วช. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก
นวัตกรมผ้าทอ-ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นำสื่อมวลชนลงพื้นที่ดูงานการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านผ้าไทย และการท่องเที่ยวในจังหวัดบุรีรัมย์ ระหว่างวันที่ 30 – 31 มีนาคม 2562 ณ จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อสนองนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมของประเทศกลุ่มเศรษฐกิจสร้างสรรค์
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติกล่าวว่าโครงการ Innovation Hubs เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมของประเทศตามนโยบาย Thailand 4.0 กลุ่มเรื่องเศรษฐกิจสร้ำงสรรค์ (Creative Economy) เป็นความร่วมมือภายใต้บันทึกข้อตกลงระหว่างสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และเครือข่ายวิจัยอุดมศึกษา9 ภูมิภาค เพื่อร่วมมือในการดำเนินการเผยแพร่ผลงานในโครงการ Innovation Hubs
โดยตกลงที่จะให้ความร่วมมือกัน ดังนี้ 1. ร่วมกันสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชน และส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ เพื่อที่จะได้นำความรู้และเทคโนโลยีมาบูรณาการกับศักยภาพท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศตามนโยบาย Thailand 4.0 2. เพื่อเผยแพร่ผลงานและข้อมูลการเชื่อมโยงระหว่างเครือข่ายเพื่อไปสู่การค้นคว้าและสร้างแรงบันดาลใจ ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาและต่อยอดศักยภาพต้นทุนของชุมชนและ 3. นำองค์ความรู้ผลงานวิจัยและเทคโนโลยี เครือข่ายวิจัยอุดมศึกษา ไปใช้ประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่นและเผยแพร่ให้สาธารณะชนได้รับทราบ
โครงการดังกล่าว เป็นโครงการที่รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนงบประมาณแผ่นดินในปี 2560 เพื่อพัฒนาโครงสร้างการจัดการ และกำลังคน เพื่อให้เกิดการบูรณาการความรู้ หรือเทคโนโลยีที่เกิดจากผลงานวิจัยภายในมหาวิทยาลัยกับต้นทุนภูมิปัญญาหรือทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น ตลอดจนการพัฒนาจนเกิดเป็นนวัตกรรมที่ทำให้เกิดเป็นสินค้ำหรือบริการ ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจในพื้นที่ด้วยความคิดสร้างสรรค์ซึ่งในกลุ่มเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy)
รองศาสตราจารย์สมบัติ ประจญศานต์ แห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์และคณะ ได้ทำการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านผ้าไทย และการท่องเที่ยวในจังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีผลงานวิจัย/ผลิตภัณฑ์จากโครงการเครือข่ายมหาวิทยาลัยส่งเสริมงานสร้างสรรค์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน สนับสนุนผ้าทอไทยและระบบองค์รวมอันนับเป็นการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่มีขีดความสามารถสร้างรายได้ในระดับสูงให้แก่ชุมชนด้วยคุณค่าทางอัตลักษณ์ที่งดงาม รวมถึงการสร้างงาน สร้างอาชีพให้แก่ชุมชนทำให้มีกำลังใจในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าไหมทอมือให้คงอยู่เป็นมรดก แล้วยังเป็นจุดขายในด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดีเพื่อนำมาสู่การเพิ่มรายได้ให้กับประชากรในท้องถิ่น และเป็นเวทีของการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมรายได้ผ่านการท่องเที่ยว และขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนารูปแบบลายผ้าไหมให้มีความหลากหลาย เช่น การนำองค์ความรู้ทางคณิตศาสตร์เพื่อให้ลวดลายมีความสมมาตร การเพิ่มประสิทธิภาพในการคงทนของสีตามธรรมชาติ เป็นต้น ตลอดจนการพัฒนายกระดับสินค้า OTOP ของที่ระลึก และพัฒนาองค์ความรู้ในเส้นทางการท่องเที่ยวของจังหวัดบุรีรัมย์
ด้านผศ.ดร.อริศร์ เทียนประเสริฐ ประธานคณะกรรมการโครงการInnovation Hubs สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า สิ่งสำคัญสำหรับโครงการวิจัยในครั้งนี้ คือ การขาย การต่อยอดการออกแบบ การผลิตสินค้า การบริหารจัดการด้านการตลาด และนำสำนักบริการทางวิชาการของมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์เข้าไปร่วมกับวิสาหกิจชุมชนก็จะกลายเป็น บุรีรัมย์โมเดล ที่ครบตัวต่อของจิกชอว์ งานวิจัยก็จะสามารถเป็นโซเชี่ยลเอนเตอร์ไพรส์ ต่อไป งานวิจัยทุกภาคส่วนจะต้องนำมาวางอยู่ตรงกลาง แล้วทุกคนต้องวางมือเข้าไปร่วมตรงกลางด้วยกัน
รองศาสตราจารย์มาลินี จุโฑปะมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ กล่าวว่า เราจะปักธงเขียวภายใน 20 ปี โดยวางยุทธศาสตร์ให้เข้ากับแผนของรัฐบาล ตอนนี้เราต้องทำเป็นรูปธรรม เรารู้ความต้องการ รู้ปัญหาและข้อมูล big data เรามีเยอะ จาก1คณะ1อำเภอ หลังจากนั้นค่อยขยายไปทั้ง 23อำเภอในจังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อก่อนเราจับแล้วปล่อยไม่ได้ต่อยอด ทุกอย่างมันก็เหมือนหายไป แต่นี่จับไม่ปล่อยจับแน่นเลย คำว่าแน่นคือชุมชนเขาก็แน่นกับเราด้วย เพราะแต่ก่อนจับก็คือเอาไปให้ เอาไปให้ไม่ยั่งยืนเท่ากับเขาร่วมมือกับเรา ถ้าเขาเปลี่ยนวิธีคิดได้ ไม่ใช่จะมารองบประมาณ
การนำองค์ความรู้ นำนวัตกรรมเข้าไปให้ เขามองเห็นว่ารายได้เขาเพิ่มขึ้นเพราะตัวเขา ถ้าตัวเขาไม่เริ่ม รายได้ก็ไม่เพิ่ม เพราะฉะนั้นตอนนี้เรามียุทธศาสตร์ของในหลวง รัชกาลที่10 กับยุทธศาสตร์ที่พัฒนาราชภัฏ ก็คือเรื่องของการเพิ่มรายได้ให้สอดคล้องกับแผนชาติ การพัฒนา OTOP ให้มีมูลค่า คุณภาพเพิ่มขึ้น ความรักความสามัคคี รัฐบาลต้องการมาก แต่ความรักความสามัคคีก็เกิดจากพวกเราเข้าไปผลักดันให้รู้ว่าทุกคนต้องร่วมไม้ร่วมมือ ทุกคนต้องสามัคคีมันจึงเกิดเป็นกลุ่มไม่ใช่สหกรณ์ เป็นกลุ่มทอผ้าที่เราไป กลุ่มนี้เราไปทำทั้งหมด 120 กลุ่ม กลุ่มนี้ 4 คน กลุ่มนี้ 10 มันจะขยาย
และเรื่องที่สำคัญอีกเรื่องคือ ผลิตครูและพัฒนาบุคลากร ของเราจะเด่นเรื่องครูด้วย เพราะเราเป็นวิทยาลัยครูเดิม เราจะต้องทำให้ครูเรานั้นเป็นเลิศ แล้วเด็กครูเราเรียนเก่งเท่านั้นจึงจะมาเป็นครู เราจะทำให้เหมือนวิชาชีพชั้นสูงเช่นแพทย์ ถ้าเรียนไม่เก่งเรียนครูราชภัฏบุรีรัมย์ไม่ได้ ถ้าอธิการทำแบบนี้จะไม่มีเด็ก แต่ที่นี่ไม่เคยไม่มีเด็ก และปีนี้ไม่น่าจะลด เรารับ 3,000 ทุกปี เรากันไว้ไม่ต้องไปกรุงเทพฯ เพราะหลักสูตรมาตรฐาน TQF เหมือนกัน อันนี้คือการทำงานของบุรีรัมย์ อธิการก็โชคดี ทีมงานดี เข้าใจกันว่าเราจะทำอะไรกัน เราต้องเอามาพูดคุยกัน และน้องๆเขาตั้งใจ เราจะได้เขาต่อไป เพราะพวกพี่เกษียณไป เขาก็เป็นหลักให้มหาวิทยาลัยต่อไป
ผู้ใหญ่ประสิทธิ์ ผู้ใหญ่บ้านโคกเมือง หมู่เก้า ตำบลจรเข้มาก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์เล่าถึงอดีตวิถีชีวิตนายฮ้อย ผู้ควบคุมขบวนเกวียนเทียมโคเดินทางไปค้าขาย จากที่นี่เดินทางไปฉะเชิงเทรา เข้ากรุงเทพ ไปจนถึงหัวลำโพง ค้าขายสินค้าจนหมดแม้กระทั่งโคและเกวียน จากนั้นนำเงินขึ้นรถกลับบ้าน ในอดีตนั้นทางเกวียนลำบากยากเข็ญ จนเกิดหมู่บ้านโคคลาน ขึ้นมา เพราะลำบากจนโคเดินไม่ไหว ต้องคลานไป การร่วมมือกันในชุมชนสามารถทำให้ได้รับรางวัลจากหลายหน่วยงาน
สำหรับนักท่องเที่ยวผู้มาเยือนจะได้ลิ้มรสความอร่อยของอาหารจาก 4กลุ่มชาติพันธุ์ในชุมชน การจัดทำโฮมสเตย์ และโบราณสถานที่มีอยู่ในพื้นที่ ทั้งหมดนี้โดยนำภูมิปัญญาท้องถิ่นผสมผสานกับองค์ความรู้ของงานวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรม และการบริหารจัดการ ทำให้ชุมชนสามารถเปิดเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ที่ครบวงจรได้โดยมีฐานการเรียนรู้ตลอดเส้นทาง
โดยผลงานจากโครงการ Innovation Hubs เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมของประเทศตามนโยบาย Thailand 4.0 กลุ่มเรื่องเศรษฐกิจสร้ำงสรรค์ (Creative Economy)นี้จะถูกนำมาโชว์และจำหน่ายในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2562 (Thailand Research Expo 2019 ) ระหว่างวันที่ 7-10 เมษายน 2562 ณ ชั้น 22 และ23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ