พม.Kick off กิจกรรมยื่นแบบออนไลน์
ขอหนังสือรับรองกิจการเพื่อสังคม
ปลัด พม.เป็นประธานเปิดตัวกิจกรรม Kick off การยื่นขอหนังสือรับรองกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise : SE)แบบออนไลน์ (SE Online) ณ บริเวณลาน Eden ชั้น 3 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ เพื่อเพิ่มช่องทางการยื่นแบบคำขอหนังสือรับรองกิจการเพื่อสังคมที่สะดวกรวดเร็วและการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นสากล โดยมีคณะกรรมการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ วิทยากรผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคม ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมจำนวน 200 คน
นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(ปลัดพม.) กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้ขับเคลื่อนนโยบายการลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ โดยให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาสังคม โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายผู้ด้อยโอกาสให้สามารถเข้าถึงสวัสดิการของรัฐในด้านต่างๆ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนด้วยการส่งเสริมการสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้
ทั้งนี้ รัฐบาลจึงมีการผลักดันการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐในการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนในรูปแบบการดำเนินกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise : SE) โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (คกส.) ได้ขับเคลื่อนงานด้านกิจการเพื่อสังคม ด้วยการออกหนังสือรับรองกิจการเพื่อสังคม ซึ่งปัจจุบัน มีการรับรองกิจการเพื่อสังคมแล้ว จำนวน 94 กิจการ
และได้มีการจัดทำระบบฐานข้อมูลการขอหนังสือรับรองกิจการเพื่อสังคมแบบออนไลน์ (SE Online) ) เพื่อเพิ่มช่องทางการยื่นขอหนังสือรับรองกิจการเพื่อสังคม เป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการที่มีความประสงค์ยื่นแบบคำขอหนังสือรับรองฯ อีกทั้งเป็นการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นสากล โดยสามารถยื่นผ่านทางเว็ปไซต์กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ http://www.se.dsdw.go.th
นายปรเมธี กล่าวต่อไปว่า สำหรับการยื่นขอหนังสือรับรองกิจการเพื่อสังคม ทางคณะกรรมการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (คกส.) ได้ออกประกาศว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการยื่นคำขอหนังสือรับรองกิจการเพื่อสังคม พ.ศ. 2561 เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2561 โดยมีหลักเกณฑ์ 5 ข้อ ดังนี้ 1) วัตถุประสงค์หลัก เป็นกิจการเพื่อแก้ไขปัญหา/ พัฒนาสังคม หรือสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น 2) มีรายได้หลักมาจากการขายสินค้า หรือให้บริการ มากกว่า 50% ของยอดรายรับ 3) มีกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม 4) มีการจัดการผลกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มากกว่า 50% ไปลงทุนซ้ำ เพื่อวัตถุประสงค์ทางสังคมหรือนำไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวม หรือคืนประโยชน์ให้แก่สังคม และ 5) มีโครงสร้างการกำกับดูแลกิจการที่ดี และมีระบบธรรมาภิบาลที่ชัดเจน
นายปรเมธี กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรม Kick off การยื่นขอหนังสือรับรองกิจการเพื่อสังคมแบบออนไลน์ (SE Online) วันนี้ ประกอบด้วยกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ 1) การออกบูธแสดงผลงานขององค์กรที่ได้รับการรับรองกิจการเพื่อสังคม และบูธประชาสัมพันธ์ระบบการยื่นของหนังสือรับรองกิจการเพื่อสังคมแบบออนไลน์ (SE Online) ของกระทรวง พม. โดย พส.
นายพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่-ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บ. ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด
2) การบรรยายพิเศษ เรื่อง “มุมมองผู้ประกอบการเพื่อสังคมกับการพัฒนาประเทศ” โดยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด และ 3) เวทีเสวนาวิชาการ เรื่อง “การบูรณาการการจัดทำฐานข้อมูลกิจการเพื่อสังคม”
“ทั้งนี้ กระทรวง พม. พร้อมขับเคลื่อนการจัดทำระบบยื่นแบบคำขอหนังสือรับรองกิจการเพื่อสังคมออนไลน์ (SE Online) เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการที่มีความประสงค์ยื่นแบบคำขอหนังสือรับรองฯ และเกิดการจัดทำระบบสารสนเทศฐานข้อมูลกิจการเพื่อสังคมในประเทศไทย เป็นการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาด้านสังคมควบคู่เศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาคน ชุมชน และสังคม ด้วยการจ้างงานและการกระจายรายได้อย่างครอบคลุมทุกพื้นที่ นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำของสังคมอย่างบูรณาการ
เชิญชวนภาคเอกชน หรือกลุ่มในชุมชนต่าง ๆ ที่มีความสนใจทำกิจกรรมที่ทำประโยชน์เพื่อสังคมหรือต้องการจะร่วมกับภาครัฐในการที่จะได้รับการส่งเสริมหรือการรับรองให้สังคมตระหนักหรือรับทราบว่ากิจการได้ทำประโยชน์เพื่อสังคม เชิญเข้ามร่วมทำกิจกรรมเพื่อสังคมโดยเฉพาะผ่านทางระบบออนไลน์ที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ คิดว่ามีกิจการเหล่านี้มากมายในประเทศไทยที่จะเข้ามาร่วมกันพัฒนาประเทศและคาดว่าจะได้เห็นกิจการเพื่อสังคมเข้ามาจดทะเบียนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปีนี้”
ด้านนายพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่-ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บ. ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด เปิดเผยว่า การทำธุรกิจเพื่อสังคมมีหลักสำคัญว่า จะต้องมีกำไร ปรับทัศนคติของคน ต้องนำคนที่มีความรู้จริง ๆมาทำงาน ต้องสร้างคน และทำให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งเป้าหมายของดอยคำคือ การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์และให้มีการทำเกษตรโดยไม่ตัดไม้ทำลายป่า
บริษัทมีพนักงานประมาณ 1,000 คนทั้งรายวันและรายเดือน มีเครือข่ายลูกไร่เกษตรกรมีประมาณ 50,00-6,000 คนในเขตภาคเหนือ พืชผลเกษตรที่ขายอาทิ มะเขือเทศ สตรอเบอรี่ มะม่วง เสาวรส ลิ้นจี่ และอื่น ๆ โดยเน้นขายภายในประเทศเป็นหลัก ผลิตภัณฑ์ที่ขายดีสุดคือ มะเขือเทศ เสาวรสและผลไม้อบแห้ง มีขายตามห้างร้านทั่วไป เช่น บิ๊กซี เทสโก้โลตัส และเซเว่นอีเลฟเว่น
ผลประกอบการปี 2560 อยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านบาท ปี 2561 อยู่ที่ 1,900 ล้านบาทผลจากปัจจัยเศรษฐกิจไม่ดี ซึ่งพิจารณาจากยอดบิลผู้ซื้อที่โดยจากเฉลี่ยซื้อ 1,000 บาท ลดเหลือ 500 บาท หรือเดือนซื้อ 3 ครั้งลดเหลือ 2 ครั้ง เป็นต้น ประการที่ 2 มาจากภาษีน้ำตาลที่ดูไม่ค่อยเป็นธรรมเท่าไหร่ เพราะเราอยู่ในเขตเมืองร้อน ผลไม้บ้านเราหวาน ในเอเชียผลไม้มีรสหวาน แต่เราไปเอาวิจัยของต่างประเทศมาเป็นมาตรฐานไม่ได้ ต้องดูหลาย ๆ อย่างเราเป็นเอเชียน ไม่ใช่คอเคเซียน
บูธที่มาจัดแสดง