มุมเกษตร..ส.สัตวแพทย์คุมฟาร์มสุกร
ขอนายกฯพิจารณา ASF วาระแห่งชาติ
นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย เผย เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร สมาคม–ชมรมผู้เลี้ยงสุกร และสมาคมสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มสุกรไทย ขอฝากให้คณะรัฐมนตรี พิจารณามาตรการเฝ้าระวังและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever : ASF) ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เสนอครม. เห็นชอบไปเมื่อวันที่ 12 มีนาคม ที่ผ่านมา เพื่อป้องกันไว้ก่อนโรครุกระบาดถึงไทย
ผศ.น.สพ.ดร.สุเจตน์ ชื่นชม นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย กล่าวว่า ขอให้ผู้มีอำนาจพิจารณาเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน เพื่อเป็นมาตรการและแผนรับมือกับโรค เนื่องจากพบว่า ปัจจุบันมีการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวในสุกรของประเทศจีน เวียดนาม และล่าสุดพบโรคในกัมพูชา ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จึงหวั่นเกรงโรคดังกล่าวว่าจะส่งผลกระทบก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่ออุตสาหกรรมสุกร ต่อเนื่องไปถึงภาคผู้ผลิตพืชไร่ เกษตรกรผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์ ผู้ประกอบการด้านเวชภัณฑ์สำหรับสัตว์ ฯลฯ ตลอดห่วงโซ่การผลิตสุกรที่มีมูลค่าสูงถึงกว่า 2 แสนล้านบาท
“ASF เป็นโรคทีเกิดเฉพาะในสุกรเท่านั้น ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันและไม่มียารักษาที่เฉพาะเจาะจง และชัดเจนว่าโรคนี้ไม่ติดต่อสู่คนหรือสัตว์ชนิดอื่น ผู้บริโภคสามารถทานเนื้อหมูได้ตามปกติ แต่ถ้าโรคนี้ฝ่าด่านป้องกันอันเข้มแข็งที่ทุกส่วนของไทยพยายามดำเนินการอยู่ได้ ย่อมส่งผลต่ออุตสาหกรรมสุกรและกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม ดังนั้นมาตรการที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอต่อครม.ของท่านนายกฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ภาครัฐควรพิจารณาเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร”ผศ.นสพ.ดร.สุเจตน์ กล่าว
สำหรับมาตรการเฝ้าระวังและควบคุมโรค ASF ดังกล่าว เป็นการจัดทำแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรค 3 ระยะ คือ ก่อนเผชิญเหตุการระบาด ขณะเผชิญเหตุการระบาด และหลังเผชิญเหตุการณ์ระบาด โดยกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินการ 3 ปี เป็นเงินจำนวน 1,822,542,900 บาท ประกอบด้วย การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค การทำลายและค่าชดใช้ในการทำลายสุกรและซากสุกร และงบกลางในปีงบประมาณ 2562
นอกจากนี้ องค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) และองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ประชุมร่วมกับผู้นำในกลุ่มประเทศ CLMV ทั้งกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และประเทศไทย เพื่อร่วมกันยกระดับแนวทางและมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรค ASF สำหรับประเทศไทยมีหน่วยงานภาครัฐนำโดยกรมปศุสัตว์ ภาคเอกชน และสมาคมที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม และร่วมกันบูรณาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างประเทศ เพื่อไม่ให้โรค ASF เข้ามาสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรของประเทศอย่างเด็ดขาด