พม.ร่วมกคช.ลุยโครงการออมเวลา
นำร่องเขตชุมชนดินแดงที่แรก
ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิด “โครงการออมเวลา จิตอาสาใส่ใจพัฒนาสังคม” โดยมี นางไพรวรรณ พลวัน อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ นายธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ผู้บริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ การเคหะแห่งชาติ และผู้อยู่อาศัยในโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 1 เข้าร่วมในพิธีเปิดณ โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 1 บริเวณหัวมุมถนนวิภาวดีรังสิต ตัดกับถนนอโศก – ดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ ชี้เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มคนในพื้นที่มีส่วนร่วมดูแล ยกระดับระบบการดูแลผู้สูงอายุ และพัฒนาคุณภาพชีวิตซึ่งกันและกัน ในรูปแบบธนาคารเวลา เป็นพื้นที่นำร่องที่แรกในกรุงเทพมหานคร เล็งขยายผลเต็มพื้นที่ 50 เขตกทม.
นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า “โครงการออมเวลา จิตอาสาใส่ใจพัฒนาสังคม” ได้รับความร่วมมือจากการเคหะแห่งชาติ กองทุนการออมแห่งชาติศูนย์บริการสาธารณสุข 4 ดินแดง และเทศบาลตำบลช่องลม อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร โดยขับเคลื่อนการดำเนินงานในพื้นที่อาคารโครงการฟื้นฟูชุมชนเมืองดินแดง ระยะที่ 1 เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่นำร่อง มีเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเพื่อยกระดับระบบการดูแลผู้สูงอายุ และระบบการให้บริการด้านสวัสดิการผู้สูงอายุให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ตลอดจนเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับทุกคนทุกวัยในการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และจะขยายการดำเนินงานธนาคารเวลาให้ครบทั้ง 50 เขต กรุงเทพมหานคร
ซึ่งการดำเนินโครงการธนาคารเวลาสำหรับการดูแลผู้สูงอายุ โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. ได้สนับสนุนพื้นที่ที่ดำเนินงานโครงการธนาคารความดีเข้าร่วมการเป็นพื้นที่นำร่องและมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สนใจเข้าร่วมเป็นพื้นที่นำร่อง รวมมีพื้นที่นำร่องโครงการธนาคารเวลาในส่วนภูมิภาคจำนวน 42 พื้นที่ 28 จังหวัด
นายปรเมธี กล่าวต่อว่า การดำเนินโครงการออมเวลา จิตอาสาใส่ใจพัฒนาสังคม เป็นการดำเนินงานส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการจัดสวัสดิการ และการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุ ซึ่งธนาคารเวลาสำหรับการดูแลผู้สูงอายุ เป็น 1 ในมาตรการขับเคลื่อนระเบียบวาระแห่งชาติ เรื่อง สังคมผู้สูงอายุ โดยศึกษารูปแบบการดำเนินงานธนาคารเวลาในต่างประเทศนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย เพื่อส่งเสริมให้คนในสังคมดูแลซึ่งกันและกัน
โดยเฉพาะการดูแลผู้สูงอายุกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือ โดยจิตอาสาจะได้รับการดูแลหรือการตอบแทนอื่น ๆ ตามเวลาจำนวนที่สะสมไว้โดยการดำเนินการที่ชุมชน อาคารแปลงจี ดินแดง ประกอบด้วยกิจกรรมสร้างสุขฝึกอาชีพ การตรวจสุขภาพ การจัดบริการรับ – ส่ง ไปโรงพยาบาล การให้คำปรึกษา ดูแลความสะอาดภายในห้องผู้สูงอายุ โดยขณะนี้มีผู้อยู่อาศัย จำนวนทั้งสิ้น 956 คน เป็นผู้สูงอายุจำนวน 252 คน ผู้พิการ 12 คน และผู้ป่วยติดเตียง 1 คน และมีจิตอาสาธนาคารเวลา จำนวน 21 คน
“ทั้งนี้กระทรวงพม.จึงขอฝากทุกท่านได้ตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญของสังคมผู้สูงอายุและส่งเสริมให้คนในสังคมร่วมดูแลซึ่งกันและกัน ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาสังคมผู้สูงอายุได้และขอให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมร่วมขับเคลื่อนการทำงานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุร่วมกันต่อไป และขอเชิญชวนผู้สนใจ เข้าร่วมเป็นจิตอาสาโครงการธนาคารเวลา” นายปรเมธี กล่าว
ด้านนางไพรวรรณ พลวัน อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุกล่าวว่า ไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุในปี 2548 เมื่อมีประชากรสูงอายุร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด และกำลังจะเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2564 ซึ่งจะมีผู้สูงอายุร้อยละ 20 และในปี 2574 ไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอดที่สัดส่วนร้อยละ 28 และในปี 2558 กระทรวงสาธารณสุขประเมินคัดกรองสุขภาพของผู้สูงอายุพบว่า มีผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในกลุ่มที่ช่วยเหลือตัวเองในการทำกิจวัตรประจำวันได้บ้าง (ติดบ้าน) และกลุ่มที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้(ติดเตียง) ถึงร้อยละ 21 จากจำนวนที่ทำการประเมินทั้งหมด ซึ่งผู้สูงอายุในลักษณะดังกล่าวเป็นกลุ่มที่ต้องให้การดูแลเป็นพิเศษ
และสภาพสังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงจากครอบครัวขยายไปสู่ครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น บางครอบครัวผู้สูงอายุต้องอยู่ตามลำพัง ปัญหาการเข้าสู่สังคมสูงวัย ท่ามกลางความต้องการดูแลและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จึงเป็นปัญหาที่สังคมไทยต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งรัฐบาลโดยกรมกิจการผู้สูงอายุได้ตระหนักถึงความสำคัญของแนวคิดธนาคารเวลาจากต่างประเทศ ได้ศึกษาแนวคิดและนำมาปรับใช้ให้สอดรับกับบริบทและวัฒนธรรมของสังคมไทย
ทั้งนี้ธนาคารเวลาสำหรับการดูแลผู้สูงอายุของไทย คือ พื้นที่ที่ให้จิตอาสาเข้ามาแบ่งปันเวลาในการให้การดูแลกลับคืน เมื่อจิตอาสามีความต้องการและจำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแล ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้คนไทยในสังคมดูแลซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะการดูแลผู้สูงอายุ กลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งพื้นที่นำร่อง 42 แห่งใน 28 จังหวัดนั้นได้เริ่มดำเนินการแล้ว มีคณะกรรมการดำเนินงานธนาคารเวลา และเปิดรับสมัครจิตอาสา มีแล้วรวม 2,115 คน มีลงทะเบียนในระบบดิจิทัล 141 คน รวมทั้งสิ้น 2,256 คน
ด้านนายธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า แม้โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 1 จะเป็นโครงการใหม่ที่เพิ่งสร้างเสร็จ แต่ผู้อยู่อาศัยในอาคารเป็นผู้อยู่อาศัยเดิมที่มาจากโครงการเคหะชุมชนดินแดง ซึ่งถือเป็นชุมชนดั้งเดิมที่อยู่กันมายาวนานกว่า 50 ปี ดังนั้นการอยู่อาศัยร่วมกันของคนในชุมชนจะเป็นเสมือนครอบครัวใหญ่ที่คอยดูแลพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันอยู่แล้ว เมื่อมีโครงการธนาคารเวลาเข้ามา ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดึงดูดจิตอาสาให้เข้ามาดูแลผู้สูงอายุอย่างเป็นรูปธรรมเพิ่มมากขึ้น สำหรับโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 1
ปัจจุบันการดำเนินงานโครงการธนาคารเวลาได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการจากคณะกรรมการเฉพาะกิจอาคารโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 1 จำนวน 12 คน และจะมีการรับสมัครอาสาสมัครในโครงการธนาคารเวลาเพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับผู้สูงอายุในโครงการฯ ต่อไป
สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมเป็นจิตอาสาโครงการธนาคารเวลา สามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์กรมกิจการผู้สูงอายุ www.dop.go.th เว็บไซต์กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ www.m-society.go.th เฟซบุ๊กธนาคารจิตอาสา (FB : Jitarsabank) หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่กองส่งเสริมสวัสดิการและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ โทร. 0 2642 4306 หรือ สายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300