กนอ.ออก4มาตรการคุมเข้มทุกนิคมฯ
ป้องกัน-แก้ปัญหาฝุ่นละอองPM2.5
กนอ.ออก 4 มาตรการลดการปล่อยฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 คุมเข้มโรงงานทุกนิคมอุตสาหกรรม ทั้งมาตรการด้านการจัดการในกระบวนการผลิต ด้านก่อสร้าง ด้านการขนส่งและยานพาหนะ และด้านการกำจัดขยะ มั่นใจผู้ประกอบการทั่วประเทศให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาเป็นอย่างดี
ดร.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันพื้นที่บริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเผชิญปัญหาปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอนหรือ PM 2.5 ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพ และความเป็นอยู่ของประชาชน โดย กนอ.ในฐานะหน่วยงานสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ที่กำกับดูแลและรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมได้มีมาตรการเพื่อลดผลกระทบและปัญหาฝุ่นละอองดังกล่าว
โดยกำหนด 4 มาตรการเพื่อเป็นแนวทางให้โรงงานอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมนำไปปฏิบัติ ประกอบด้วย
1.มาตรการด้านการจัดการในกระบวนการผลิต
-ติดตามตรวจสอบระบบบำบัดมลพิษทางอากาศให้มีประสิทธิภาพเป็นระยะๆ
-ตรวจสอบประสิทธิภาพระบบดูดฝุ่นภายในอาคารโรงงานอย่างสม่ำเสมอ
-ปรับปรุงระบบการเผาไหม้ของหม้อน้ำ (Boiler) โดยแนะนำให้ทำตามหลักการปรับแต่งการเผาไหม้เชื้อเพลิง
แข็งของกรมโรงงานอุตสาหกรรม
2.มาตรการด้านก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรมที่มีการก่อสร้างสถานประกอบการจะต้องดำเนินการดังนี้
-ฉีดพรมน้ำในพื้นที่ก่อสร้างหรือมีกิจกรรมอันเนื่องมาจากการก่อสร้างโครงการที่มีการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง อาทิ ถนน พื้นที่ที่มีกิจกรรมการปรับถม เป็นต้น
-ใช้ผ้าใบหรือพลาสติกปิดคลุมกองดิน หรือ กองเศษวัสดุต่างๆ เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของเศษดินในช่วงที่เกิดลมแรง
-การเปิดพื้นที่ก่อสร้างต้องดำเนินการเปิดพื้นที่ให้น้อยที่สุด และต้องดำเนินการบดอัดดินให้เรียบร้อยก่อนเปิดพื้นที่ส่วนอื่นๆ เพื่อลดการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง
-จัดเตรียมบ่อล้างล้อรถ เพื่อลดการกระจายฝุ่นที่ติดล้อรถออกไปสู่ชุมชน
-ตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องจักรที่ใช้ในการก่อสร้างเพื่อลดควันเสียและฝุ่นละอองที่ระบายมา
3.มาตรการด้านการขนส่งและยานพาหนะ
-ตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องยนต์ต่างๆ เพื่อลดควันเสียและฝุ่นละอองที่ระบายออกมา
-จำกัดความเร็วของยานพาหนะและไม่สนับสนุนการจอดรถติดเครื่องยนต์ในบริเวณพื้นที่นิคมฯอุตสาหกรรมและโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อลดการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองและควันเสียจากรถยนต์
-ทำความสะอาดล้อรถบรรทุกที่ออกจากพื้นที่ก่อสร้างหรือพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการก่อสร้างเพื่อป้องกันเศษดินและทราย และการกระจายของฝุ่นละออง
-รถบรรทุกวัสดุก่อสร้างต้องมีสิ่งปกปิดและ/หรือสิ่งผูกมัดในส่วนบรรทุกเพื่อป้องกันการตกหล่นของวัสดุที่บรรทุกอยู่และลดปริมาณฝุ่นที่อาจฟุ้งกระจาย
-สนับสนุนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงไบโอดีเซล
4.มาตรการด้านการกำจัดขยะ
-ห้ามเผาทำลายขยะในบริเวณโล่งแจ้ง
อย่างไรก็ตามโรงงานอุตสาหกรรมที่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA จะต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบ สิ่งแวดล้อมด้านคุณภาพอากาศอย่างเคร่งครัด
“การกำหนด 4 มาตรการดังกล่าวเป็นไปตามแนวทางการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และ อาชีวอนามัยในโรงงานอุตสาหกรรมของ กนอ. และเป็นไปตามนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งได้มอบหมาย ให้หน่วยงานที่กำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรมและนิคมอุตสาหกรรมกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กจากภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้เป็นแนวทางและให้ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดย กนอ.มั่นใจว่าจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งพร้อมให้ความร่วมมือและช่วยกันลดปัญหาฝุ่นละอองอย่างเต็มที่” ดร.สมจิณณ์ กล่าว