ขับเคลื่อนไทยสู่ศูนย์กลางพลังงาน
“ฟิวเจอร์ เอนเนอร์ยี เอเชีย 2018”
ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำมัน ก๊าซ และแอลเอ็นจี จำนวน 5,061 รายเข้าร่วมงานแสดงเทคโนโลยีและการประชุมด้านพลังงานเพื่ออนาคตแห่งเอเชีย “ฟิวเจอร์ เอนเนอร์ยี เอเชีย (FEA)” ครั้งปฐมฤกษ์ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 12 – 14 ธันวาคม 2561 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ในกรุงเทพมหานคร โดยมีเหล่าผู้นำทางอุตสาหกรรมและผู้มีอำนาจตัดสินใจจากแวดวงพลังงานให้ความสนใจเข้าร่วมการอภิปรายในระดับสูง มุ่งเน้นประเด็นเรื่องพลวัตการพัฒนาแลนด์สเคปด้านพลังงานของเอเชีย ตลอดจนโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ สำหรับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับก๊าซ แอลเอ็นจี และน้ำมัน เพื่อสนับสนุนการเติบโตต่อไปทั้งวันนี้และในอนาคต
งานประชุมและแสดงเทคโนโลยีในงานครั้งนี้มียอดผู้เข้าชมทะลุเป้า โดยมีตัวแทนภาคธุรกิจนับรวมทั้งหมดถึงวันสุดท้ายถึง 5,061 ราย และผู้เข้าร่วมประชุม 338 ราย แล้วยังมีวิทยากรผู้ร่วมบรรยายในงานประชุมเชิงกลยุทธ์และงานประชุมด้านเทคนิคกว่า 121 ท่าน และบริษัทที่นำสินค้าและนวัตกรรมมาจัดแสดงอีกจาก 30 ประเทศทั่วโลก การจัดงานครั้งปฐมฤกษ์นี้ได้รับเกียรติจาก ดร. ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานแห่งประเทศไทย เป็นประธานเปิดงาน และยังได้รับความสนใจจากพันธมิตรด้านพลังงานจากทั่วภูมิภาครวมถึงภาคส่วนอุตสาหกรรมเข้าร่วมงาน โดยงานฟิวเจอร์ เอนเนอร์ยี เอเชีย 2018 มีทั้งผู้นำจากภาครัฐ บริษัทภาคเอกชนที่ดำเนินธุรกิจด้านพลังงานครบวงจร ผู้ให้บริการเทคโนโลยีสะอาด ผู้ประกอบการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักในอุตสาหกรรมพลังงานรวมพลังกันเพื่อหารือและกำหนดกลยุทธ์และนโยบายสำหรับอนาคตของแผนการพัฒนาด้านก๊าซ แอลเอ็นจี และน้ำมันสำหรับภูมิภาคเอเชีย
ด้วยนโยบายการขับเคลื่อนด้านพลังงานในอนาคตอย่างแข็งแกร่งของรัฐบาลไทย ตลอดจนการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน บริษัทสปอนเซอร์ต่างๆ และสมาคมต่างๆ ที่ให้การสนับสนุนทำให้งานแสดงเทคโนโลยีและการประชุมด้านพลังงานเพื่ออนาคตแห่งเอเชีย ฟิวเจอร์ เอนเนอร์ยี เอเชีย 2018 เป็นหนึ่งในงานแสดงเทคโนโลยีอย่างเต็มรูปแบบด้านก๊าซ แอลเอ็นจี น้ำมัน และพลังงานที่สำคัญที่สุดของเอเชียในปัจจุบัน อีกทั้งงานดังกล่าวยังเป็นการเน้นย้ำจุดยืนและความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานชั้นนำแห่งใหม่ของเอเชียด้วยการรับรู้จากประชาคมด้านพลังงานระดับโลก
ฯพณฯ ดร. ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานแห่งประเทศไทย ในฐานะตัวแทนของรัฐบาลขึ้นกล่าวในพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการว่า “งานแสดงนิทรรศการและการประชุมในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการประสานความร่วมมือครั้งสำคัญเพื่อการเผยแพร่ถึงนโยบายและความพร้อมของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางแห่งการลงทุน เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางพลังงานที่ยั่งยืนของเอเชียในยุคไทยแลนด์ 4.0 การเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาประเทศไทยถือเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสและเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับเหล่าบริษัทด้านพลังงานทั้งในแบบครบวงจรและไม่ครบวงจรทั่วโลก”
งานนี้นับเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและโอกาสในการขยายเครือข่ายธุรกิจซึ่งมีผู้นำด้านพลังงานเข้าร่วมงานอย่างมากมาย ตั้งแต่เจ้าภาพร่วมอย่าง บริษัท ปตท. จำกัด และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผู้สนับสนุนเลานจ์ วีไอพีอย่างเป็นทางการ บริษัท เทลลูเรียน (Tellurian) โกลด์ สปอนเซอร์ ซึ่งได้แก่ บริษัท โมซัมบิก แอลเอ็นจี (Mozambique LNG) บริษัท ปตท.สผ. (PTTEP) และบริษัท ชีเนียร์ (Cheniere) ซิลเวอร์ สปอนเซอร์ อย่าง บริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม (Mubadala Petroleum) บริษัท เชฟรอน (Chevron) และ บริษัท โอซาก้า ก๊าซ แอนด์ เวนเจอร์ โกลบอล แอลเอ็นจี (Osaka Gas & Venture Global LNG) บรอนซ์ สปอนเซอร์ อย่าง บริษัท เบคเทล (Bechtel) และ แอสโซซิเอท สปอนเซอร์ อย่าง อาร์ดับเบิ้ลยูอี (RWE)
นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ปตท. เชื่อมั่นว่าการเติบโตอย่างมั่นคงและต่อเนื่องขององค์กรรวมถึงผู้มีส่วนได้เสีย ต่างมีความเกี่ยวข้องกับ 3 ด้าน หรือ 3P ที่สำคัญอย่างมาก ได้แก่ ประชาชน โลก และความสำเร็จ
– สำหรับด้านประชาชน ในฐานะที่ ปตท. เป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติ จึงได้จัดหาแหล่งพลังงานในราคาที่หมาะสมแก่การแข่งขันในท้องตลาดเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาวต่อประเทศไทยและประชาชน นอกจากนี้เรายังส่งเสริมการเติบโตของแหล่งชุมชนและภาคสังคม ผ่านโครงการความรับผิดชอบต่อสังคมต่างๆ ของเรา
– ในส่วนของโลกนั้น ธุรกิจในกลุ่มปตท. ต่างดำเนินงานโดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อลดผลกระทบจากการดำเนินงานต่อกลุ่มธุรกิจเชื้อเพลิงฟอสซิลด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุดและให้ความสามารถอย่างยอดเยี่ยมของเราจึงมั่นใจได้ ว่า ปตท. ได้ปฏิบัติการตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม
– ขณะที่ด้านความสำเร็จ ปตท. มุ่งมั่นที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระยะยาวโดยการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพผ่านการขยายธุรกิจไปสู่ห่วงโซ่คุณค่า (value chain) และมีระบบการกำกับดูแลบริหารความเสี่ยงและการปฏิบัติงานตามกฎระเบียบที่เหมาะสม (Good Corporate Governance Risk & Compliance – GRC)”
ด้านนายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไฟฟ้าในอนาคตจะมีรูปแบบที่แตกต่างออกไป เนื่องจากการใช้พลังงานในรูปแบบของพลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้น (Electrification) การกระจายตัวออกของแหล่งพลังงาน (Decentralization) ทำให้มีแหล่งพลังงานทางเลือกกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ในขณะเดียวกันการใช้เทคโนโลยีดิจิตอล (Digitalization) จะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่ออุตสาหกรรมไฟฟ้า กฟผ. มุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมพลังงานด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้า มีความน่าเชื่อถือในราคาที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศซึ่งอุตสาหกรรมไฟฟ้าถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยุดดิจิตอล”
สำหรับการประชุมมีหัวข้อที่น่าสนใจมากมาย อาทิ การประสานนโยบายพลังงานในระดับภูมิภาค การส่งเสริมความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมพลังงานของไทย การพัฒนาในด้านโครงสร้างพื้นฐานพลังงานที่ประสบผลสำเร็จสำหรับเศรษฐกิจเอเชียที่เกิดขึ้นใหม่และภูมิภาคเอเชียที่กำลังก้าวสู่การเป็นแหล่งพลังงานสีเขียว
นอกจากนี้ภายในงานยังมีการประชุมเชิงเทคนิค หรือ Centres of Technical Excellence (COTES) โดยมีหัวข้อการประชุมที่น่าสนใจ ได้แก่ การจัดประชุมด้านเทคนิคการพัฒนาต้นน้ำและการวางแผนเชิงกลยุทธ์ เทคโนโลยีและการพัฒนาก๊าซและ แอลเอ็นจี การพัฒนาแหล่งต้นน้ำและกลยุทธ์การวางแผน ระบบพลังงานยุคดิจิตอล 4.0 การผลิตกระแสไฟฟ้าและระบบสาธารณูปโภค และการกลั่น – การขนส่ง รวมถึงการกระจายพลังงานต่างๆ
ด้วยเสียงตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ร่วมงานซึ่งรวมถึงตัวแทนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องทุกท่านที่เข้าร่วมงานเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ขยายเครือข่ายทางธุรกิจ และวางแผนกลยุทธ์สำหรับอนาคต งานแสดงเทคโนโลยีและการประชุมด้านพลังงานเพื่ออนาคตแห่งเอเชีย ฟิวเจอร์ เอนเนอร์ยี เอเชีย จะกลับมาจัดที่เมืองไทยอีกครั้งในวันที่ 12 – 14 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพฯ