ดีป้าผนึกม.เกษตรฯเดินหน้าหนุนEEC
เปิดสถาบันพัฒนาศักยภาพด้านดิจิทัล
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) หรือ ดีป้า ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา เปิดสถาบันพัฒนาศักยภาพด้านดิจิทัลเพื่อ EEC หรือ Digital Academy Thailand อย่างเป็นทางการ เพื่อสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้าน AI และ Data Sciences เข้าสู่อุตสาหกรรมดิจิทัล และเกิดการพัฒนาแรงงานขั้นสูงด้านดิจิทัลในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โดยอาศัยโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรม AI พร้อมกันนี้จับมือ หัวเว่ย เปิดตัวโครงการทดสอบ 5G Testbed ที่อำเภอศรีราชา เป็นที่แรกในภูมิภาคคาดว่าเทคโนโลยีนี้จะเป็นแกนหลักสำคัญในการเชื่อมต่ออุปกรณ์นับพันล้านชิ้นเข้าด้วยกัน ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้loT, AI, เครือข่ายคลาวด์ และนวัตกรรมอื่นๆ ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ อันจะช่วยขับเคลื่อนความมุ่งหวังของรัฐบาลไทยให้ก้าวสู่ยุคดิจิทัลได้เร็วขึ้น และกลายเป็นดิจิทัลฮับของภูมิภาคในอนาคตได้อย่างแน่นอน
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ได้ร่วมมือกันเพื่อจัดตั้งสถาบันพัฒนาศักยภาพด้านดิจิทัลเพื่อ EEC หรือ Digital Academy Thailand (DAT) สร้างบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้าน AI และ Data Sciences เข้าสู่อุตสาหกรรมดิจิทัล อีกทั้ง พัฒนาความรู้ขั้นพื้นฐาน และความรู้ขั้นสูง เพื่อให้สามารถทำงานกับเครื่องมือประมวลผลที่มีประสิทธิภาพสูง และยังต้องมีการสร้างผู้เชี่ยวชาญที่สามารถดึงความสามารถของ AI และ Data Sciencesมาใช้ในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ในพื้นที่ EEC
ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ที่ให้การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ให้การสนับสนุนพื้นที่ และกำลังคน ในการผลักดันเพื่อให้เกิดสถาบันแห่งนี้ โดยคาดหวังว่าสถาบันแห่งนี้จะผลิตบุคลากรด้านดิจิทัล ที่มีคุณภาพ สามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ ให้เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และความมั่นคง ในพื้นที่EEC ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต
ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ในฐานะผู้ดำเนินโครงการสถาบันไอโอที และคณะทำงานเตรียมการและทดสอบเทคโนโลยี 5G กล่าวว่า สำหรับการจัดตั้งสถาบัน DAT ซึ่งเป็นโครงการเพื่อการพัฒนาแรงงานขั้นสูงด้านดิจิทัล สำหรับเขตพื้นที่ EEC โดยอาศัยโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรม AI ใน เพื่อสร้างความสามารถของอุตสาหกรรมที่เป็น new S-curve ในการใช้เทคโนโลยีด้าน AI และ Data Sciences อันจะสามารถต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมขั้นสูงอื่นๆ เช่น IoT, Robotics และเพื่อพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมดิจิทัล อันจะนำนำไปสู่การยกระดับแรงงานในพื้นที่ EEC โดยการฝึกอบรมระยะสั้นเพื่อปรับทักษะ (Reskill) ในหลักสูตรที่ตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมดิจิทัล
โดยโครงการนี้จัดอยู่ในหมวดอุตสาหกรรมดิจิทัล มีมูลค่าโครงการ 63,000,000 ล้านบาท (ดีป้าสนับสนุนผ่านมาตรการ Infra Fund 50,000,000 บาท) มีระยะเวลาในการดำเนินการ 3 ปี ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา
ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดี
นอกจากนี้ทางสำนักงานส่งเสิรมเศรษฐกิจดิจิทัล ยังได้ร่วมมือกับHuawei ผู้นำด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เตรียมความพร้อมองค์กรภาครัฐและเอกชนไทย สร้างโอกาสทางธุรกิจจากเทคโนโลยี 5G พร้อมเตรียมดึงหน่วยงานผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย ผู้เชี่ยวชาญและผู้ประกอบการจากภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ร่วมเปิดตัวการทดสอบการใช้งาน 5G อย่างเป็นทางการ ในวันนี้ซึ่งนับเป็นแห่งแรกในภูมิภาค โดยการทดสอบการใช้งาน (Testbed) มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นพันธมิตรด้วย เช่นCAT TOT กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม และ EEC
ทั้งนี้การพัฒนาในช่วงแรกอาจจะจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มก่อน เช่น การใช้เทคโนโลยี 5G ในการรักษาคนไข้ หรือconnected car ในอุตสาหกรรมยานยนต์ หลังจากนั้นจะค่อยๆ กระจายออกไป โดยคาดว่าเทคโนโลยีนี้จะเป็นแกนหลักสำคัญในการเชื่อมต่ออุปกรณ์นับพันล้านชิ้นเข้าด้วยกัน ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้loT, AI, เครือข่ายคลาวด์ และนวัตกรรมอื่นๆ ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ อันจะช่วยขับเคลื่อนความมุ่งหวังของรัฐบาลไทยให้ก้าวสู่ยุคดิจิทัลได้เร็วขึ้น และกลายเป็นดิจิทัลฮับของภูมิภาคในอนาคตได้อย่างแน่นอน