วช.-สนช.เกาะติดสถานการณ์ฝุ่น
แนะอย่าตื่นตระหนก-เลี่ยงพื้นที่เสี่ยง
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)โดยนายสมปรารถนา สุขทวี ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนการวิจัย ร่วมกับคณะกรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดย พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก ประธานคณะอนุกรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมชุมชนเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และภาคประชาชน ร่วมแถลง “การรับมือเชิงรุกกับสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5…ท่วมกรุงเทพมหานครและปริมณฑล” ตอกย้ำทุกภาคส่วนเกาะติดสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กปกคลุมกรุงเทพมหานครและปริมณฑล แนะอย่าตื่นตระหนก พร้อมหนุนมาตรการรัฐมาถูกทางและแนวทางรับมือที่ทำได้เลย ไปจนแนวทางระยะยาว อาทิ ทำความสะอาดบ้าน บิ๊กคลีนนิ่ง สวมหน้ากากอนามัย เลี่ยงเข้าพื้นที่ฝุ่นละอองสูง ลดออกกำลังกายกลางแจ้ง ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ วช.มีวิจัยปลูกต้นไม้เลือกพันธุ์ไม้ดูดซับฝุ่น การเพิ่มพื้นที่สีเขียว ตลอดจนการบริหารจัดการผังเมืองดูสัดส่วนอาคารกับถนน อาคารสูงปิดกั้นทิศทางลม
พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก ประธานคณะอนุกรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมชุมชนเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) กล่าวว่า สนช.เกาะติดสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กและวิธีที่ประชาชนต้องรับมือและดูแลตัวเอง โดยได้จัดทำเอกสารส่งไปยังรัฐบาลแล้ว
นายสมปรารถนา สุขทวี ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนการวิจัย วช.เปิดเผยว่า วช.มีงานวิจัยและข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ มารองรับหลายเรื่องในการแก้ปัญหาหรือป้องกันได้ โดยส่งเสริมการวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม การออกแบบผังเมือง การปลูกพันธุ์ไม้ในเมืองที่สามารถดูดซับอากาศหรือสารพิษในอากาศได้ พร้อมพัฒนาเครื่องมือในการวัดคุณภาพอากาศ ซึ่งสามารถจะนำไปติดตั้งตามจุดต่าง ๆ เพื่อวัดค่าฝุ่นละอองได้
“วช.จะดำเนินการแนวทางนี้สนับสนุนการวิจัยที่นำมาใช้ประโยชน์ได้จริง และจะสนับสนุนด้านนี้อย่างจริงจัง พิจารณาประเด็นที่มีอันตราย มีผลกระทบ และต้องคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดในอนาคตด้วย”
ด้านนายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ โรงพยาบาลวิชัยยุทธกล่าวว่า ในปัจจุบันสังคมไทยตื่นตัวในเรื่องนี้แล้ว ซึ่งต้องยอมรับความจริงว่า เมืองใหญ่ย่อมมีฝุ่นละอองมากกว่าในต่างจังหวัด แต่แนะอย่าตื่นตระหนก ซึ่งกรุงเทพมหานครถูกจัดอยู่ในอันดับ 9 ของโลกและมีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กมากกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศเมตร ซึ่งน้อยกว่าเมื่อเทียบกับกรุงปักกิ่งหรือนิวเดลีที่มีค่าสูงหลายร้อย
นอกจากนี้ในการศึกษาผลกระทบของ PM2.5 เป็นการศึกษาระยะยาว และยังไม่ได้ข้อสรุปและแม้จะบอกว่าทำให้อายุสั้นลง แต่ผลกระทบยังไม่ได้เกิดขึ้นทันที เป็นผลเกิดขึ้นในระยะยาวในอีก 30-40 ปีข้างหน้า จึงไม่ควรตื่นตระหนกมาก โดยPM2.5 เป็นฝุ่นละอองเล็กมากที่สามารถผ่านจมูก ลำคอไปถึงหลอดลม ถุงลม และเข้าไปในหลอดเลือดหัวใจ ที่อาจทำให้หลอดเลือดอักเสบ หรือเข้าไปในหลอดเลือดสมองที่อาจทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต แต่ทั้งหมดนี้เป็นระยะยาวอีก 30 ปีข้างหน้า ไม่ใช่ตอนนี้
“ใน 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมายังไม่พบคนไข้ พบจิตแพทย์พบผู้ป่วยที่มีอาการหายใจไม่ออก ซึ่งเป็นผลจากการตื่นตระหนก ทั้งนี้กลุ่มเสี่ยงได้แก่ คนเป็นโรคภูมิแพ้ หอบหืด ถุงลมโป่งพอง ถุงลมอักเสบ ที่อาจเกิดโรคกำเริบได้ แต่คนปกติไม่มี กลุ่มเสี่ยงคือ คนที่ทำงานข้างถนน หรือตำรวจจราจร ที่ต้องโบกรถ ซึ่งทำงาน 8-9 ชั่วโมง คนทั่วไปเปิดรับฝุ่นระยะสั้น อันตรายน้อยกว่า”
คุณกฤษณะ ละไล ผู้นำด้านอารยสถาปัตย์
ดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์
ทั้งนี้ ดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อม วช. เปิดเผยว่า สนับสนุนมาตรการรัฐที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ว่ามาถูกทางและได้แนะแนวทางรับมือฝุ่นละอองเบื้องต้นที่สามารถทำได้เลยมีหลายวิธี อาทิ บิ๊กคลีนนิ่ง เดย์ ทำความสะอาดบ้านเรือน เพราะฝุ่นจะสะสมที่ใบไม้และตัวอาคาร โดยเฉพาะใน 4 วันข้างหน้าจะเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ จะเป็นช่วงที่มีลมถ่ายเทได้ดี น่าจะเป็นวิธีการที่ควรกลับมามองให้เร็วที่สุด
นอกจากนี้ในเรื่องต้นไม้ ซึ่งวช.ยังมีผลงานวิจัยเรื่องพรรณไม้ ที่สามารถดูดซับฝุ่นได้เองได้มากถึง 16 เท่า ขณะเดียวกันอาจต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียว ซึ่งในกรุงเทพมหานครมีสวนสาธารณะ 37 แห่ง มีการศึกษาในปี 61 กทม.เพิ่มพื้นที่สีเขียวอีกประมาณ 4,000 ไร่ จาก 36 เป็น 37 แห่ง แต่เมื่อคำนวณพื้นที่กรุงเทพฯ มีประมาณ 980,000ไร่ เฉลี่ยเหลือพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรตามทะเบียนบ้านประมาณ 6 ตารางเมตรต่อคน แต่มีประชากรแฝงประมาณ 10-12 ล้านคน ทำให้สัดส่วนพื้นที่สีเขียวมีเพียง 3 ตารางเมตรต่อคน ขณะที่องค์การอนามัยโลก(WHO) กำหนดไว้ที่ 9 ตารางเมตรต่อคน แสดงว่า กรุงเทพฯมีพื้นที่ในการดูดซับฝุ่นน้อย
เมื่อเปรียบเทียบกับเมืองใหญ่ประเทศอื่น ๆพบว่า กรุงเทพมีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรน้อยมาก เช่น บาร์เซโลน่าของสเปนสัดส่วนอยู่ที่ 5.6 ตารางเมตรต่อคน โคลิมาในเม็กซิโกอยู่ที่ 6.2 ตารางเมตรต่อคน นิวยอร์ก 23.1 ตารางเมตรต่อคน และคูริติบาของบราซิลมีมากถึง 52ตารางเมตรต่อคน
สรุปภาพรวมข้อเสนอแนะ ได้แก่ การระมัดระวังกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็ก สตรีมีครรภ์ ไม่ไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงหรือออกกำลังกายที่โล่งแจ้ง ตั้งจุดมอนิเตอร์ ทำบิ๊กคลีนนิ่งในช่วงเวลาที่สภาพอากาศเอื้ออำนวย การเพิ่มพื้นที่สีเขียว และบริหารจัดการเรื่องผังเมือง ดูสัดส่วนอาคารและถนน ไม่ให้อาคารปิดทิศทางของลม
อนึ่งก่อนหน้านี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจกหน้ากากอนามัย N95 โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเสี่ยง เพิ่มความถี่ในการกวาดล้างทำความสะอาดถนนและฉีดพ่นน้ำในอากาศ เพิ่มจุดตรวจจับรถควันดำ 20 จุด และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เร่งคืนพื้นผิวการจราจรบริเวณเส้นทางก่อสร้างรถไฟฟ้า ณ จุดที่ดำเนินการเสร็จแล้ว ห้ามเผาในที่โล่งอย่างเด็ดขาด
พร้อมทั้งวางแนวทางการใช้น้ำมัน B20 โดยรถเมล์ ขสมก. การเปลี่ยนรถยนต์จากรถโดยสารเก่าให้เป็นรถโดยสาร NGV รถโดยสารไฟฟ้า และรถโดยสารไฮบริด ประมาณ 3,000 คัน ในปี 2565 การปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงให้เป็นไปตามมาตรฐานยูโร 5 การจำกัดรถบรรทุกเข้าเขตกรุงเทพมหานครในช่วงเวลาเร่งด่วน รวมถึงคพ. ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับกรมฝนหลวง ในการทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 รวมถึงได้ตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็วเพื่อพร้อมปฏิติการทำฝนหลวง โดยเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2562 ได้ปฏิบัติการและฝนตกลงมาตั้งแต่เวลา 14.30 น.หลายพื้นที่ใน กทม. ซึ่งส่งผลให้วันนี้ค่าฝุ่นละออง PM2.5 ที่เกินมาตรฐานลดลงเกือบทุกจุด และกรมฝนหลวงฯ จะได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติ