายพลอยระดับโลก
ร้านพลอยเจตนามณี
แม้ถนนบางกะจะลดบทบาทการเป็นแหล่งพลอยลง แต่ยังมีบ้านช่างฝีมือเจียระไนพลอยและร้าน “เจตนามณี” ที่ทำธุรกิจขายพลอยจนถึงออกแบบและจำหน่าย มีราคาหลักพันถึงหลักล้านโดยเฉพาะบุษราคัมที่มีชื่อเสียงที่สุด สตาร์บุษ (Golden star) และแบลคสตาร์ (Black star) ซึ่งเมื่อต้องแสงไฟจะปรากฎแฉก ๖ แฉก รวมทั้งเขียวส่องหรือมรกต
อาหารท้องถิ่น
“ก๋วยเตี๋ยวผัดยายลั้ง” ที่ตั้งชื่อตามผู้คิดสูตรจำหน่ายคนแรก คือ อาม่ากิมลั้ง แซ่เตียว ที่ขายมายาวนานกว่า ๘๐ ปี ปัจจุบันมีจำหน่ายกันอย่างแพร่หลายในชุมชน จึงใช้ชื่อว่า “ก๋วยเตี๋ยวผัดน้ำกุ้ง” แทน “ขนมครกน้องแดง” สูตรดั้งเดิมที่ใช้กะทิสด โรยใบกุ้ยช่าย ใช้ใบตองเป็นภาชนะ และเตาถ่านที่ช่วยให้ขนมมีกลิ่นหอม เปิดขายมาเกือบ ๒๐ ปีแล้ว รวมทั้งข้าวทะเลห่อใบบัว ติ๋งหนืด ขนมเบื้องญวน ฯลฯ
19. บ้านหนองบัว หมู่ ๖ ตำบลหนองบัว อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี
“ชมวิถีริมคลอง ลิ้มลองอาหารถิ่น หอมกลิ่นน้ำอ้อยหวาน สืบสานฝีมือพลอย” เป็นชุมชนที่เงียบสงบริมคลองหนองบัว ซึ่งชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรมและประมงพื้นบ้านด้วย “หลักรอ” ที่คล้ายโพงพางเพื่อดักกุ้งหอยปูปลา ที่นี่ยังเป็นแหล่งกุ้งแห้งคุณภาพดีที่สุดและขายได้ราคาดีที่สุดในประเทศเฉลี่ยกิโลกรัมละ ๒,๐๐๐ บาทเลยทีเดียว โดยแปรรูปจาก “กุ้งนา” ที่พบได้มากในชุมชน
ตลาดเช้าหนองบัวหรือชุมชนขนมแปลก
ชุมชนแห่งนี้ยังมีตลาดเช้าให้ชมช้อปกันสนุกสนาน โดยเต็มไปด้วยอาหารทะเลสดๆ เช่น ปลาควยถอก ปลาสัมหลัง ปลาแป๊ะ ปลากด ปลาจวด ปลากะปี๊ กุ้งขาว กุ้งนา ปูทะเล ปูไข่ ปูแป้น หรือปูใบไม้ โดยวิถีชีวิตชาวประมงจะออกเรือในช่วง “น้ำชอบ” หรือน้ำไหลเชี่ยว ตั้งแต่บ่ายสามโมงเป็นต้นไป และกลับในมาถึงตอนเช้ามืด ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ตลาดเปิดทำการพอดีราวตี ๔ จนถึง ๘ โมงเช้า
ล่องเรือชมป่าชายเลน
สัมผัสความสงบเงียบและการเข้าถึงธรรมชาติขณะล่องเรือชมความงามของป่าชายเลนที่สมบูรณ์ด้วยต้นโกงกาง ต้นแสม ต้นฝาดแดงที่จะออกดอกช่วงตุลาคม ต้นลำพูที่มีหิ่งห้อยตอนกลางคืน ต้นสักน้ำเค็ม ฯลฯ ซึ่งช่วงน้ำลดชาวบ้านจะ “ล้วงปู” หลังจากนำลอบมาดักไว้พร้อมเหยื่อ เพื่อล่อให้ปูปลาเข้ามา นอกจากนี้ ในเวลาเย็นยังจะได้เห็นภาพฝูงเหยี่ยวบินจากป่าชายเลนกลับรัง
โรงหีบอ้อยหนองบัว
ชมกระบวนการผลิตน้ำตาลอ้อยแบบปลอดสารเคมีทุกขั้นตอน ตั้งแต่คั้นน้ำอ้อยโดยปล่อยให้ไหลไปตามราง กรอง ต้ม และเคี่ยว ๕ กะทะ จนข้นเหนียว แล้วปล่อยลงมาตามราง เพื่อคาดและพริกจนแห้ง จากนั้นใช้ไม้เหยียบทุบให้ละเอียด
“ขนมบ่าว-สาว”
ขนมวัฒนธรรมที่ผูกพันกับพิธีแต่งงานของชาวจันทบุรี โดยเจ้าบ่าวจะชักชวนเพื่อนฝูงมามากวนขนม “บ่าว-สาว” เพื่อสื่อถึงความรักที่เหนียวแน่น โดยขนมบ่าวเป็นตัวแทนเจ้าบ่าวหรือข้าวเหนียวแดง ที่นำข้าวเหนียวเคี่ยวกับน้ำตาลและกะทิ ส่วนขนมสาวเป็นตัวแทนเจ้าสาวหรือกะละแม ที่นำแป้งมาเคี่ยวกับน้ำตาลและกะทิ ปัจจุบันหาเจ้าบ่าวทำตามธรรมเนียมดั้งเดิมได้ยาก จึงมีครัวเรือนที่ยังรับทำขนมชนิดนี้อีกทั้งทำขายในตลาดด้วย
สำหรับอาหารอร่อยในท้องถิ่น ก็ต้องนี่เลย “กุ้งฮิ๊บ” หรือกุ้งเคี่ยวกับน้ำตาลปี๊บปรุงรสด้วยเกลือเล็กน้อย จนเปลือกกุ้งกรอบนุ่มเคี้ยวอร่อย และ “ปลาปี๊” ที่นำปลาสดมาทอดจนกรอบ ก่อนเจียวกระเทียมพริกไทย และนำมาคลุกรวมกันอีกที ทำให้ปลากรอบ และรับประทานได้ทั้งตัว
อ.มะขาม
20.บ้านหนองอ้อล่าง หมู่ ๙ ตำบลมะขาม อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี
หลังจากเที่ยวในตัวเมืองแล้ว ไปเที่ยวกันต่อที่อ.มะขามกันบ้าง เริ่มที่ “บ้านหนองอ้อล่าง” ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ในอดีตมีประชากรอาศัยอยู่ที่ประมาณ ๑๐ กว่าหลังคาเรือน ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการทำนาและทำสวนผลไม้ ที่มาของชื่อบ้านหนองอ้อ นั้นมีที่มาจากบริเวณหมู่บ้านมีหนองน้ำธรรมชาติ และตามบริเวณหนองน้ำจะมีต้นอ้อขึ้นอยู่มาก ชาวบ้านจึงนำมาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้านต่อมาเมื่อจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น จึงให้แยกหมู่บ้านออกมาจากหมู่ ๓ เดิม จึงเรียกหมู่บ้านหนองอ้อล่าง หมู่ที่ ๙
วัดหนองอ้อ
วัดหนองอ้อ ตั้งอยู่ที่ ตำบลมะขาม อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี เป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดจันทบุรีแห่งที่ ๓๗ สร้างเมื่อปี พ.ศ ๒๔๒๗ และได้รับการประกาศวิสุงคามสีมาเมื่อปี ๒๔๙๒ ถือเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งของจังหวัดจันทบุรีมีพระครูวิศาลรจันทรสุขคุณ (เฉียบ จนฺทสโร) เป็นเจ้าอาวาสวัดรูปแรก
หลวงพ่อพอดี
หลวงพ่อพอดีเป็นพระประธานที่ประดิษฐานใน อุโบสถหลังใหม่ของวัดหนองอ้อ ตำบลมะขาม อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี มีชื่อเสียงด้านพระเมตตา เป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไป หลวงพ่อพอดีนับเป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพนับถือของคนในชุมชนและผู้คนทั่วไป เป็นพระพุทธรูปองค์แรกของประเทศไทยที่หล่อเอาเศียรขึ้นโดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
นอกจากนี้ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกหลายที่ เช่น ที่ บ้านลุงหมัก ศูนย์เรียนรู้เห็ดเยื่อไผ่ ที่จะให้คุณได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเพาะเห็ดเยื่อไผ่ ตั้งแต่ต้นจนถึงขั้นตอนการแปรรูปออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ อาทิ การทำเซรั่มจากเห็ดเยื่อไผ่ สบู่เยื่อไผ่ เป็นต้น
ผลิตภัณฑ์กระเป๋าจากขยะรีไซเคิล
ผลิตพันธ์กระเป๋าจากขยะรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำเอาขยะมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่คนในชุมชน สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน อาทิ การนำซองกาแฟมาผลิต เป็นกระเป๋า กล่องกระดาษทิชชู่ ที่มีความสวยงาม และทนทานอีกด้วย
กลุ่มมังกรดิน
เมื่อเดินทางมาถึงที่กลุ่มมังกรดิน จะได้รับการต้อนรับด้วย Welcome drink “กาแฟหมา” ที่มีให้เลือกดื่มทั้งแบบร้อนแลแบบเย็น อร่อยและมีประโยชน์
หลังจากนั้นจะได้เข้าร่วมกิจกรรมฐานเรียนรู้ อาทิเช่น สปาไส้เดือน การทำน้ำหมัก วิธีร่อนปุ๋ยไส้เดือน การปลูกผักสมุนไพรจากปุ๋ยไส้เดือน เป็นต้น
กลุ่มงานไม้ระบายอารมณ์
ได้แต่งแต้มสีสันลงบนพื้นไม้จากเศษไม้ธรรมดา กลายเป็นงานประดิษฐ์ที่มีชิ้นเดียวในโลกที่เกิดจากมือของคุณเอง
ศิลปะปั้นขี้เลื่อย
จากเศษขี้เลื่อยนำมาปั้นกลายเป็นผลงานศิลปะ ที่มีมูลค่าราคาสูงร่วมเรียนรู้และลงมือทำผลงานศิลปะกับปราชญ์ชุมชนที่จะสอนให้คุณสร้างงานศิลปะจากขี้เลื่อย
ส่วนใครที่อยากจะช้อปผลิตภัณฑ์กลับไปบ้าน ก็มี เห็ดนางฟ้า น้ำยาเอนกประสงค์ใช้ในครัวเรือน เห็ดสวรรค์ น้ำพริกมันหนองอ้อล่าง แคปหมู กลุ่มแปรรูปไม้ พืชผักปลอดสารพิษ ปุ๋ยมูลไส้เดือน น้ำหมักมูลไส้เดือน ภาพปั้นขี้เลื่อยนู่นต่ำ-สูง
21. บ้านทุ่งโตนด หมู่ ๘ ตำบลท่าหลวง อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี
เป็นหมู่บ้านทุ่งโตนด เดิมเป็นหมู่บ้านเล็กๆ แยกออกมาจากหมู่ที่ ๖ ตำบลท่าหลวง อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี ผู้นำชุมชนในตอนนั้นก็ได้เกิดความคิดที่จะตั้งชื่อหมู่บ้านโดยมีการพูดคุยกันกับชาวบ้านจึงได้แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันไป สุดท้ายได้ข้อสรุปว่าในพื้นที่นี้ มีต้นตาลโตนดอยู่กลางนาในหมู่บ้านเพียงต้นเดียวและก็มีภูเขาในบางส่วนจึงได้ร่วมใจกัน ตั้งชื่อว่า “บ้านทุ่งโตนด” กลายเป็นที่มาชื่อบ้านจนทุกวันนี้ อาชีพของคนในหมู่บ้านในอดีตเริ่มจากการทำนา และมีการปรับเปลี่ยนมาทำสวนส้ม และปัจจุบันทำสวนผลไม้ เช่น ทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง เป็นต้น
ศูนย์พัฒนาไม้ผลตามโครงการพระราชดำริ
มาบ้านทุ่งโตนด ต้องไม่พลาดมาที่ สถานที่เรียนรู้แบบครบวงจรด้านงานเกษตรกรรม ทั้งไม้ผลและทฤษฏีใหม่ ในรูปแบบที่เป็นมิตรต่อโลกหรือเกษตรอินทรีย์ บนพื้นที่ ๑๐๙ ไร่ แบ่งพื้นที่เป็นสวนผลไม้ ๖๐ ไร่แหล่งน้ำ ๑๒ ไร่และพื้นที่ว่างเปล่าอีก ๓๗ ไร่ โดยอยู่ในการควบคุมดูแลของ กรมทหารราบที่ ๒๑ รักษาพระองค์ ประสานกับหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้และถ่ายทอดความรู้ให้แก่ประชาชนให้ได้รับประโยชน์มากที่สุดต่อไป ภายในมีฐานการเรียนรู้ทั้งหมด ๗ ฐาน การเลี้ยงหมูหลุม การทำปุ๋ยอินทรีย์ การเลี้ยงผึ้งและชันโรง ฐานเรียนรู้ระบบน้ำและประมง การปลูกพืช ๕ ระดับ ฐานเกษตรกรทฤษฎีใหม่ และ สวนผลไม้
วัดทุ่งโตนด
มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในหมู่บ้าน ภายในวัดร่มรื่นด้วยไม้ยืนต้นขนาดใหญ่มากมาย มีสระเลี้ยงปลาไว้ให้ชาวบ้านและบุคคลทั่วไปที่เข้ามาทำบุญได้มีโอกาสทำทานด้วยการให้อาหารปลาในสระ เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่สงบ และสวยงาม เหมาะแก่การพักผ่อน และปฏิบัติธรรม
ศาลเจ้าพระโพธิสัตว์เจ้าแม่กวนอิม
เกิดขึ้นจากคนในชุมชนที่มีความศรัทธาในองค์เจ้าแม่กวนอิมได้สร้างขึ้นเพื่อให้คนในชุมชนหรือนักท่องเที่ยวทั่วไปได้สักการะบูชากราบไหว้ขอพรซึ่งมีความเชื่อกันว่าพระโพธิสัตว์กวนอิมมีความอ่อนโยน เมตตา กรุณา มีความรักต่อมนุษย์ ขอพรสิ่งใดแล้วจะสมดังปรารถนา
สินค้า OTOP
ที่บ้านทุ่งโตนดนั้นเต็มไปด้วย สวนผลไม้มากมายจึงก่อให้เกิดสินค้าโอทอป ที่แปรรูป จาก ผลไม้ ในหมู่บ้าน อาทิ สละลอยแก้ว เผือกฉาบ เงาะในน้ำเชื่อม กล้วยฉาบ สับปะรดกวน คุกกี้สับปะรด นอกจากนี้ยังมีสินค้าอื่นๆที่คนในชุมชนผลิตขึ้นมา อีกมากมาย เช่น แคปหมู สบู่น้ำผึ้งชันโรง หมี่กรอบ โรตีกรอบ เป็นต้น
22. บ้านเกาะสาน หมู่ ๖ ตำบลมะขาม อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี
สำหรับหมู่บ้านเกาะสานเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ดั้งเดิมได้รับการประกาศเป็นหมู่บ้านเมื่อประมาณ ๑๐๐ ปีเศษ สภาพพื้นที่เป็นที่ลุ่ม ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบลุ่มติดแม่น้ำ มีคลองลี่ไหลผ่านหมู่บ้านและแม่น้ำจันทบุรีไหลผ่าน บ้านเกาะสานอยู่ห่างสจากตัวเมืองจันทบุรีถึงชุมชนแห่งนี้เป็นระยะทางไม่ถึง ๑๐ กิโลเมตร สามารถเดินทางมาได้โดยรถยนต์ส่วนตัว เส้นทางถนนสุขุมวิท ผ่านสี่แยกเขาไร่ยาแล้วตรงมาเรื่อยๆ ผ่านแยกแสลง สะพาน เมื่อถึงแยกวัดน้ำรักให้เลี้ยวซ้าย แล้วตรงไปที่วัดน้ำรัก ถึงชุมชนเกาะสาน
ชาวบ้าน บ้านเกาะสานเดิมมีอาชีพทำนาเป็นหลัก ต่อมามีการปลูกพืชเศรษฐกิจในสวน ทดแทนการทำนา สำหรับที่มาของชื่อหมู่บ้านนั้นมาจาก มีที่ดอนอยู่ที่หนึ่งแต่มีพื้นที่ในหมู่บ้านส่วนหนึ่งประมาณ ๕ ไร่ เป็นที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึงซึ่งน้ำไม่เคยท่วมเลย ทุกๆฤดูน้ำหลากชาวบ้านจึงอพยพไปอาศัยอยู่บนที่ดอนแห่งนั้นที่มีสภาพไม่ต่างจากเกาะในเวลาน้ำท่วม ราษฎรในหมู่บ้านได้ร่วมกันตั้งศาลพระภูมิเจ้าที่บนพื้นที่ดอนดังกล่าวเพื่อเป็นที่สักการะบูชาเป็นที่พึ่งทางใจแล้วเรียกบริเวณนั้นว่า “ดอนศาล” ต่อมาชาวบ้านได้เปลี่ยนอาชีพจากการทำนามาเป็นการทำสวนผลไม้และทำอาชีพจักสานเป็นอาชีพรอง โดยใช้วัสดุจากไม้ไผ่ จึงได้เปลี่ยนชื่อเรียกหมู่บ้านจาก “บ้านดอนศาล” ได้เรียกเพี้ยนไปเป็น “เกาะสาน” จนถึงปัจจุบัน
สถานที่น่าสนใจ เช่น
วัดน้ำรัก
วัดเก่าแก่ ที่อยู่คู่หมู่บ้านมานาน ที่มาของชื่อวัดนั้น เดิมที่หมู่บ้านเกาะสานนั้น จะมีช่วงฤดูที่น้ำหลากและบริเวณที่ตั้งของวัดจะเป็นจุดที่น้ำจากหลากหลายสายไหลมารวมกันเป็นหนึ่งเดียว เหมือนความรักของน้ำที่มารวมตัวกันเลยกลายเป็นชื่อของวัด ภายในวัดจะมีโบสถ์โบราณที่ทุกคนช่วยกันอนุรักษ์และบูรณะให้งดงามดังเดิม
ตลาดน้ำเกาะสาน
ในหมู่บ้านเกาะสาน มีสระน้ำที่ทางหมู่บ้านขุดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านมีรายได้ จึงเกิดเป็นตลอดน้ำเกาะสานขึ้น ความงดงามของธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ๒ ข้างทางและร้านค้าที่ชาวบ้านนำสินค้าที่ผลิตได้มาจำหน่ายในราคาย่อมเยาว์หากท่านใดต้องการ กางเต้นท์ บริเวณริมน้ำ ที่นี้มีบริการ
ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบ้านเกาะสาน
นอกจากนี้ ที่บ้านเกาะสานยังมีศูนย์การเรียนรู้ที่ผู้ใหญ่บ้านนายวิโรจน์ มังกร ตั้งใจทำขึ้นเพื่อมอบความรู้ด้านการเกษตร ให้กับชาวบ้านและนักท่องเที่ยว ภายในศูนย์มีการปลูกพืชผักผลไม้แบบผสม อาทิ ทุเรียน มังคุด กล้วย มะนาวยักษ์ เห็ดนางฟ้าภูฐาน หรือจะเป็นพืชสวนครัวแบบปลอดสารพิษ ที่สดและสะอาด
สินค้า OTOP
ในชุมชนมีการรวมกลุ่มกัน ผลิตแปรรูปอาหารเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้า ที่นอกจากการขายผลไม้สดเพียงอย่างเดียว อาหารแปรรูปของที่บ้านเกาะสาน ได้แก่ มังคุดกวน ทุเรียนทอด ทุเรียนกวน ข้าวเหนียวแดง กล้วยกวน กล้วยกรอบแก้ว เห็ดสามรส นอกจากอาหารแปรรูป ยังมี ผักสดปลอดสารพิษ พิมเสนน้ำ และ ปุ๋ยชีวภาพ อีกด้วย
ไปเที่ยวกันแล้วก็อย่าลืมอุดหนุนสินค้าชุมชน ช่วยเศรษฐกิจชุมชนกันนะคะ