มุมเกษตร..ไทยเจ้าแรกในโลก
‘เครื่องปลูกมันฯ-อ้อย’ ชุมชน
“งานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2562″ หรือ Thailand Inventors’ Day 2019 เปิดฉากแล้ว ณ Event Hall 102 – 104 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร ซึ่งจัดเป็นครั้งที่ 21 และยังเป็นการฉลองครบรอบ 60 ปี ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มีผลงานประดิษฐ์คิดค้นทั้งในประเทศและนานาชาติ มาร่วมจัดแสดงกว่า 1,500 ผลงาน รวมถึง “เครื่องปลูกมันสำปะหลังและอ้อยชุมชน” ตัวอย่างผลงานประดิษฐ์ใช้งานได้จริง เข้าสู่การผลิตเชิงพาณิชย์แล้ว และได้ขึ้นบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทย เผยไทยผลิตเจ้าเดียวในโลก ต่างประเทศไม่มีขาย ราคาไม่เกิน 2 แสนบาท
ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ เดไปวา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เปิดเผยว่า ผลงาน “เครื่องปลูกมันสำปะหลังและอ้อยชุมชน” ที่นำมาโชว์ในงาน “งานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2562″ หรือ Thailand Inventors’ Day 2019 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร เป็นการต่อยอดผลงาน “เครื่องปลูกมันสำปะหลังชุมชน” ของทีมลุงโมเสส หรือ นายโมเสส ขุริลัง จังหวัดชัยภูมิที่เคยได้รับทุนสนับสนุนพัฒนาสิ่งประดิษฐ์คิดค้นจาก สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)และเคยได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณ ผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2556 แต่ทำให้ดียิ่งขึ้น มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นและทำงานได้มากกว่าเดิม เป็นการช่วยกันพัฒนานวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ไทยให้ดียิ่งขึ้น โดยเริ่มพัฒนาต่อยอดในปี 2561 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้เครื่องปลูกมันสำปะหลังเวอร์ชั่นเดิมของนายโมเสสมีการออกแบบที่ง่าย ไม่มีหลักทางวิศวกรรม ทำงานโดยต่อพ่วงกับรถไถ โดยปลูกมันสำปะหลังได้อย่างเดียว อีกทั้งปักท่อนพันธุ์ไม่แม่นยำ
จึงมีการออกแบบกลไกใหม่ให้ถูกหลักทางวิศวกรรม ด้วยการออกแบบโครงสร้างให้แข็งแรง โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ออกแบบระบบกลไกต่าง ๆ ที่มีต่อผลการงอกของรากเช่น มีระบบตัดท่อนพันธุ์และระบบเสียบท่อนพันธุ์ ความเร็วรอบในการเสียบแบบปรับได้,นอกจากนี้ยังมีระบบใส่ปุ๋ยเม็ดแบบปรับอัตราใส่ได้ ,มีระบบฉีดน้ำยาควบคุมและป้องกันวัชพืช ที่สามารถปรับได้,ระบบนับท่อนพันธุ์เพื่อใช้คำนวณต้นทุนกำไรในการปลูกได้และสามารถปลูกได้ทั้งอ้อยและมันสำปะหลัง โดยปลูกอ้อยจะเป็นการฝังกลบ แต่มันสำปะหลังจะใช้เสียบ
“เครื่องเวอร์ชั่นใหม่สามารถปลูกมันสำปะหลังได้ 15-20 ไร่/วันและ/ 8 ชั่วโมง ใช้คนทำงานเพียง 3 คนสำหรับปลูกอ้อยและปลูกมันสำปะหลังใช้ 2 คน โดยใช้เครื่องปลูกฯต่อกับรถไถ มีราคาขายไม่เกิน 200,000 บาท ซึ่งในต่างประเทศไม่มีขาย ไม่มีเครื่องที่สามารถทำงานได้แบบนี้ และขณะนี้ได้ขึ้นอยู่ในบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทยแล้ว”
ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา ได้ผลิตขายแล้ว 10เครื่องในปีนี้และมีหลายบริษัทให้ความสนใจเข้ามา
สำหรับผลงานเครื่องจักรกลการเกษตรอีกชิ้นหนึ่งที่นำมาโชว์ในงานได้แก่ “ชุดไถหัวหมูสำหรับไถกลบตอซังข้าว หลังเก็บเกี่ยว ติดท้ายรถแทรกเตอร์ขนาดเล็ก” ผลงานของอาจารย์ อัดชา เหมันต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สาขาเครื่องจักรกลการเกษตร มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ เป็นชุดต่อกับรถไถสำหรับไถตอซังข้าวและข้าวโพด ฝังกลบโดยไม่ต้องเผา ช่วยส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม สามารถใช้ได้กับดินทุกชนิด ประสิทธิภาพในการทำงานฝังกลบสูงถึง 98% มีสนนราคาประมาณ 38,000 บาท
สำหรับผู้สนใจ “เครื่องปลูกมันสำปะหลังและอ้อยชุมชน” และ สามารถมาติดต่อสอบได้ภายในงานนี้ “งานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2562″ กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 6 กุมภาพันธ์ 2562 ณ Event Hall 102 – 104 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร