เที่ยวบ้านฉัน…ไปแล้วจะรู้
อยู่แล้วจะรัก..จันทบุรี (5)
การเดินทางเยี่ยมชม “หมู่บ้าน โอท็อป นวัตวิถี จังหวัดจันทบุรี” ตอนนี้ ผู้เขียนขอรวบรัดรวม 3 อำเภอไว้ด้วยกันเลย ได้แก่ อ.ขลุง , อ.แหลมสิงห์และอ.แก่งหางแมว เชิญชวนให้มา เที่ยวบ้านฉัน…ไปแล้วจะรู้ อยู่แล้วจะรัก..จันทบุรี
พาเที่ยว อ.ขลุงกันก่อนเลย ซึ่งมีสถานที่เที่ยวอยู่หลายแห่ง
23. บ้านเกาะจิก ตั้งอยู่หมู่ที่ ๑ ตำบลบางชัน อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี มีคำขวัญน่าสนใจทีเดียว “ล่องเรือดูเหยี่ยว ปั่นจักรยานเที่ยวชมเกาะ อร่อยเหาะอาหารทะเล นอนไกวเปลรับโอโซน ในวันพักผ่อนโดนๆ ที่เกาะจิก”
ชื่อเกาะจิก เป็นเพราะที่เกาะแห่งนี้มีต้นจิกจากเกาะจิกใน นำมาปลูกไว้ที่นี่ เกาะจิกแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือ เกาะจิกนอก เกาะจิกกลาง และเกาะจิกใน สำหรับบ้านเกาะจิกนั้นตั้งอยู่บนเกาะจิกนอก ชาวบ้านประกอบอาชีพประมงเป็นหลัก ซึ่งในอดีตถือว่าเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับคนบนเกาะได้อย่างมากมาย อาหารที่ขึ้นชื่อของที่นี่จึงเป็นอาหารทะเลสดๆ
การเดินทางมายังบ้านเกาะจิก ต้องนั่งเรือจากท่าเรือบ้านอ่างกะป่อง ข้ามฝั่งไปท่าเรือสะพานปลาบ้านเกาะจิก ใช้เวลาประมาณ ๓๐ นาที
สำหรับการท่องเที่ยวบนเกาะจิกนั้นสามารถเดินชมหรือเลือกปั่นจักรยานก็ได้ บ้านเกาะจิกเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่เงียบสงบ เหมาะสำหรับการพักผ่อนเป็นอย่างมาก ซึ่งจุดเด่นของที่นี่คือ การใช้แผงโซล่าเซลล์ ในการผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ทั้งหมู่บ้าน
สถานที่ท่องเที่ยวที่แนะนำ อาทิ ศาลเจ้าแม่เกาะจิก เป็นศาลที่มาอายุราว ๓๐๐ ปี มีความศักดิ์สิทธิ์มาก ผู้คนนิยมมาขอเรื่อง การค้าขาย โชคลาภ นอกจากนี้ยังมี ศาลเจ้าพ่อมังกรทอง ต้นจิกต้นแรก สุสานหอย เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเกิดจากการทับถมของเปลือกหอยเป็นเวลานาน ประภาคาร เดิมในสมัยรัชกาลที่ ๕ เคยเป็นที่อยู่ของทหารในสงครามอินโดจีน และหลังจากนั้นได้ทำการอพยพไปอยู่ที่ตัวเมืองจันทบุรี
หาดทรายหอยแตก เป็นการทับถมของเปลือกหอยคลื่นทะเลพัดพาจนแตกกระจาย และที่น่าสนใจอีกอย่างคือ โรงผลิตไฟฟ้าโซล่าเซลล์ชุมชน ที่ผลิตไฟฟ้าใช้เองเพราะไฟฟ้ายังมาไม่ถึง
24. บ้านปากน้ำเวฬุ หมู่ ๒ ตำบลบางชัน อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี มาพร้อมคำขวัญ “ล่องแพเปียก กินปู ดูเหยี่ยว เที่ยวหมู่บ้านไร้แผ่นดิน”
บ้านปากแม่น้ำเวฬุ ชื่อที่นักท่องเที่ยวรู้จักทั่วกัน คือ หมู่บ้านไร้แผ่นดิน เป็นชุมชนที่มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า ๑๖๐ ปี กลุ่มคนกลุ่มแรกที่มาตั้งรกรากอยู่ในหมู่บ้านคือ ชาวจีน ตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตลุ่มน้ำ โดยไม่ได้อยู่บนผืนแผ่นดิน อาศัยอยู่ตามแนวของป่าโกงกางที่มีความอุดมสมบูรณ์ ตรงบริเวณปากแม่น้ำเวฬุ การประกอบอาชีพของคนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง ในลักษณะประมงพื้นบ้าน
สถานที่เที่ยว ได้แก่ ศาลเจ้าพ่อปากน้ำเวฬุ ที่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๑ มีอายุประมาณ ๑๖๐ กว่าปี สืบเนื่องด้วยคนในชุมชนเป็นคนไทยเชื้อสายจีน ศาลเจ้าพ่อปากน้ำเวฬุจึงเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่มีความสำคัญต่อคนในชุมชน เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชนทั้งการประกอบอาชีพ ที่ชาวบ้านจะไปขอให้เดินทางออกทะเลให้มีความปลอดภัยและได้อาหารทะเลกลับมาเยอะๆ นอกจากนี้ยังขอพรในเรื่องสุขภาพให้แข็งแรง หายจากการเจ็บป่วยด้วย
ประเพณีที่เกี่ยวข้องกับศาลาเจ้าพ่อปากน้ำเวฬุ รวมถึง ประเพณีตรุษจีน แซยิก (วันเกิดเจ้าพ่อ) ชิกกาปั๊ว (วันไหว้) เท่งอัน (การไหว้แก้บนจะมีทุกวันที่ ๒๘ พฤศจิกายนของทุกปี กิจกรรมวันแรกของงานจะมีการแสดงลิเก และวันที่สองจะมีกิจกรรมแห่เจ้ารอบคลอง และทิ้งกระจาด
วัดบางชัน หรือวัดอรัญสมุทธาราม
เดิมตั้งเป็นสำนักสงฆ์ในปี พ.ศ. ๒๔๑๒ และได้รับอนุญาต (วิสุงคามสีมา) ให้จัดตั้งเป็นวัดในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ มีชื่อเรียกว่า “วัดอรัญสมุทธาราม” ซึ่ง อรัญ แปลว่า ป่าและน้ำ ธาราม แปลว่า ที่อยู่สบาย ต่อมามีการเปลี่ยนชื่อเป็นวัดบางชันเพราะต้องการให้ตรงกับชื่อหมู่บ้านและตำบลบางชัน ซึ่งที่บริเวณวัดบางชันจะมีพิพิธภัณฑ์ของโบราญ เรือเก่า (เรือขุด) และวิสุงคามสีมา สมัยรัชกาลที่ ๕
ชมฝูงเหยี่ยวแดง
การชมฝูงเหยี่ยวแดงหัวขาว เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง และเป็นสัตว์ที่บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลน การที่มีเหยี่ยวแดงในบริเวณลุ่มน้ำเวฬุ จึงหมายถึงความสมดุลของธรรมชาติของผู้คน สัตว์ และป่าในแถบนี้ การไปถึงยังจุดให้อาหาร อาจเป็นเรือหางยาว หรือโฮมสเตย์มีบริการแพเปียก ลากไปยังจุดชมเหยี่ยวแดง การให้อาหารเหยี่ยวจะมีเพียงวันละครั้ง ในช่วงประมาณ ๓-๔ โมงเย็น
ชมทะเลแหวก หาดทรายสีดำ
ทะเลแหวก ที่บางชัน มีความยาว ขนาด ๒๐๐ เมตร กว้าง ๔ เมตร เป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ความพิเศษของทะเลแหวกที่นี้คือ หาดทรายสีดำ ที่สามารถนำมาขัดผิว เหมือนกับการทำสปาผิวเพื่อทำให้ผิวนุ่ม ลื่น
มาเที่ยวแล้วยังสามารถศึกษาวิถีชีวิตชุมชน ได้เรียนรู้การทำกุ้งแห้ง เรียนรู้ขั้นตอนกว่าจะเป็นกุ้งแห้ง ตั้งแต่การนำกุ้งสดทั้งตัวมาล้างน้ำให้สะอาด แล้วนำไปนึ่งทั้งเปลือกประมาณ ๔๕ นาที แล้วนำไปตาก ๒ แดด หลังตากแล้ว นำกุ้งใส่ในถุงผ้า แล้วใช้ถุงผ้าตีพอให้เปลือกกุ้งหลุดจากตัว จากนั้นจึงนำมาร่อนเอาเปลือกออก
ผลิตภัณฑ์ชุมชนเด่น ๆ ของที่นี่จึงได้แก่ ของทะเลนั่นเอง ทั้งกุ้งแห้ง กะปิ ปลากระบอกแดดเดียว ปลากระตักแห้ง น้ำพริกกุ้งแห้ง กุ้งต้มหวาน ปลาเค็ม เคยต้มตากแห้ง น้ำเคยไข่ หมึกแห้ง
25. บ้านสีลำเทียน หมู่ที่ ๖ ตำบลบางชัน อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี
บ้านสีลำเทียน คำว่า “ สีลำเทียน” เป็นชื่อของพันธุ์ข้าวจ้าวชนิดหนึ่งที่นิยมปลูกกันมากในแถบนี้ เพราะแถบนี้มีสภาพเหมาะกับการทำนาถือได้ว่าเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญในอดีต แต่ปัจจุบันพื้นที่ทั้งหมดที่เคยเป็นนาข้าวได้เปลี่ยนเป็นนากุ้งเมื่อประมาณ ๒๐ กว่าปีมานี้ อีกชื่อหนึ่งคือ “บ้านน้ำแดง” เนื่องจากในบริเวณนี้มีต้นฝาดมาก เมื่อฝนตกลงมาน้ำบริเวณนั้นจะกลายเป็นสีแดงเนื่องจากเปลือกของต้นฝาดมีคุณสมบัติให้สีแดง อีกชื่อหนึ่งคือ “บ้านตาโตน” ตาโตนเป็นชื่อของคนที่อพยพมาอยู่ที่นี้แล้วมีคนมาอาศัยมากขึ้นอยู่รวมกันในบริเวณนั้น
ท่องเที่ยวโดยชุมชน “บ้านน้ำแดง” มีต้นทุนทางทรัพยากรที่พร้อม ด้วยป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของลุ่มน้ำเวฬุ มีความพร้อมตามหลัก ๓ ป.คือปลา (ปลานวลจันทร์) ปูและป่าชายเลน รวมทั้งหลัก ๓ อ.คืออากาศ อัธยาศัย และอนุรักษ์ ส่วนการจัดท่องเที่ยวทำให้นักท่องเที่ยวได้ ๓ ค. คือความรู้ ความรัก และความสุข
สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ อาทิ โรงเรียน ตชด.บ้านน้ำแดง ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ เช่น ศูนย์เรียนรู้ป่าชายเลน ธนาคารปู การเลี้ยงปลานวลจันทร์ พื้นที่เศรษฐกิจพอเพียง
ศาลเจ้าแม่สร้อยระย้า ซึ่งเป็น สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้านสีลำเทียน ความพิเศษที่แตกต่างจากศาลเจ้าแม่สร้อยระย้าของที่อื่นคือที่นี่จะมีดอกไม้แดง (อยากรู้ว่าดอกไม้แดงเป็นอย่างไร ต้องมาเยี่ยมชมที่บ้านสีลำเทียนด้วยตัวเอง) ที่ต้องนำมาสักการะเจ้าแม่
หรือจะไปล่องเรือชมวิถีชาวบ้าน ความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายผสานกับความสมบูรณ์ของป่าโกงกาง นอกจากนี้ยังมีสัตว์อนุรักษ์ อย่างเหยี่ยวแดง ปลาตีนตามชายเลน ให้นักท่องเที่ยวได้ชมความงามอีกด้วย
อ.แหลมสิงห์
26. บ้านเนิน หมู่ ๑ ตำบลบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี มาพร้อมคำขวัญ “เสื่อกกมากลาย หลากหลายขนมจาก ของฝากจากคลอง”
เป็นชุมชนเล็กๆ ของตำบลบางสระเก้า เรียกกันตามลักษณะนามของพื้นที่ซึ่งมีลักษณะเป็นพื้นที่เนินราบและอยู่สูงกว่าชุมชนอื่นๆ ที่อยู่ในตำบล ได้ยกฐานะการปกครองขึ้นเป็นหมู่บ้านในช่วงระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๗๓-๒๔๗๙ (ไม่ทราบแน่ชัด) ได้มีเรื่องเล่าสืบทอดกันมาจากรุ่นปู่ ย่า ตา ยายว่าก่อนที่ชาวบ้านจะเข้ามาตั้งรกรากถิ่นฐาน พื้นที่นี้เป็นป่าและมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มากโดยเฉพาะช้างป่าอาศัยรวมกันอยู่หลายโขลงหากินอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ มีหลักฐานอ้างอิงไว้ คือแหล่งน้ำเนื่องด้วยช้างป่าที่ออกหากินรวมกันเป็นจำนวนมากนอนเกลือกกลิ้งทำให้ดินบริเวณนั้นเกิดเป็นหลุมใหญ่ เมื่อฝนตกลงมาเลยกลายเป็นแหล่งกักเก็บน้ำที่เรียกว่า “สระ” ทำให้ช้างได้มีน้ำไว้ดื่มกินและลงไปนอนแช่เล่น เมื่อนานเข้าทำให้สระมีขนาดใหญ่และลึกมากข้น มีจำนวนถึง ๙ สระกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ของตำบล ชาวบ้านนำเอาสระทั้ง ๙ มาตั้งเป็นชื่อเรียกหมู่บ้านในขณะนั้นว่า “บ้านบางสระเก้า”
นอกจากสระน้ำแล้วยังมีสถานที่อันเกี่ยวข้องกับช้างอีกเช่น คลองช้าง เป็นคลองเล็กๆ แยกเข้ามาจากลำคลองสายหลักที่ไหลผ่านหมู่บ้าน ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นเส้นทางเดินของช้างที่ใช้ข้ามคลองสายหลัก เพื่อหาอาหารกินเป็นประจำจนกลายเป็นคลองในเวลาต่อมา ปัจจุบันสระหลายสระถูกกลบไปแล้วยังเหลืออยู่ที่บริเวณวัดบางสระเก้า
มาหมู่บ้านนี้ต้องไปเยี่ยม ศูนย์การเรียนรู้บ้านเนิน ฟังเรื่องเล่าบางสระเก้า จากปราชญ์ชาวบ้าน ไปชมวิวที่ ร่องน้ำกิจจาทร นาบัว เพลินๆ สบายตา สบายใจ ป่ามะนาว เดินชมป่ามะนาวแวะชิมรสชาติเปรี้ยว คั้นสดๆ จากต้น ชมชิมมะพร้าวอ่อน ชมการทอเสื่อกก หัตถกรรมพื้นถิ่น ที่เป็นผลิตภัณฑ์หลักของหมู่บ้าน และ งานกระเป๋าทำมือ กระเป๋าทำมือถักทอจากวัสดุในท้องถิ่น สาธิตการทำเหละ ชมสาธิตงอบใบจาก ภาษาถิ่นที่นี่เรียกว่า เหละ ที่มีที่ตำบลนี้เท่านั้น
ชมโรงสีข้าวชุมชน โรงสีข้าวเก่าแก่ของชุมชน สมกับคำโบราณที่ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว แผ่นดินของเรา ช่างแสนอุดมสมบูรณ์”
27. บ้านกลาง หมู่ ๒ ตำบลบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี มาพร้อมคำขวัญ ที่ว่า “เข้าวัดไหว้พระ ดูสระในตำนาน เล่าขานโพธิ์พันปี ของดีสี่มุมเมรุ”
เดิมพื้นที่หมู่บ้านเป็นป่าอันอุดมสมบูรณ์ มีทั้งป่าชายเลนและป่าไม้เบญจพรรณ เป็นแหล่งอาศัยหากินของโขลงช้างป่า ในอดีตพื้นหมู่บ้านอุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าชายเลน สัตว์ป่า และสัตว์น้ำนานาชนิด มีการสันนิษฐานว่า ชาวชองเป็นผู้ที่เข้ามาสร้างหลักปักฐานอยู่ในพื้นที่ ติดต่อค้าขายกับชาวจีน ชาวญวนและคนไทยจากภาคใต้โดยอาศัยการเดินทางด้วยเรือเป็นหลัก ด้วยลักษณะพื้นที่มีความเหมาะสมและสะดวกในการจอดเรือสินค้า จากการติดต่อค้าขายก่อให้เกิดความสัมพันธ์ สร้างหลักปักฐาน ทำมาหากินสร้างครอบครัว ขยายเป็นชุมชนใหญ่โตขึ้น จนมาถึงปัจจุบัน
แหล่งท่องเที่ยว ได้แก “วัดบางสระเก้า” กราบสักการะหลวงพ่อเต่า ที่ศาลาบูรพาจารย์ และชมสระน้ำในตำนานโบราณ สระที่ ๙ ที่อยู่คู่กับตำบลบางสระเก้ามาช้านาน บ้านทอเสื่อ ของดีขึ้นชื่อ “เสื่อจันทบูร” แวะมาชมกรรมวิธีการผลิตตั้งแต่ต้นจนถึงขั้นตอนสุดท้าย จากวัตถุดิบธรรมชาติ กลายมาเป็นเป็นผลิตภัณฑ์ทรงคุณค่า
ตลาดสี่มุมเมรุ แหล่งของฝากนักช้อป ทั้งอาหารทะเลสด แห้ง และแปรรูป เหมาของอร่อยก่อนกลับ ทั้งทานเองและซื้อเป็นของฝาก ศูนย์ศิลป์เสื่อ จุดแสดงสินค้า ผลิตภัณฑ์เสื่อกกมากมายหลากหลายแบบ ทั้งแบบเต็มผืน และแบบแปรรูป อาทิ หมวก กระเป๋า
28. บ้านเนินกลาง หมู่ ๓ ตำบลบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี “คลุมเหละ ล่องเรือ ทอเสื่อ งมกุ้ง”
เดิมพื้นที่หมู่บ้านเป็นป่าอันอุดมสมบูรณ์ มีทั้งป่าชายเลนและป่าไม้เบญจพรรณ เป็นแหล่งอาศัยหากินของโขลงช้างป่าจากหลักฐานและการเล่าต่อกันมา มีสระน้ำที่เกิดจากการนอนเกลือกกลิ้งของช้าง ซึ่งชาวบ้านเรียกสระน้ำนี้ว่า “สระยายจ๋วน” เพราะอยู่ติดหรืออยู่ใกล้กับบ้านของยายจ๋วน ปัจจุบันนี้สระได้ถูกถมกลบไปแล้ว “สระยายจ๋วน” เป็นหนึ่งในสระเก้าสระ ที่เป็นที่มาของชื่อตำบลบางสระเก้า และด้วยตามลักษณะของพื้นที่ ที่เป็นที่เนินราบ และอยู่ระหว่างกลางของบ้านกองหินกับบ้านกลาง ชาวบ้านจึงเรียกชื่อหมู่บ้านนี้ว่า“บ้านเนินกลาง”
มาหมู่บ้านนี้ ก็ต้องไปแวะที่ศูนย์การเรียนรู้บ้านเนินกลาง ฟังปราชญ์ชาวบ้านเล่า ของดี ของเด่น บ้านบางสระเก้า พร้อมแวะจุดเช็คอินห้ามพลาดบริเวณศาลาไม้ไผ่ริมคลอง ชมวิวป่าต้นจากไกลสุดลูกหูลูกตา
การทำ ขนมควยลิง ขนมชื่อแปลกและเป็นขนมโบราณที่ทำจากแป้งข้าวเหนียวปั้นเป็นแท่งเล็กๆ รีๆ ต้มในน้ำเดือด แล้วนำขึ้นมากับคลุกมะพร้าวและน้ำตาล ซึ่งถ้าได้เห็นหน้าตาของขนมแล้ว คงพอเดาได้ถึงที่มาของชื่อ และยังมี ขนมต้มแดง และต้มขาว ให้ได้ชิมกันอีกด้วย
ทอเสื่อ สานข้อง มาชมวิถีชีวิตชุมชนคนน้ำตื้น ถักทอหัตถกรรมพื้นบ้านสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยเฉพาะข้องที่เป็นอุปกรณ์ใส่ปลาที่ได้จากการทำประมง เป็นเครื่องจักสานชนิดหนึ่งสานด้วยผิวไม้ไผ่ ใช้สำหรับใส่ ปลา ปู กุ้ง หอย กบ เขียด
แส้ตียุง ชาสมุนไพร ชมวิธีทำแส้ตียุงจาก “งวงจาก” ซื้อเป็นของฝากติดไม้ติดมือกลับบ้านและชมการสาธิตวิธีทำเครื่องดื่มชาสมุนไพรพื้นถิ่น พร้อมดื่มให้ชื่นใจ
ขนมตาล ขนมตะไล แวะชิมขนมหวานขึ้นชื่อ ทั้งขนมตาลที่ทำจากลูกตาล และขนมตะไล หรือขนมถ้วยตะไล ที่ทำจากน้ำตาลโตนด กะทิ เกลือ และน้ำอ้อยคั้นสด ซึ่งคนภาคกลางมักจะเรียกว่า ขนมถ้วย
29. บ้านกองหิน “ไหว้พระ ชมตะกาดป่า พาชิมหอย”
เดิมทีหมู่บ้านแห่งนี้มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “บ้านล่าง” แต่ต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็น “บ้านกองหิน” เพราะในยุคสมัยนั้น มีผู้ใหญ่บ้านที่ได้รับการเลือกตั้งติดต่อกันหลายสมัย อาศัยอยู่ที่บ้านกองหินที่มาของชื่อบ้านกองหิน เนื่องจากมีกองหินดาดอยู่ในลำคลองติดกับหมู่บ้าน ๓ จุดใหญ่ๆ คือ จุดแรก อยู่ตรงบ้านนายเกตุ ไสยวรรณ จุดที่สองอยู่ตรงกับบริเวณบ้านนายสำอาง สมานพรรค และจุดสุดท้ายอยู่ตรงบริเวณท่าช้าง ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับพื้นที่หมู่ ๕ บ้านแถวนา แต่ในปัจจุบัน คนส่วนใหญ่ในตำบลยังนิยมเรียกชื่อเดิมคือ “บ้านล่าง” เนื่องจากเมื่อพ้นเขตหมู่บ้านไปทางตะวันตก ก็จะเป็นปากแม่น้ำจันทบุรี จึงถือกันว่าเป็นหมู่บ้านที่อยู่ล่างท้ายสุดของตำบล
มาหมู่บ้านนี้ต้องแวะสักการะ ไหว้หลวงพ่อหินแก้ว พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านบอกต่อกันว่าศักดิ์สิทธิ์นักแล เสร็จแล้วไปชม การทอเสื่อ หัตกรรมของคนในพื้นที่ จากวัตถุดิบธรรมชาติในชุมชนที่มีอยู่อย่างล้นหลาม ทั้งกก และปอ กลายเป็นผลิตภัณฑ์งานฝีมือของคนในชุมชน
ไปชมการทำเหละ หรือ งอบ หรือหมวกใบจาก โดยการนำใบจากมาเย็บเป็นหมวกเพื่อใช้สำหรับคุมแดด กันฝน สามารถระบายความร้อนได้ดี ปีกหมวกด้านข้างมีความกว้าง เพื่อป้องกันกิ่งไม้ ชมการ ยกยอ วิถีประมงของชาวบ้านฝั่งคลอง ซึ่ง ยอ คือเครื่องมือจับปลาที่มีลักษณะเป็นร่างแหผืนสี่เหลี่ยม มุมทั้งสี่ผูกติดกับคันสำหรับยก โดยยอขนาดเล็กจะใช้จับปลาตามแหล่งน้ำนิ่งและไม่ลึกแต่ถ้าเป็นยอขนาดใหญ่นิยมใช้ดักปลาในน้ำลึกบริเวณแม่น้ำและลำคลอง
และชมป่าตะกาดใหญ่ ป่ารูปหัวใจซึ่งเป็นแหล่งธรรมชาติอันสมบูรณ์กับพื้นที่ป่าชายเลนกว่า ๑๕๐ ไร่ หรือไปชมแปลงหอย โดยล่องเรือไปชมแปลงหอยนางรมแล้วร่วมทำกิจกรรมเก็บหอยไปด้วยกันพร้อมชิมหอยนางรมสดๆ กับน้ำจิ้มสูตรเด็ดน้ำพริกระกำรสจัดจ้าน
30. บ้านล่าง (บ้านแถวนา) หมู่ ๕ ตำบลบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี “ตกปลา หาปู ดูเหยี่ยว เที่ยวล่องแพ”
บ้านล่าง (บ้านแถวนา) เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ เก่าแก่ มีอายุประมาณ ๒๐๐ ปีมาแล้ว ผู้คนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานสันนิษฐานว่าน่าจะมาจาก ๒ พื้นที่ด้วยกันคือ ผู้ที่อพยพมาจากภาคใต้ เดินทางมาค้าขายทางเรือ แล้วหลบมรสุมเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ กลุ่มที่สองเป็นคนพื้นเมืองในจังหวัดจันทบุรี กลุ่มชาวชองได้ขยายพื้นที่ทำมาหากินและติดต่อค้าขายในแถบนี้ กระทั่งเกิดการตั้งถิ่นฐานขึ้น บ้านแถวนาตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่บ้านลำดับสุดท้ายของตำบลบางสระเก้า ลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม การตั้งบ้านเรือนของชาวบ้านอยู่ท่ามกลางท้องทุ่งนา เป็นที่รู้จักและเรียกขานกันติดปากว่า “บ้านแถวนา”
ที่นี่จะได้ชมบ้านปลาธนาคารปู แหล่งอนุบาลและเพาะพันธ์ปลา ปู กุ้ง หอย ชมรมไก่พื้นเมือง ซึ่งเป็นการอนุรักษ์ไก่ชนพื้นเมือง กิจกรรมการทอเสื่อ ซึ่งกิจกรรมหลักของชุมชน คือการทอเสื่อ มีทั้งเสื่อปอ และเสื่อกก ฟาร์มเลี้ยงชันโรง หรือคือผึ้งขนาดเล็ก ที่สร้างผลผลิตเป็นน้ำผึ้ง และ ชัน สามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายของชุมชน
นอกเหนือจากนี้ยังไปชม สระโบราณ หนึ่งใน ๙ สระน้ำในตำนาน หลักฐานที่มาของชื่อตำบล “บางสระเก้า” ศูนย์กีฬาและการละเล่นพื้นบ้าน เยาวชนในหมู่บ้านอนุรักษ์การละเล่นพื้นบ้าน อาทิ เดินกะลา รีรีข้าวสาร สวนเกษตรพอเพียง วิถีเกษตรพอเพียง ความเขียวชอุ่มทำให้เย็นตา ความพอเพียงทำให้เย็นใจ วิสาหกิจทอเสื่อสุริยา การรวมกลุ่มของชุมชนทอเสื่อกัน หรือจะไปล่องแพ เล่นน้ำ ชมเหยี่ยวแดง
มาถึงถิ่นแล้วอย่าลืมช่วยช้อปของฝากติดมือกลับไปบ้าน เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน เช่น กระเป๋าเสื่อ น้ำปลาแท้ของชุมชน กะปิคุณเสนาะ น้ำพริกแกง ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผึ้งชันโรง กุ้งต้มหวาน เมี่ยงคำ ชาใบขลู่ กล้วยตากหลากรส และหอยนางรมพร้อมทาน
มาที่อ.สุดท้าย อ.แก่งหางแมว
31. บ้านซอยสอง หมู่ ๑ ตำบลสามพี่น้อง อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเดิมเป็นผืนป่าขนาดใหญ่ เมื่อมีผู้คนเข้ามาบุกเบิกตัดไม้ถางป่าสร้างบ้านเรือนและชุมชน จำเป็นต้องมีเส้นทางลำเลียงซุงออกจากป่า จึงทำให้เกิดเป็นเส้นทางลากซุง ต่อมาจึงเรียกเป็นชื่อซอยตามลำดับ ซอยหนึ่ง ซอยสอง เรื่อยไปถึงซอยห้า และใช้ตั้งเป็นชื่อของหมู่บ้านในเวลาต่อมา
แหล่งท่องเที่ยว มีหลายแห่งไม่แพ้หมู่บ้านอื่นเลยทีเดียว
วัดซอยสองดํารงราษฎร์วราราม
ในปี พ.ศ.๒๕๑๐ ที่ตั้งเดิมของวัดซอยสองคือบริเวณบ้านพักครูของโรงเรียนบ้านซอยสองในปัจจุบัน ซึ่งเมื่อก่อนเป็นเพียงที่พักสงฆ์ สร้างเป็นศาลาไม้ขนาดเล็ก มีกุฏิพระ ๒-๓ หลัง มีบ้านเรือนอยู่ในละแวกวัดไม่กี่หลังคาเรือน ได้แก่บ้านคุณยายทอง บ้านคุณตาเผือก (ลูกของคุณยายทอง) บ้านคุณตาอิ๊ด เป็นต้น
ต่อมาในช่วง พ.ศ. ๒๕๑๖ หลวงพ่ออภิชาติ อภิโชโต (พันโทอภิชาติ ศรีสว่างวงศ์) ได้เข้ามายัง หมู่บ้านซอยสองแห่งนี้พร้อมกับพัฒนาหมู่บ้าน ท่านได้ทำการก่อตั้งโรงเรียนประจำหมู่บ้านขึ้น คือโรงเรียนบ้านซอยสอง (อภิชาตราษฎร์อุปถัมป์) และทำการย้ายที่พักสงฆ์ (วัดซอยสอง) ไปที่บริเวณเขาวัว เป็นเขาที่อยู่ในซอยลากซุงซอยที่สอง หรือก็คือ ที่ตั้งดั้งเดิมของหมู่บ้านนั่นเอง และเมื่อโรงเรียนถูกสร้างจนแล้วเสร็จ หลวงพ่ออภิชาต ก็ย้ายไปพัฒนาพื้นที่อื่นๆ ต่อไป จากนั้น ผู้ใหญ่ดำรงค์ มะปรางอ่อน ผู้ใหญ่บ้านสมัยนั้น ได้ไปกราบนิมนต์หลวงพ่อเพ็ชร์ อัตถกาโม มาเป็นเจ้าอาวาสวัดซอยสองโดยทำการย้ายวัดอีกครั้งหนึ่งจากที่ตั้งอยู่บนเขาวัว มาตั้งอยู่บริเวณหอประชุมของหมู่บ้านในปัจจุบัน
ด้วยพลังศรัทธาของชาวบ้านในชุมชนบ้านซอยสอง หลวงพ่อเพ็ชร์ และชาวบ้านจึงช่วยกันสร้างและทำนุบำรุงวัดซอยสองเรื่อยมา และได้สร้างศาลาการเปรียญ ซึ่งเป็นศาลาไม้ในบริเวณที่เป็นกุฏิพระสงฆ์วัดซอยสองในปัจจุบัน และได้จดขึ้นทะเบียนแต่งตั้งเป็นวัดในพระพุทธศาสนา ในวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๕ จวบจนถึงวาระสุดท้ายของหลวงพ่อเพ็ชร์
ด้วยเลื่อมใสศรัทธาของคนที่นี่ ที่วัดซอยสองยังคงเก็บสรีระสังขารของหลวงพ่อเพ็ชร์ อัตถกาโม เจ้าอาวาสรูปแรก เพื่อให้ทุกคนได้สักการะท่านต่อไป นอกจากนี้ยังสามารถเยี่ยมชมความยิ่งใหญ่สวยงามของเมรุเก้ายอดสร้างจากพลังศรัทธาของชาวบ้านในชุมชนที่ได้ชื่อว่างดงามที่สุดในจันทบุรี
บ้านสวน ป.เปาอินทร์ Organic การปลูกผัก ไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่มากมาย เพียงทำเป็น แบบวิถีเกษตรคอนโด ก็สามารถมีผักสดสะอาดปลอดสารพิษ ไว้กิน ไว้ใช้ได้แล้ว นอกจากนี้ยังมีการสาธิตเลี้ยงไส้เดือนอีกด้วย ส่วน ผลิตภัณฑ์ อื่น ๆ อาทิ ถ่านดูดซับกลิ่น ไข่เค็มต้มยำ น้ำพริกเผาเห็ด ปุ๋ยมูลไส้เดือน แหนมเห็ดนางฟ้า ปุ๋ยน้ำหมักมูลไส้เดือน เห็ดสวรรค์สามรส กล้วยฉาบ ต้นอ่อนทานตะวัน จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง
32. บ้านคลองยายไท หมู่ ๑๘ ตำบลขุนซ่อง อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี “ชมโขลงช้างป่า พาล่องแก่งน้ำไหลเชี่ยว เที่ยวคลองวังโตนด วัดเขารุ่งโรจน์ จุดชมวิว”
มาหมู่บ้านนี้ต้องมาที่ จุดชมวิว / ไหว้พระใหญ่ วัดเขารุ่งโรจน์ บนยอดเขามีพระขาวขนาดใหญ่และเป็นจุดชมวิว ๓๖๐ องศา มองได้รอบทิศทาง ไปชมรั้วกั้นช้าง เป็นส่วนหนึ่งของแก่งหางแมวโมเดลเพื่อให้ชาวบ้านและช้างป่าได้อยู่อาศัยพึ่งพิงผืนป่าอย่างมีความสุขโดยไม่เบียดเบียนกัน
ล่องแก่งต้นน้ำคลองวังโตนด จุดชมวิวที่มีระยะทางระหว่างขึ้นลงแพประมาณ ๓ กม.เป็นบริเวณที่มีสัตว์ป่าออกมาหากิน มีสภาพธรรมชาติที่ร่มรื่นสวยงามและสามารถ เลือกซื้อของฝากผลิตภัณฑ์ OTOP ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากพืชผลทางการเกษตรตามฤดูกาลกันได้ที่ “ศูนย์เรียนรู้บ้านคลองยายไท” น้ำยาล้างจานมะกรูด สเปรย์ฉีดกันยุงสมุนไพร ไนท์ครีมผสมน้ำผึ้งและสมุนไพร ครีมบำรุงผิวผสมน้ำนมข้าว น้ำมันเหลือง หม่องสมุนไพร น้ำผึ้งแท้ ๑๐๐% สบู่ฝางผสมน้ำผึ้งแท้ แชมพูสระผมสูตรมะกรูด ครีมนวดผมผสมอัญชัญ
33. บ้านเกาะลอย หมู่ ๑๒ ตำบลแก่งหางแมว อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี “สวนสมุนไพรอินทรีย์ เกษตรดีสวนผสม เที่ยวชมฟาร์มเห็ด ของเด็ดบ้านเกาะลอย”
บ้านเกาะลอยมีแหล่งท่องเที่ยวทางการเกษตร และศูนย์การเรียนรู้ทางด้านสมุนไพร จึงเป็นหมู่บ้านที่มีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ มีพืชสมุนไพรหลากหลาย ได้แก่ กระวาน ระกำ สำรอง ชะมวง โดยเฉพาะเห็ดเสม็ด เป็นเห็ดที่เกิดขึ้นตามฤดูกาลพบตามพื้นดินที่มีใบไม้ปกคลุม ในสวนเกษตรอินทรีย์ มีคาร์โบไฮเดรตน้อยและรสชาติเฉพาะตัว นำไปต้มและเก็บรักษาไว้สามารถทานได้ตลอดปี ที่บ้านเกาะลอย
ไปเยี่ยมกลุ่มผู้ผลิตพืชสมุนไพรบ้านเกาะลอย แหล่งปลูกพืชสมุนไพรด้วยวิถีเกษตรอินทรีย์ เช่น มะพลับ พระเจ้าห้าพระองค์ สมอพิเภก ต้นทำมัง สำรอง ฯลฯ เป็นจุดสาธิตการผลิตและแปรรูปสมุนไพรแบบครบวงจร ต้นแบบของจังหวัดจันทบุรี ที่สวนพาราพิทักษ์ ชิมเครื่องดื่มสมุนไพรอินทรีย์เพื่อสุขภาพของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตพืชสมุนไพรบ้านเกาะลอย
ชมฟาร์มเห็ด โรงเรือนเพาะเห็ดความจุราว ๕,๐๐๐ ก้อน ปลูกเห็นหลินจือและเห็ดนางฟ้า โดยเฉพาะเห็ดหลินจือมีการแปรรูปอบแห้งส่งขายเป็นที่ต้องการของตลาด ชมการสาธิตการเพาะเลี้ยงเห็ดและแปรรูปเห็ดหลินจือ อบแห้ง
ผลิตภัณฑ์เด่น ๆ อาทิ น้ำสำรองผงผสมเห็ดหลินจือ น้ำย่านาง น้ำเห็ดเสม็ด เห็ดเสม็ดบรรจุขวดแก้ว น้ำสับปะรด ๑๐๐% น้ำเห็ดหลินจือ น้ำชาเห็ดหลินจือ น้ำเถาวัลย์เปรียง น้ำลูกยอผสมมะขามเปียก สับปะรดกวน
34. บ้านเขาวงกต หมู่ ๑ ตำบลเขาวงกต อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี ชื่อตำบลได้มาจากในพื้นที่มีภูเขา ซึ่งจะมีลักษณะเป็นลูกขนาดย่อมๆ หลายลูกรวมกัน ทุกลูกประกอบด้วยหินปูน มีพันธุ์ไม้ขึ้นปกคลุมอยู่ประปราย ลูกที่สูงที่สุด ๒๕๐ เมตร ลูกที่ยาวที่สุด ๒,๐๐๐ เมตร เขาทุกลูกจะตั้งเรียงกันเป็นวงคล้ายวงฆ้อง ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงเรียกติดปากว่า “บ้านเขาวงกต”
สถานที่ท่องเที่ยว สำคัญได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาวงกต โดยถ้ำเขาวงกตมีทั้งหมด ๙๖ ถ้ำ แบ่งเป็นโซนท่องเที่ยวได้ ๑๙ ถ้ำและแบ่งออกเป็น ๓ โซน แต่ละโซนมีความยากง่ายแตกต่างกัน ดังนั้นก่อนเข้าไปควรแวะสอบถามเส้นทางกับเจ้าหน้าที่ก่อน
พระนอนจักรศรี / ถ้ำเขาวง พระพุทธรูปปางไสยาสน์องค์ใหญ่ประดิษฐานบริเวณหน้าผาสูง ใหญ่และสวยงามเป็นที่เคารพบูชาของชาวบ้านในละแวกนี้
ถ้ำเขาวง มีหินงอกจากพื้นลักษณะคล้ายเทวรูปด้านบนมีน้ำหยดลงมาตลอดเวลา ชาวบ้านจึงเรียกว่า หลวงพ่อน้ำหยด ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติบรรยากาศภายในวัดร่มรื่น เป็นที่อยู่อาศัยของฝูงลิง
35. บ้านบ่อโบกปูน หมู่ ๖ ตำบลพวา อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี
เป็นชุมชนที่รวมสมาชิกจากต่างถิ่นภูมิลำเนา มาตั้งรกรากอยู่รวมกันมีแหล่งธรรมชาติที่สวยงามโดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำคลองประแกต แหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายของสัตว์น้ำ สำหรับที่มาของชื่อหมู่บ้านนั้น เดิมทีคนที่นี่จะทำบ่อปูนเอาไว้สำหรับเก็บขี้ใต้ เป็นภาพจำของหมู่บ้าน จนกลายเป็นชื่อ “บ่อโบกปูน”
สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ มีหลายแห่งทีเดียว
บ้านเลี้ยงจิ้งหรีด, วัดคลองครก แวะสักการะวัดคู่หมู่บ้าน ไหว้พระขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำชุมชน, บ้านไม้ดอกไม้ประดับ, นั่งรถชมอ่างเก็บน้ำคลองประแกต, ล่องแพชมอ่างเก็บน้ำคลองประแกต
ได้ชมความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ หากไปแวะที่เกาะกลางน้ำจุดชมวิว ๓๖๐ องศาบนเนิน ๔G นอกจากชื่นชมทัศนียภาพงามตา ประจบเหมาะเคราะห์ดีอาจได้เห็นโขลงช้างป่าลงเล่นน้ำตามธรรมชาติด้วย
ผลิตภัณฑ์เด่น ๆ ของหมู่บ้านนี้ ได้แก่ กล้วยอร่อยเหาะ แปรรูปปลาน้ำจืด แปรรูปจิ้งหรีด เพาะพันธุ์ไม้ประดับ ขนมไส้แตก ตุ๊กตานวดมือยางพารา จักสานจากไม้ไผ่ แปรรูปเม็ดมะม่วงหิมพานต์ กระเป๋าซองกาแฟ จักสานเส้นพลาสติกพร้อมลวดลาย
จากหมู่บ้านต่าง ๆ ที่ไปเยือน เชื่อว่า จะสร้างความประทับใจแตกต่างกัน ทั้งเอกลักษณ์ชุมชน วัฒนธรรม หรือธรรมชาติที่สวยงาม ให้จดจำและอยากกลับไปเยือนอีกครั้งเมื่อมีโอกาส …