สกว.-สกอ.มอบรางวัล10นักวิจัย
งานนักวิจัยรุ่นใหม่พบเมธีวิจัยอาวุโส
สกว. จับมือสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สกอ. มอบรางวัลเชิดชู 10 นักวิจัยที่มีผลงานโดดเด่น จาก 7 สถาบัน จุฬาฯ, มหาวิทยาลัยเกษตรฯ, มหิดล, เชียงใหม่, ธรรมศาสตร์, ขอนแก่น และอุบลราชธานี โดยพลอากาศเอก ดร.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี เปิดการประชุมและปาฐกถานำเรื่อง “ปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรมอย่างไร…ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ” ในงาน “นักวิจัยรุ่นใหม่… พบ…เมธีวิจัยอาวุโส สกว.” ครั้งที่ 18 พร้อมมอบรางวัล 2019 TRF-OHEC-Clarivate Analytics Research Excellence Award และ 2019 TRF-OHEC-Scopus Researcher Award มีนักวิจัยร่วมงานกว่า1พันคน
พลอากาศเอก ดร.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีกล่าวระหว่างปาฐกถานำเรื่อง “ปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรมอย่างไร…ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ” ว่า ในอุตสาหกรรม 4.0 ไทยมีความเข้มแข็งอยู่แล้วบางส่วน โดยต้องเสริมเรื่องดิจิทัล การแพทย์ และสิ่งที่บังคับแน่นอนในปัจจุบันคือ หุ่นยนต์ การมีคุณภาพชีวิตที่ดี การบริการท่องเที่ยว การบินและโลจิสติกส์ เราต้องลงมาดูว่าในแต่ละสาขาสอดคล้องกับแผนแม่บทส่วนใด มีบุคลากร เครือข่าย ผู้สนับสนุนและเงินทุนหรือไม่และอยู่ที่ใดบ้าง รัฐบาลเตรียมความพร้อมให้นักวิจัยมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติอย่างแน่นอน โดยการหลอมรวมงานวิจัยเข้ากับนวัตกรรมที่มีกฎหมายเข้ามาเป็นเรื่องเดียวกันยังเดินหน้าต่อและใหญ่ขึ้น แต่องค์กรขับเคลื่อนจะเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดการต่อยอด เชื่อมโยงกับหน่วยภายในและภายนอก รวมถึงร่วมกันผลิตผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยในเชิงพาณิชย์มากขึ้น
เป้าหมายที่ สกว.ได้เสนอไว้อยากจะทำตามนโยบายในการเร่งขับเคลื่อนให้บรรลุไทยแลนด์ 4.0 ในทุกภาคส่วนโดยเดินไปข้างหน้าด้วยกัน ส่วนที่พร้อมแล้วจะเป็นเหมือนหอกหรือหัวธนู ขึ้นกับว่าใครจะเป็นผู้ง้างธนูออกไปสู่เป้าหมายด้วยพลังที่เพียงพอและการคำนวณที่ถูกต้อง เป็นทั้งผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ กล้าหาญในการกำหนดกลยุทธ์และนำการเปลี่ยนแปลง รวมถึงเป็นผู้ประสานงานให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างมีพลัง ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดความคุ้มค่าและเกิดผลสัมฤทธิ์
“อยากจะเชิญชวนให้นักวิจัยร่วมให้ความรู้กับคนรุ่นใหม่ได้เกิดแรงบันดาลใจในการเข้าสู่เครือข่ายวิจัยให้มากขึ้น เรากำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายใน 2 ด้าน คือ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มีงบประมาณวิจัยใกล้เคียงกับร้อยละ 1 ขึ้นไปของจีดีพี และจะทำอย่างไรให้ขยับเป็นร้อยละ 1.5 ภายใต้ความท้าทายว่างานวิจัยต้องมีผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรมและเกิดการต่อยอด บรรลุแผนแม่บทใน 5-10 ปีข้างหน้า
โจทย์สำคัญคือ จากนี้ไปต้องทำงานวิจัยหลักให้เกิดโอกาสและผลกระทบโดยบูรณาการความรู้ความสามารถ ทำงานเป็นทีม โดยต้องวางแผนวิจัยให้สอดคล้องกับจำนวนประชากรและไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไป ตีบทให้แตกและมองให้ออกว่าจะส่งธนูไปสู่เป้าหมายอย่างไรให้คนของเรามีสมรรถนะสูงและจัดการกับปัญหาโดยใช้เครื่องมือและเทคโนโลยี”
ด้าน ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. เปิดเผยว่า งานประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อให้นักวิจัยรุ่นใหม่และนักวิจัยรุ่นกลางได้นำเสนอความก้าวหน้าของงานวิจัยที่ได้รับทุน ตลอดจนรับฟังข้อคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิที่จะนำไปสู่การพัฒนางานวิจัยในโครงการ อีกทั้งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการสร้างประชาคมวิจัยเพื่อนำไปสู่การบูรณาการความรู้ในศาสตร์ต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง โดยในปีนี้มีนักวิจัยที่ได้รับรางวัลในสาขาต่าง ๆ รวม 10 คน จาก 7 สถาบัน
ได้แก่ รางวัล 2019 TRF-OHEC-Clarivate Analytics Research Excellence Award โดยนักวิจัยที่มีผลการวิจัยโดดเด่น และมีคุณูปการรวมถึงผลกระทบเชิงบวกที่มีต่อสาธารณชนในประเทศไทย ได้แก่ รศ. ดร.ศิริพร จึงสุทธิวงษ์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ด้วยผลงานการพัฒนาออกแบบจำลองโมเลกุลและคำนวณโครงสร้างด้วยวิธีทางเคมีคำนวณที่มีความแม่นยำสูง เพื่อคัดกรองและคัดเลือกตัวเร่งปฏิกิริยาที่มีศักยภาพสูงไปสังเคราะห์จริงในห้องปฏิบัติการ เพื่อช่วยออกแบบพัฒนาวัสดุดูดซับในการกำจัดสารที่ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับการนำไปใช้ในภาคสนาม เช่น สารพิษจำพวกไอปรอทจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง รวมถึงใช้เป็นข้อมูลให้หน่วยงานในประเทศ เช่น กรมควบคุมมลพิษ
ส่วนรางวัล 2019 TRF-OHEC-Scopus Researcher Awards ได้รับการสนับสนุนจากสำนักพิมพ์ Elsevier ประกอบด้วย นักวิจัยรุ่นกลาง 5 คน ได้แก่
(1) รศ. ภก. ดร.ปิติ จันทร์วรโชติ ภาควิชาเภสัชวิทยาและสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากผลงานการควบคุมเซลล์มะเร็งต้นกำเนิดเพื่อพัฒนายาจากกล้วยไม้-ฟองน้ำทะเลสีน้ำเงินซึ่งพบในทะเลอ่าวไทย
(2) รศ. ดร.วุฒิชัย เอื้อวิทยาศุภร ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผลงานวัสดุอัจฉริยะเพื่อการตรวจวัดทางเคมีเซนเซอร์สำหรับตรวจสอบการปนเปื้อนของสารเคมีชนิดต่าง ๆ ซึ่งสามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งนักวิจัยและคณะได้ประยุกต์ใช้เป็นนวัตกรรมเซนเซอร์ตรวจวัดการปนเปื้อนของไอออนฟลูออไรด์หรือไอออนชนิดอื่นๆ เช่น ไซยาไนด์ ฟอสเฟส เป็นครั้งแรกของโลก
(3) ผศ. ดร.ประสิทธิ์ ทองใบ สถาบันวิจัยและนวัตกรรมวัสดุนาโนเพื่อพลังงาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผลงานตัวเก็บประจุไฟฟ้าขนาดจิ๋วประสิทธิภาพสูงจากวัสดุไทเทเนียมไดออกไซด์ ให้สามารถใช้งานได้อย่างยาวนาน และไม่เป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม
(4) รศ. ดร.ธงไทย วิฑูรย์ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผลงานการแปรรูปก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้กลายเป็นเงิน โดยพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาที่มีความว่องไวและมีเสถียรภาพในการแปรรูปก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นเป็นสารเคมีที่มีมูลค่า เช่น โอเลฟินส์เบา ซึ่งดำเนินการร่วมกับสถาบันนวัตกรรม ปตท. สามารถใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเส้นลวดขยายหลอดเลือดหัวใจ ข้อเข่าเทียม ฟันปลอม เสื้อเกราะกันกระสุนแบบอ่อน กระดูกเทียม และชิ้นส่วนรถยนต์ เป็นต้น
(5) รศ. ดร.ศากุน บุญอิต สาขาบริหารการปฏิบัติการ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัวชี้วัดความสามารถของกระบวนการบริหารซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมบริการ 7 ประเภท
รางวัล 2019 TRF-OHEC-Scopus Young Researcher Awards สำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ 4 คน ได้แก่
(1) ผศ. ดร.บูรภัทร์ อินทรีย์สังวร ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผลงานตัวเร่งปฏิกิริยาด้วยแสงสำหรับการย่อยสลายสารอินทรีย์มลพิษ และการสังเคราะห์สารอินทรีย์ที่มีมูลค่า โดยเฉพาะสารกลุ่มอิมมีนที่มีฤทธิ์ต้านการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ทั้งยังเป็นสารตัวกลางสำคัญในอุตสาหกรรมการผลิตยาพื้นฐานที่มีการบริโภคและจำหน่ายในประเทศเป็นจำนวนมาก รวมถึงช่วยเพิ่มมูลค่าของสารอินทรีย์ตั้งต้นได้มากถึงประมาณ 40 เท่า
(2) ผศ. ดร.ศิรินาฏ คำฟู หัวหน้าหน่วยชีววิทยาระดับโมเลกุล ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมสาขาโรคทางไฟฟ้าหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผลงานการศึกษาภาวะหัวใจล้มเหลวจากภาวะเหล็กเกินในผู้ป่วยธาลัสซีเมีย เพื่อต่อยอดในการคิดค้นและพัฒนาวิธีการรักษาและป้องกันการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวในผู้ป่วยต่อไป
(3) ผศ. ดร.ศิวพล ศรีสนพันธุ์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผลงานการพัฒนาเครื่องกำเนิดพลาสมาเย็นที่สามารถทำงานได้ที่บรรยากาศปกติ ราคาถูกตั้งแต่หลัก 2-3 หมื่นบาทสำหรับเครื่องขนาดเล็ก จนถึงหลักแสนบาทในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสีเขียวสำหรับการรักษา ปรับปรุง หรือเพิ่มคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ ช่วยให้ผลผลิตทางการเกษตรของไทยได้รับการยอมรับและเป็นจุดแข็งที่สามารถตีตลาดโลกได้
(4) ผศ. ดร.ธันยพร จันทร์กระจ่าง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของการแบ่งปันสิทธิในการใช้และดูแลป่าไม้ระหว่างรัฐและชุมชน: การศึกษาจากป่าชุมชนในประเทศไทย โดยใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อพิสูจน์ทฤษฎีและศึกษากลไกที่เกี่ยวข้อง ซึ่งพบว่าการที่ภาครัฐให้การสนับสนุนเงินทุนในการบริหารดูแลป่า และความช่วยเหลือด้านความเชี่ยวชาญจากเจ้าหน้าที่ อาจเป็นส่วนช่วยในการทำให้ป่าชุมชนในเขตป่าสงวนของไทยประสบความสำเร็จในการรักษาสิ่งแวดล้อม
อนึ่งงานประชุม “นักวิจัยรุ่นใหม่…พบ…เมธีวิจัยอาวุโส สกว.” เป็นงานประชุมประจำปีของ สกว. จัดขึ้น เพื่อให้นักวิจัยได้พบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงานวิจัย และรับฟังข้อเสนอแนะจากนักวิจัยอาวุโส อีกทั้งเผยแพร่ผลงานของนักวิจัยที่ได้รับรางวัลสู่สาธารณะ ในปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-11 มกราคม 2562 ณ โรงแรม เดอะรีเจ้นท์ ชะอำ บีช รีสอร์ท นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการนำเสนอผลงานการวิจัยของนักวิจัยรุ่นใหม่ และรุ่นกลางในรูปแบบการบรรยายและโปสเตอร์ รวมถึงการจัดแสดงผลงานการวิจัยของนักวิจัยที่ได้รับรางวัล
สกว. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยที่สำคัญในประเทศไทย มีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาชุมชน ทางด้านการวิจัยที่มีคุณภาพสูง ด้วยการจัดหาทุนวิจัยและให้ความช่วยเหลือแก่นักวิจัย ในการบริหารจัดการงานวิจัย ขณะที่ สกอ. เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของประเทศไทย โดยกำกับ ดูแลสถาบันอุดมศึกษาระดับปริญญาตรี โทและเอกรวม 170 แห่ง การที่ สกว. และ สกอ. ได้สนับสนุนรางวัลร่วมกับสำนักพิมพ์ Elsevier และบริษัท Clarivate Analytics จะเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการพัฒนายกระดับคุณภาพงานวิจัยของประเทศไทย ซึ่งจะเป็นฐานของนวัตกรรมในอนาคต รวมถึงการสร้างการยอมรับต่อผลงาน วิจัยของประเทศไทยในเวทีโลก เพื่อตอบสนองนโยบายยุทธศาสตร์ของชาติในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรวิจัย และการสร้างฐานความรู้เพื่อการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน