คปภ.เปิดกรมธรรม์ประกันภัยลำไย
ฉบับแรกโลกต้อนรับวาเลนไทน์
คปภ.ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) บริษัท ซมโปะ ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) แถลงเปิดตัวกรมธรรม์ประกันภัยพืชผลลำไยจากภัยแล้งโดยใช้ดัชนีฝนแล้ง (ตรวจวัดด้วยดาวเทียม) สำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) อย่างเป็นทางการในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง สำนักงาน คปภ.
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2562 ตนในฐานะนายทะเบียนได้เห็นชอบแบบกรมธรรม์ประกันภัยการประกันภัยพืชผลลำไยจากภัยแล้งโดยใช้ดัชนีฝนแล้ง (ตรวจวัดด้วยดาวเทียม) สำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) และเบี้ยประกันภัยแล้ว สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย เตรียมพร้อมเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้แก่เกษตรกรไทยในการทำประกันภัยพืชผลลำไย เพื่อรองรับความเสี่ยงภัยจากภาวะฝนแล้ง ทั้งนี้ มีบริษัท ซมโปะ ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมรับประกันภัย โดยกรมธรรม์ประกันภัยลำไยดังกล่าว มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2562 จนถึงวันที่ 29 มกราคม 2565 และมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการวันนี้
สำหรับรูปแบบการรับประกันภัยกรมธรรม์ประกันภัยการประกันภัยพืชผลลำไยจากภัยแล้งโดยใช้ดัชนีฝนแล้ง (ตรวจวัดด้วยดาวเทียม) สำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) เบื้องต้นบริษัทฯ จะเริ่มรับประกันภัยใน 24 อำเภอ ของจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 100,000 ไร่ (จากพื้นที่เพาะปลูกในจังหวัดเชียงใหม่ทั้งหมดประมาณ 300,000 ไร่) โดยเริ่มจำหน่ายกรมธรรม์ตั้งแต่เดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2562 เป็นระยะแรก เพื่อให้ความคุ้มครองภัยภาวะฝนแล้งที่อาจเกิดขึ้นกับเกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชลำไยในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน 2562 เนื่องจากพืชผลลำไยเป็นพืชผลยืนต้น และต้องการน้ำในช่วงของการออกดอกเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน
โดยเกษตรกรผู้เพาะปลูกลำไยที่กู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ที่มีวงเงินกู้ทุกๆ 10,000 บาท สามารถขอเอาประกันภัยได้ 1 หน่วย โดยมีเบี้ยประกันภัยจำนวน 299 บาท ต่อการให้ความคุ้มครอง 1 หน่วย ให้ความคุ้มครองสูงสุด 2,100 บาท แบ่งความคุ้มครองออกเป็น 2 ส่วน คือ กรณีการเกิดภาวะฝนแล้งต่อเนื่องเกินกว่าดัชนีฝนแล้ง ได้รับเงินชดเชย จำนวน 900 บาท และกรณีการเกิดภาวะฝนแล้งต่อเนื่องเกินกว่าค่าดัชนีฝนแล้งขั้นสูง ได้รับเงินชดเชย จำนวน 1,200 บาท ซึ่งเงินชดเชยเมื่อรวมกันแล้วจะไม่เกิน 2,100 บาท ทั้งนี้ หากพื้นที่เอาประกันภัยเกิดภาวะฝนแล้งต่อเนื่อง (มีจำนวนวันที่ฝนไม่ตกหรือฝนตกน้อยกว่า 1 มิลลิเมตรต่อวันติดต่อกัน) มากกว่าจำนวนวันที่กำหนดเป็นดัชนีฝนแล้งหรือดัชนีฝนแล้งขั้นสูง บริษัทจะจ่ายเงินชดเชยให้แก่เกษตรกรผ่านบัญชี ธกส.
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาสำนักงาน คปภ. ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากสามารถเข้าถึงและนำระบบประกันภัยมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงภัยโดยเฉพาะการประกันภัยพืชผลทางการเกษตร อาทิ การประกันภัยข้าวนาปี การประกันภัยข้าวโพด รวมไปถึงการประกันภัยลำไย จึงได้ให้การสนับสนุนศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในการจัดทำงานวิจัยเรื่อง “รูปแบบการประกันภัยพืชผลทางการเกษตรที่เหมาะสมในลำไยของประเทศไทย” และได้แต่งตั้งคณะทำงานจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยและอัตราเบี้ยประกันภัยการประกันภัยพืชผลลำไย ซึ่งมีผู้แทนจากสำนักงาน คปภ. รวมทั้งทีมวิจัยจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และผู้แทนจากสมาคมประกันวินาศภัยไทย สำนักงานอัตราเบี้ยประกันวินาศภัย (IPRB) เป็นคณะทำงานเพื่อศึกษาแบบความคุ้มครองและอัตราเบี้ยประกันภัยการประกันภัยที่เหมาะสมกับลำไย
นอกจากนี้ ในปี 2561 ยังได้บูรณาการความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมประกันภัยลงพื้นที่ศึกษาและสำรวจพื้นที่เพาะปลูกจริง พร้อมพูดคุยกับเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งได้ประชุมร่วมกับคณะผู้ทำวิจัยเพื่อรับฟังความคืบหน้าในการดำเนินการเกี่ยวกับงานวิจัยดังกล่าว โดยข้อมูลที่มีการนำเสนอ อาทิ การผลิต การตลาด และพิบัติภัยจากภัยธรรมชาติในลำไย ปัญหาและอุปสรรคในการทำงานเกี่ยวกับการแจ้งความเสียหายจากภัยธรรมชาติ เพื่อประเมินปัจจัยต่างๆ จนได้รูปแบบการรับประกันภัยการประกันภัยพืชผลลำไยจากภัยแล้งโดยใช้ดัชนีฝนแล้ง (ตรวจวัดด้วยดาวเทียม) สำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) แบบครบวงจรที่เหมาะสมและเป็นประเทศแรกของโลก ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยด้านการประกันภัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186 เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย