แพทย์ตอบข้อสงสัย
“โรคมะเร็ง” กับผู้สูงอายุ
โรคมะเร็งกับผู้สูงอายุเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ผู้ป่วยสูงอายุส่วนใหญ่หลายๆ คนมักจะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้สุขภาพแข็งแรง ไม่เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอย่างเช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง แต่กลับตรวจพบว่าเป็นมะเร็ง ซึ่งในเรื่องนี้ รศ.นพ.โกสินทร์ วิระษร คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ได้พร้อมที่ตอบข้อสงสัย
รศ.นพ.โกสินทร์ วิระษร คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สำหรับโรคมะเร็งในผู้สูงวัยนั้น พบได้บ่อยและเป็นสาเหตุทำให้ผู้สูงอายุของพวกเราต้องเสียชีวิตไปอันดับต้น ๆ ของประเทศ ทำไมโรคมะเร็งจึงพบได้บ่อยกับผู้สูงวัย ! ซึ่งก็มีหลายเหตุผลมากมาย แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็อาจจะเป็นเพราะว่า อายุที่เยอะขึ้นเซลล์ในร่างกายของเรานั้นก็มีความเสื่อม ชราและก็มีการกลายพันธุ์ แล้วก็เกิดเป็นก้อนเนื้อที่ควบคุมไม่ได้และกลายเป็นก้อนมะเร็งในที่สุด
ผู้สูงอายุจะต้องควรระวังอะไรบ้างและจะต้องมีวิธีการเริ่มต้นตรวจสุขภาพอย่างไร คำถามที่ถูกถามบ่อย ๆ ก็คือเราจะป้องกันอย่างไร ไม่ให้เป็นโรคมะเร็ง อันนี้ก็เป็นประเด็นสำคัญให้ผู้สูงวัยใส่ใจรายละเอียด เริ่มต้นอันดับแรก คือเรื่องอาหาร ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง ไม่ว่าจะเป็นอาหารสุกๆดิบๆ พวกปลาน้ำจืดทำให้เกิดการติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับและก่อให้เกิดเป็นมะเร็งท่อน้ำดีหรืออาหารมีการปนเปื้อนพวกสารพิษ เช่น สารพิษแอลฟาทอกดิก ก็อาจจะทำให้เกิดตับอักเสบ แล้วก็เกิดเป็นมะเร็งเนื้อตับได้ นอกจากเรื่องของอาหารแล้วก็อยากจะให้ผู้สูงวัยหันมาออกกำลังกาย เพราะการที่เราอย่างออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะทำให้ลดการเกิดเป็นโรคมะเร็งได้ นอกจากนี้อยากให้งดการสูบบุหรี่ เลิกการดื่มสุรา สองสิ่งนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญมากในการที่จะเกิดโรคมะเร็ง
สำหรับมะเร็งที่พบมากที่สุดในกลุ่มผู้สูงอายุ และแนวทางรักษานั้น ในประเทศไทย โรคมะเร็งที่พบได้บ่อยในผู้สูงวัย ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งทั้ง 4 โรคมะเร็ง นี้ก็เป็นโรคมะเร็งที่อยากให้ผู้สูงวัยช่วยกันเฝ้าระวังและสังเกตอาการของตนเอง เมื่อใดก็ตามที่มีอาการปวด โดยที่ไม่เคยรู้สึกปวดมาก่อน ปวดรุนแรงมาก จนไม่สามารถนอนหลับได้ ไม่ว่าจะตำแหน่งไหน ขอให้ระมัดระวังว่าอาจจะมีโรคมะเร็งที่ซ่อนอยู่ ซึ่งแนวทางการรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบันมีวิวัฒนาการดีขึ้นมากซึ่งเราสามารถที่จะควบคุมตัวโรคและรักษาตัวโรคให้หายขาดได้ โดยเฉพาะในระยะเริ่มต้น และในระยะสุดท้าย ถึงแม้ว่าจะไม่หายขาด แต่ก็ทำให้โรคมะเร็งสงบลงชั่วระยะเวลาหนึ่ง ในปัจจุบันมีแนวทางการรักษาด้วยยาใหม่ ๆ โดยเฉพาะยารักษาแบบมุ่งเป้า ยากลุ่มนี้สามารถที่สามารถควบคุมตัวโรค และก็สามารถที่จะทำให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้นได้และมีโอกาสใช้ชีวิตอยู่กับลูกหลานได้อีกนานหลายปี