พม.แสดงพลังยุติรุนแรงทุกรูปแบบ
เปิด6ตัวการ์ตูน ‘ท่าทางที่อยากเห็น’
พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พม. เป็นประธานแถลงการแสดงพลัง “ร่วมเป็นหนึ่งเสียงในการยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี บุคคลในรอบครัว และความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ” พร้อมเปิดตัวการ์ตูนคาร์แรคเตอร์ “ท่าทางที่อยากเห็น และไม่อยากเห็นในครอบครัว” โดยมีนายปรเมธี วิมลศิริ ปลัด พม. พร้อมด้วย นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีสค. และคณะผู้บริหาร พม. เข้าร่วมงาน ณ อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ พม. สะพานขาว กรุงเทพฯ เผยผลสำรวจพม. โพลฯร่วมนิด้าโพลพบ ความรุนแรงในครอบครัว อันดับ1 คือ ถูกทำร้ายทางร่างกาย รองลงมาคือ การล่วงละเมิดทางเพศ และการทำร้ายจิตใจ
พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) กล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี บุคคลในครอบครัว และความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ เป็นปัญหาสำคัญที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ ซึ่งข้อมูลจากการสำรวจ “พม. โพล” ศูนย์สำรวจความคิดเห็นทางสังคม โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” ซึ่งสำรวจระหว่างเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน 2561 พบว่า ประเภทของการกระทำความรุนแรงอันดับหนึ่ง คือ การถูกทำร้ายทางร่างกาย รองลงมาคือ การล่วงละเมิดทางเพศ และการทำร้ายทางจิตใจ
ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลความรุนแรงในครอบครัว ตามระบบฐานข้อมูลความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ภายใต้ www.violence.in.th ของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) พบว่า ในปี 2561 มีการทำร้ายร่างกาย เป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นร้อยละ 59 รองลงมา คือ การดุด่า ดูถูก คิดเป็นร้อยละ 18 และการกล่าววาจา หยาบคาย/ตะคอก/ประจาน/ขู่/บังคับ คิดเป็นร้อยละ 13 ของจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวทั้งหมด
พลเอก อนันตพร กล่าวต่อไปว่า กระทรวง พม. โดย สค. ได้ให้ความสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2561 ได้จัดงานรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี บุคคลในครอบครัว และความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ ด้วยการรณรงค์ยุติความรุนแรงฯ เพื่อสร้างกระแสสังคมให้เกิดความตระหนักต่อปัญหาและนำไปสู่การรวมพลังของทุกภาคส่วนในการยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี บุคคลในครอบครัวและความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ ภายใต้แนวคิด “He For She : ปรับพฤติกรรม เปลี่ยนความคิด ยุติความรุนแรง” มุ่งส่งเสริมผู้ชายให้มีบทบาทและส่วนร่วมในการยุติความรุนแรงฯ
นอกจากนี้ ยังร่วมกับสวนดุสิตโพลล์ สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับ “ท่าทางที่อยากเห็น และไม่อยากเห็นจากบุคคลในครอบครัว” และได้มีการนำผลความคิดเห็นมาจัดประกวดการ์ตูนคาแรคเตอร์ท่าทางที่อยากเห็น และไม่อยากเห็นในครอบครัว เพื่อใช้สำหรับเป็นสื่อในการรณรงค์สร้างความตระหนักต่อปัญหาความรุนแรงฯ และส่งเสริมให้มีการแสดงพฤติกรรมที่ดีเพื่อเสริมสร้างสัมพันธภาพที่ดี ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี บุคคลในครอบครัว และความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ
สำหรับในปี 2562 กระทรวง พม. โดย สค. มีแผนจะขับเคลื่อนการรณรงค์ยุติความรุนแรงฯ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องตลอดทั้งปี ซึ่งการดำเนินงานในระยะต่อไปจะเป็นการสร้างกระแสสังคมเกี่ยวกับการ์ตูนคาร์แรคเตอร์ “ท่าทางที่อยากเห็น และไม่อยากเห็นในครอบครัว”
โดยจะนำการ์ตูนคาร์แรคเตอร์ดังกล่าวไปผลิตเป็นสื่อเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สู่สาธารณะชน อาทิ สื่อวีดิโอการ์ตูนภาพเคลื่อนไหว สื่อสติกเกอร์ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อตั้งประชาสัมพันธ์ Standy ธงประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ผ่านสื่อในทุกช่องทาง ได้แก่ สื่อโทรทัศน์ วิทยุ สื่อโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook Line Youtube Instagram เป็นต้น รวมทั้งนำไปประชาสัมพันธ์ในงานต่างๆของหน่วยงานในสังกัดกระทรวง พม.
พลเอก อนันตพร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการจัดงานในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การ์ตูนคาร์แรคเตอร์ สื่อสร้างสรรค์ เพื่อเสริมสร้างสัมพันธภาพของครอบครัว ในการรณรงค์ยุติความรุนแรงฯ โดยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ช่องทาง ร่วมเป็นหนึ่งเสียงในการยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี บุคคลในครอบครัว และความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ แสดงออกด้วยการ “ไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย ไม่กระทำความรุนแรง” และเพื่อเสริมสร้างความตระหนักต่อสังคม และส่งเสริมให้เกิดภาคีเครือข่าย ในการดำเนินงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรง
ซึ่งกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย กิจกรรมการเขียนข้อความเกี่ยวกับ “ท่าทางที่อยากเห็น ในครอบครัว” ลงบนบอร์ด White Ribbon การแสดงละครใบ้ การประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการณรงค์ยุติความรุนแรง ในการแสดงพลัง “ร่วมเป็นหนึ่งเสียงในการยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี บุคคลในครอบครัว และความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ”
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการยุติความรุนแรง ด้วยการลงชื่อและข้อความในการร่วมรณรงค์ผ่าน QR Code หรือเว็บไซต์ http://plan.dwf.go.th/public/campaign.do และการเปิดตัวการ์ตูนคาร์แรคเตอร์ “ท่าทางที่อยากเห็น และไม่อยากเห็นในครอบครัว” จำนวน 6 แบบ ได้แก่ 1) ครอบครัวแสนดี 2) ครอบครัวสุขสันต์ 3) ครอบครัวยิ้มสยาม 4)น้องอุ่นใจ 5)ครอบครัวตัว บ. และ 6) คุณแม่หวานใจกับเด็กชายก้อนเมฆ
“ทั้งนี้ การป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน กระทรวง พม. ขอเชิญชวนประชาชนทุกคนร่วมลงชื่อในเว็บไซต์ http://plan.dwf.go.th/public/campaign.do เพื่อร่วมเป็นหนึ่งเสียง ในการ “ไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย ไม่กระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี บุคคลในครอบครัว และความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ” หากประชาชนพบเห็นผู้ถูกกระทำความรุนแรงหรือประสบปัญหาทางสังคม สามารถขอความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 บริการฟรี 24 ชั่วโมง ซึ่งกระทรวง พม. พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการช่วยเหลืออย่างเต็มที่ต่อไป” พลเอก อนันตพร กล่าว