กนอ.ขายที่ดินนิคมฯQ1กว่า 700ไร่
อีอีซีแม่เหล็กดึงลงทุนกว่า5พันล้าน
“กนอ.” เผยผลประกอบการยอดขายที่ดินนิคมฯไตรมาสแรก ปีงบประมาณ 2562 (ตุลาคม-ธันวาคม 2561) กว่า 700 ไร่ เม็ดเงินลงทุนกว่า 5,000 ล้านบาท โชว์ศักยภาพพื้นที่อีอีซีดันยอดขายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ชี้นักลงทุนไทยและต่างประเทศ เชื่อมั่นรัฐบาลเดินหน้าโครงการอีอีซี มั่นใจยอดขายปีนี้ตามเป้าที่ 3,500 ไร่
ดร.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลได้เปิดการประมูลในโครงสร้างพื้นฐานหลักใน 5 โครงการได้เป็นตามเป้าหมาย ประกอบด้วย โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1โครงการท่าเรือแหลมฉบับระยะที่ 3 และโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศอู่ตะเภา ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศที่เริ่มเข้ามาลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม และพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยพบว่ายอดขายและเช่าที่ดินของนิคมอุตสาหกรรมในไตรมาสแรกปีงบประมาณ 2562 (ตุลาคม-ธันวาคม 2561) รวมทั้งสิ้น 700.74 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ขายและเช่าในพื้นที่อีอีซี รวม 664.06 ไร่ นอกพื้นที่อีอีซี 56.69 ไร่ รวมมูลค่าการลงทุน 5,561.86 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นมูลค่าการลงทุนในพื้นที่อีอีซี 2,839.95 ไร่ มูลค่าการลงทุนพื้นที่นอกอีอีซี 2,721 .91 ล้านบาท
“การเติบโตของยอดขายที่ดินกนอ.ที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการทำการตลาดทั้งในประเทศ และต่างประเทศโดยมีการเชิญชวนนักลงทุนพร้อมให้ข้อมูลและรายละเอียดในด้านมาตรการการส่งเสริมการลงทุน และสิทธิประโยชน์ทั้งทางด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี โดยเฉพาะใน 10อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลให้การส่งเสริมในการเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซี ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักลงทุน โดยเฉพาะการเดินสายโรดโชว์ไปยังประเทศต่างๆทั่วโลกโดยในปีนี้ กนอ.ได้ตั้งเป้ายอดขายที่ดินไว้ที่ 3,500 ไร่ มั่นใจว่าจะเป็นไปตามแผนที่วางไว้ จากการที่นักลงทุนมีการติดต่อและสอบถามข้อมูลมาอย่างต่อเนื่อง และคาดว่านักลงทุนมีแผนการเข้ามาลงทุนเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้” ดร.สมจิณณ์กล่าว
สำหรับพื้นที่การลงทุนที่นักลงทุนต่างให้ความสนใจเข้าไปลงทุนในช่วงที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเป็น นิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินการในพื้นที่ภาคตะวันออกซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่อีอีซี อาทิ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ชลบุรี นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเออีสเทริน์ ซีบอร์ด (ระยอง) นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ และเหล็กโลหะภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบัน กนอ.มีนิคมอุตสาหกรรม จำนวน 54 แห่ง ใน 16 จังหวัด กนอ. ดำเนินการเอง 13 แห่ง และ นิคมฯ ร่วมดำเนินงาน 41 แห่ง พื้นที่รวมทั้งสิ้น 165,400 ไร่ พื้นที่คงเหลือสำหรับขาย/ให้เช่า 20,352 ไร่
นอกจากนี้นับตั้งแต่ที่รัฐบาลได้ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุน โดยกำหนดเป้าหมายจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมบนพื้นที่อีอีซี (ระหว่างปี 2560-2564) เพื่อรองรับการลงทุนที่จะเกิดในอนาคต โดยปัจจุบันมีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในอีอีซีที่มีอยู่แล้ว จำนวน 137,723ไร่ ในพื้นที่ 35นิคมอุตสาหกรรม โดยมีพื้นที่ที่พร้อมรองรับการลงทุนใหม่ในอีอีซี รวม 10,840 ไร่ และคาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าด้านการลงทุน ประมาณ 1.31 ล้านล้านบาท